การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องสำคัญ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นเหล้า ไวน์ หรือเบียร์ เป็นที่ทราบกันดีว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล เป็นของบริโภคที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องวัฒนธรรมของการกินดื่มรวมไปถึงการสังสรรค์และพบปะสมาคม อีกทั้งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย
ในขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คือการเป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ และการก่ออาชญากรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่สังคมต้องเผชิญกับความเสี่ยงและแบกรับภาระหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา
ความใส่ใจต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ดังจะเห็นได้จากการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลง Global Alcohol Action Plan 2022-2030 หรือแผนปฏิบัติการแอลกอฮอล์ระดับโลก 2022-2030 เพื่อที่จะเร่งรัดกลยุทธ์ต่างๆ และประสานความร่วมมือในวงกว้างเกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยเป้าหมายสำคัญของการจัดการหรือควบคุมคือ ‘การบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับอันตราย’ หรือที่องค์การอนามัยโลกเจาะจงใช้คำว่า ‘Harmful Use of Alcohol’
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หนึ่งในมาตรการล่าสุดที่มีการยกเลิกประกาศเก่าแล้วออกประกาศใหม่คือ มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ หรือที่มักรู้จักกันว่าเป็นประกาศห้ามขายเหล้าในวันพระสำคัญ ที่ฉบับปัจจุบันเพิ่งออกมาใหม่เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2567
มาตรการห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ
ประกาศฉบับล่าสุดที่เป็นมาตรการห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนาพุทธมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2567’ ประกาศฉบับนี้ยกเลิกประกาศฉบับก่อนหน้า ซึ่งก็คือประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 โดยประกาศล่าสุดระบุว่า ‘ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป’ ซึ่งเมื่อประกาศฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ย่อมหมายความว่าประกาศฉบับนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2567
เนื้อหาของมาตรการตามประกาศฉบับล่าสุดนี้กำหนดว่า ‘ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา, วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายในอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ’ ซึ่งจะเห็นได้ว่าห้ามขายเฉพาะวันสำคัญทางศาสนาพุทธ 5 วัน แต่มีข้อยกเว้นให้ขายได้ถ้าเป็นการขายในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ หรือพวก International Airport นั่นเอง สนามบินดังกล่าวก็เช่น สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับประกาศฉบับก่อนหน้าที่เพิ่งถูกยกเลิกไป ระบุว่า ‘ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา, วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ’
เมื่อเทียบกันแล้วจะพบว่า ประกาศฉบับใหม่แตกต่างจากฉบับเก่าในส่วนของข้อยกเว้นที่อนุญาตให้ขายได้กว้างกว่าเดิม กล่าวคือไม่จำกัดแค่การขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติเท่านั้นอีกต่อไป
เมื่อพิจารณาข้อห้ามตามประกาศดังกล่าวแม้เพียงแวบแรก ก็จะสังเกตได้ว่าข้อห้ามตามประกาศสะท้อนถึงการให้คุณค่ากับวันสำคัญทางศาสนาพุทธ โดยนำวันดังกล่าวมาผูกโยงกับการเป็นมาตรการของรัฐในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังสลัดความสำคัญของวันดังกล่าวทิ้งไป หากเป็นการขายในอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามาตรการข้อห้ามดังกล่าวถอยให้กับการซื้อขายภายในสถานที่สำหรับเตรียมสัญจรไปมาระหว่างประเทศ และ ณ สถานที่แห่งนั้น วันสำคัญทางศาสนาพุทธที่รัฐไทยชูขึ้นก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป ตกลงแล้วหลักคิดในประกาศที่ออกมานั้นคืออะไร
เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อพิจารณาข้อห้ามตามประกาศฉบับปี 2567 นี้ ผู้เขียนพบว่ามีปัญหาสำคัญ 3 ประการที่แสดงให้เห็นว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำหนดวันห้ามขายดังกล่าวนั้น เป็นมาตรการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริโภค หรือผลร้ายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างตรงจุด และเป็นมาตรการที่ไม่ยุติธรรมกับผู้คนในสังคมโดยรวม
ปัญหาสำคัญทั้ง 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับความเสมอภาค ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นกลางทางศาสนา และปัญหาเกี่ยวกับหลักความได้สัดส่วน
- ปัญหาเกี่ยวกับความเสมอภาค
ประกาศฉบับดังกล่าวขัดต่อหลักความเสมอภาค เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างการขายในสนามบินตามข้อยกเว้นกับการขายในสถานที่อื่น เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะผู้ขายหรือผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นผู้มีสิทธิพิเศษในการขายในวันดังกล่าว ในขณะที่ผู้ขายหรือผู้ประกอบที่อื่นทั่วประเทศ เช่น ตามท้องตลาดหรือร้านค้าทั่วไป ไม่มีสิทธิที่จะขาย ทั้งที่การห้ามการขายดังกล่าวไม่ทำให้เกิดหลักประกันว่าสามารถควบคุมอันตรายหรือความเสี่ยงจากการบริโภคได้อย่างแน่นอน อีกทั้งทำให้เกิดภาพที่ว่า การขายในที่อื่นถูกห้าม แต่การขายในสนามบินนานาชาติได้รับอภิสิทธิ์
เช่นเดียวกับอีกมุมหนึ่ง คือมุมของผู้บริโภค การซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสนามบินไม่ได้หมายความว่าการดื่มต้องเกิดขึ้นที่สนามบินเท่านั้น ผู้บริโภคอาจจะนำกลับไปดื่มที่อื่นก็ได้ นอกจากนั้นผู้บริโภคในสนามบินที่ได้รับอภิสิทธิ์ในการขายก็อาจดื่มแอลกอฮอล์ในสนามบินจนเข้าขั้นก่ออันตราย หรือสร้างความเสี่ยงกับผู้คนก็ได้เช่นกัน ท้ายสุดสะท้อนว่ามาตรการดังกล่าวสร้างความเหลื่อมล้ำแก่ผู้มีสิทธิจะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสถานที่ขายหรือจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธถูกสงวนไว้เฉพาะสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเท่านั้น
ทั้งหมดที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของมาตรการที่สร้างสิทธิพิเศษเฉพาะการขายในสถานที่ที่คนจำนวนหนึ่งได้ประโยชน์ และประโยชน์ที่ได้รับจากข้อยกเว้นตามประกาศนั้นก็ไม่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ไข หรือยับยั้งปัญหาเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเท่าเทียมเป็นที่ประจักษ์
- ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นกลางทางศาสนา
ประกาศฉบับดังกล่าวไม่เป็นกลางทางศาสนา เนื่องจากนำความเชื่อเรื่องวันสำคัญทางศาสนาพุทธมาเป็นนโยบายสาธารณะที่จำกัดเสรีภาพของผู้คน แสดงให้เห็นว่าเหตุผลในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาศัยความเชื่อทางศาสนาพุทธเป็นสำคัญ ในขณะที่สังคมประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายของความเชื่อทางศาสนา รวมถึงผู้ที่ไม่มีความเชื่อในศาสนาใดด้วย ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญในสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมอันประกอบด้วยผู้คนที่มีความแตกต่าง จริงอยู่ที่ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมากนับถือศาสนาพุทธ แต่การใช้ความเชื่อทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องพื้นที่ส่วนตัวหรือเสรีภาพในความเชื่อส่วนบุคคลแปรสภาพมาเป็นนโยบายสาธารณะ ย่อมเกิดคำถามตามมา
รัฐควรมีความเป็นกลางทางศาสนา เพื่อโอบอุ้มความเชื่อทั้งหลายในสังคม และเพื่อไม่สร้างข้อคัดง้างจากผู้คนว่ารัฐอิงหลักธรรมหรือเรื่องราวในศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นนโยบายสาธารณะ เนื่องจากรัฐเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่สถาบันทางศาสนาหรือศูนย์รวมเฉพาะศาสนิกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากคิดไปไกลๆ อาจจะมีคำถามลามตามมาได้ว่า เช่นนี้แล้วประเทศจะนำหลักความเชื่อในศาสนาพุทธอีกกี่เรื่องมาบรรจุเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย และเหตุใดคนนับถือศาสนาอื่นหรือไม่นับถือศาสนาพุทธจะต้องถูกห้ามโดยประกาศที่อยู่ใต้ร่มเงาหลักธรรมหรือความเชื่อของชาวพุทธ ทั้งที่รัฐในปัจจุบันกับศาสนาควรแยกบทบาทกันมิใช่หรือ ที่สำคัญพบว่าเรื่องความเป็นกลางทางศาสนาซึ่งองค์กรของรัฐต้องตระหนักนั้น ศาลปกครองก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองยะลาที่ 17/2565)
