×

ไฟป่า LA นับเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ผลาญเศรษฐกิจ 8.6 ล้านล้านบาท

16.01.2025
  • LOADING...
ไฟป่า LA

นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในพื้นที่ลอสแอนเจลิส แม้สร้างแรงกดดันเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตในอนาคต แต่มหันตภัยครั้งนี้นับเป็นภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 8.6 ล้านล้านบาท)

  

สำนักข่าว Reuters รายงานการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนัก โดยสรุปแม้ส่วนใหญ่มองว่าไฟไหม้ในลอสแอนเจลิสจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเติบโตและการจ้างงานอาจชะลอตัวลง เงินเฟ้ออาจสูงขึ้นเล็กน้อย และตลาดรถยนต์อาจเป็นจุดกดดันเงินเฟ้อในวงจำกัด

 

ทว่านักพยากรณ์อากาศประเมินว่า ไฟป่าในลอสแอนเจลิสมีแนวโน้มจะเป็นภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดจากทั้งขนาดของไฟและมูลค่าที่สูงของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่ไฟเผาทำลาย

 

Abiel Reinhart นักเศรษฐศาสตร์จาก J.P. Morgan ระบุว่า ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าความเสียหายจากเฮอริเคนแคทรีนา ซึ่งอยู่ที่ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ (7.8 ล้านล้านบาท) และส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อการเติบโตของ GDP การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นจะน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่เกือบ 30 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2023

 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ให้ความเห็นว่า ภัยธรรมชาติในอดีตทิ้งร่องรอยที่อาจบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับภูมิอากาศ และคาดการณ์ว่าการเติบโตในไตรมาสแรกจะชะลอตัวลง 0.2% โดยถือว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูประเทศไม่สามารถทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

 

อีกทั้งการเติบโตของการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมมีแนวโน้มลดลง 15,000-25,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นตัวเลขฉุดรั้งเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคมปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากการสั่งการให้ชาวแคลิฟอร์เนียประมาณ 0.5% ต้องอพยพ 

 

นักวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ Goldman Sachs ประเมินอีกว่า ไฟไหม้ครั้งนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องเงินประกันการว่างงานเพิ่มขึ้นในทันที

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ Morgan Stanley ประเมินว่าไฟไหม้ทำลายทรัพย์สินและตลาดแรงงานอาจสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้การเติบโตและการจ้างงานชะลอตัวลงเล็กน้อย แม้ว่าจะไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแนวโน้มได้ในทางพื้นฐานก็ตาม



โดยการสร้างงานจะลดลง 20,000-40,000 ตำแหน่ง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ชี้วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งไม่รวมต้นทุนอาหารและพลังงานน่าจะสูงขึ้น 4-9 จุดพื้นฐาน (Basis Point) จากผลกระทบเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้

 

“ดูเหมือนผลกระทบจะมีผลกับราคาสินค้ารถยนต์มือสองและรถใหม่ ราคารถยนต์มือสองและรถยนต์ใหม่จะพุ่งสูงขึ้นหลังจากเกิดไฟป่า ในขณะที่สินค้าหลักที่ไม่รวมรถยนต์ดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ”

 

J.P. Morgan เผยอีกว่า คาดว่าแรงกดดันค่าเช่าบ้านจะสูงขึ้นต่อ โดยเฉพาะอุปกรณ์ก่อสร้าง และแรงงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยในระดับท้องถิ่นจะทำให้ราคาการผลิตสูงขึ้นตาม แต่ส่งผลกระทบจำกัดเท่านั้น

 

“ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจากไฟป่าในแคลิฟอร์เนียที่ควบคุมได้ค่อนข้างดีนั้น เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังก้าวเข้าสู่ปี 2025 ด้วยฐานที่มั่นคงและระดับเงินเฟ้อที่ไม่แน่นอน”

 

อย่างไรก็ตาม ถือว่าภัยพิบัติครั้งนี้เพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องภาษีนำเข้าสินค้า และอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะถึงวันเข้าพิธีสาบานตนของว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งหาเสียงโดยใช้นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าและการเนรเทศผู้อพยพที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก

 

ด้าน AccuWeather คาดการณ์ว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากไฟป่าครั้งนี้อาจสูงถึง 2.5-2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งการฟื้นฟูทรัพย์สิน ความสูญเสียทางธุรกิจ และค่าใช้จ่ายระยะยาว

 

นอกจากนี้คาดการณ์ว่าไฟป่าครั้งนี้อาจแซงหน้าภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ในด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างเฮอริเคนเฮเลน ที่สร้างความเสียหายราว 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

 

“น่าเศร้าที่ชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจเปลี่ยนไปตลอดกาลในเวลาเพียงไม่กี่นาที หลายครอบครัวอาจไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างใหม่หรือซ่อมแซมและกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ธุรกิจอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ และงานต่างๆ อาจสูญหายไปอย่างถาวร” Jonathan Potter หัวหน้านักอุตุนิยมวิทยาของ AccuWeather กล่าว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising