วันนี้ (10 มกราคม) อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ช่วย หาเสียง นายก อบจ. พรรคเพื่อไทย ปราศรัยการหยิบยกนโยบายรัฐบาลหาเสียงบนเวทีว่า อยากให้แยกเรื่องการพูดถึงนโยบายระดับชาติกับการหาเสียงระดับท้องถิ่น บางครั้งพูดโยงกันได้ในความเห็นส่วนตัว เพราะบริบทการเมืองมันไปกันได้ แต่จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงที่ผิดกฎหมายต้องเป็นการสัญญาว่าจะให้และการหลอกลวง
นอกจากนี้การพูดเรื่องที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ของ อบจ. นั้นๆ ก็ถือเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน จึงจะต้องพิจารณาบริบทแต่ละอันเป็นรายกรณี
เมื่อถามว่าจะต้องหาเสียงในบริบทที่ อบจ. นั้นทำได้ใช่หรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า การจะหาเสียงคือการพูดในสิ่งที่ตัวเองจะไปปฏิบัติหากได้รับเลือก เพราะมีหน้าที่หนึ่งหน้าที่ชัดเจน การหาเสียงต้องมุ่งเน้นไปที่หน้าที่เหล่านั้น แต่ถ้าจะพูดเลยไปบ้างก็ไม่น่าจะเสียหาย
เมื่อถามว่า การหาเสียงขณะนี้เป็นการพูดถึงนโยบายรัฐบาลที่ทำไปแล้วหรือกำลังจะทำ เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต และการลดค่าไฟ อิทธิพรกล่าวว่า ถ้าเขาไม่พูดแบบหาเสียงมันก็ไม่ใช่การหาเสียง มันเป็นการช่วยผู้สมัครหาเสียงในนโยบาย ที่ผู้สมัครประสงค์จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับตำแหน่ง ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นการหาเสียงแล้วไปพูดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายที่จะทำเป็นการเสียคะแนนมากกว่า
ส่วนการพูดถึงภาพใหญ่นโยบายรัฐบาลที่ทักษิณไปปราศรัยสามารถทำได้หรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า การพูดถึงนโยบายกับการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันได้ แต่จะถึงขั้นผิดหรือไม่คงจะตอบตอนนี้ตรงนี้ไม่ได้ เพราะอาจทำให้เกิดความสับสน หากใครมีข้อสงสัยกับการหาเสียงสามารถสอบถามมายัง กกต. ได้ แต่เชื่อว่าผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงตระหนักดีว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน และมีคำวินิจฉัยที่เคยพูดถึงการหาเสียงไว้แล้ว
อิทธิพลย้ำด้วยว่า การหาเสียงอาจไม่ตรงประเด็น 100% แต่ถ้ามันเชื่อมโยงกันได้ก็อย่าเพิ่งไปรีบตัดสินว่าถูกหรือผิด ถ้ามีพยานหลักฐานก็ต้องดูเป็นรายกรณีไป
ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นได้นำนโยบายของรัฐบาลไปหาเสียง เช่น การลดค่าไฟเกี่ยวกับท้องถิ่นอย่างไร ประธาน กกต. กล่าวว่า ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงสาธารณูปโภค ซึ่งค่าไฟก็ถือเป็นสาธารณูปโภค แต่อย่างที่บอกว่ายังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะเราทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการ การกระทำที่เข้าข่ายเป็นการหาเสียงหลอกลวงยังไม่สามารถตอบได้ ต้องเอาข้อเท็จจริงที่พูดกันแต่ละอันมาดู
เมื่อถามว่า กำลังจะเข้าสู่ช่วงเข้มข้นของการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. จะต้องมีการเตือนให้หาเสียงอยู่ในขอบเขตหรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า เคยพูดไปแล้วว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้จะมีเส้นของมันอยู่เสมอ ต้องดูข้อเท็จจริงมาประกอบ และถ้าเป็นไปได้การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นควรจะเป็นไปตามนโยบายของผู้สมัคร หากเกินขอบเขตไปแล้วมีผู้มาร้องเรียนก็ต้องนำเรื่องทั้งหมดมาดู คงไม่ต้องถึงขนาดออกหนังสือเตือน เพราะผู้สมัครทราบกันดีอยู่แล้ว จะถือว่าตัวเองไม่ทราบคงไม่ได้ เพราะว่าตัวเองมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย พรรคการเมืองก็ต้องดูแลสมาชิกให้เป็นไปตามกฎหมายเช่นกัน
ถ้าทุกคนตระหนักในหน้าที่ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร แต่หากเกิดประเด็นก้ำกึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมา และเข้าสู่การพิจารณาของ กกต. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการช่วยหาเสียงของทักษิณเข้ามาที่ กกต.
เมื่อถามถึงการเลือกตั้ง อบจ. ว่ามีจังหวัดใดบ้างที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อิทธิพรกล่าวว่า ผู้อำนวยการ กกต. ทุกจังหวัดดูแลอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว และตระหนักในสถานการณ์ของตัวเองดีอยู่แล้ว อาจมีบางจังหวัดที่ต้องเพิ่มกำลังเป็นพิเศษเพื่อให้การแข่งขันเป็นไปตามกฎกติกา เช่น ปราจีนบุรี ทีมสืบสวนและไต่สวนของ กกต. จะลงพื้นที่ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าการแข่งขันจะเป็นไปตามกติกา ส่วนจังหวัดอื่นจะพูดคุยกับผู้บังคับการตำรวจภูธร โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันก่อนวันเลือกตั้งจะขอให้ช่วยผนึกกำลังเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ภาพ: พงษ์มนัส ทาศิริ