- ปัญหาเกี่ยวกับหลักความได้สัดส่วน
ประกาศฉบับดังกล่าวขัดต่อหลักความได้สัดส่วน เนื่องจากมาตรการทั้งหลายที่รัฐสร้างขึ้นโดยมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้คนต้องเป็นมาตรการที่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสำคัญประการหนึ่งในเวลาที่จะต้องพิจารณาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจรัฐ
ภายใต้หลักความได้สัดส่วน การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐต้องเป็นไปโดยเหมาะสมในแง่ของการบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่อนุมานไว้ก่อน ซึ่งหมายความว่าการบรรลุเป้าหมายนั้นควรตั้งอยู่บนความจริงมากกว่าการตั้งอยู่บนความเชื่อที่ปราศจากความเชื่อมโยงอย่างสมเหตุสมผล
เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาข้อห้ามของการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะบางสถานที่กับเป้าหมายในการควบคุมปัญหาหรืออันตรายที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะพบว่าไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน หรือหาความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการกับเป้าหมายอย่างประจักษ์หรือเป็นภววิสัยไม่ได้ เพราะผู้คนอาจเลือกที่จะกักตุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันสำคัญทางศาสนาพุทธดังกล่าว และการห้ามขายในวันดังกล่าวก็ไม่ใช่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันนั้น ผู้คนก็ยังอาจดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อยู่ดี
การประกาศห้ามโดยอาศัยวันดังกล่าวจึงสร้างภาพลักษณ์แบบผิวเผินเพียงแค่เป็นประกาศที่ชูความสำคัญของวันในทางศาสนาพุทธ แต่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นการจำกัดเสรีภาพที่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยยกเว้นแค่บางสถานที่) จึงแบกเรื่องทางศาสนาพุทธเป็นสำคัญ มากเสียกว่าความสมเหตุสมผลระหว่างมาตรการกับผลลัพธ์
ข้อเสนอแนะ
ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องสำคัญ ดังจะเห็นได้จากท่าทีขององค์การอนามัยโลก แต่รัฐไทยเองก็ต้องตระหนักว่าการจัดการต่อปัญหาเรื่อง ‘Harmful Use of Alcohol’ รวมถึงความเสี่ยงหรือผลร้ายใดๆ จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ต้องมีฐานคิดที่พิจารณาแง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้าน
โดยส่วนตัวเห็นว่าประกาศฉบับนี้ควรต้องพิจารณายกเลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายควรมุ่งใช้มาตรการที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือความเสี่ยงเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างตรงจุดและยุติธรรม การยกเลิกประกาศเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธไม่ได้สร้างผลกระทบต่อแก่นความเชื่อทางศาสนาพุทธ และการคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาหรืออภิปรายแยกต่างหากออกไป แต่เฉพาะประเด็นที่พิจารณาอยู่ตรงนี้เป็นเรื่องมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต้องพิจารณาเลือกหนทางที่ควรเป็นไปโดยเสมอภาค เป็นกลางทางศาสนา และได้สัดส่วน
อีกวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากประกาศฉบับนี้ คือการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนประกาศดังกล่าว
ข้อแนะนำคือ กรณีประชาชนทั่วไปที่ประสงค์ฟ้องศาลปกครอง ก็จะต้องให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ในฐานะผู้มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องเป็นผู้ฟ้องคดี เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 20 ปีเป็นต้นไปเป็นผู้มีสิทธิซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
ทั้งนี้ โดยดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครองด้วย และเนื่องจากประกาศฉบับนี้เพิ่งออกมาใหม่ และออกมายกเลิกประกาศเก่า เพราะฉะนั้นยังพอมีเวลาที่จะเตรียมตัวฟ้องคดีต่อศาลปกครอง