วันนี้ (10 มกราคม) ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ มูลนิธิกระจกเงาร่วมกับสถาบันนิติเวชวิทยาแถลงข่าวสถานการณ์เด็กหาย และดีเอ็นเอโปรคิดส์ การใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการตามหาเด็กหาย
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เผยสถิติรับแจ้งเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 314 คน ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง 6% สาเหตุหลักกว่า 72% หรือ 227 คน คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน
โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุเพียง 7 ขวบ รองลงมาคือกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 9% หรือ 29 คน และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 คน
ช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้านมากที่สุดคือช่วงอายุ 11-15 ปี รวม 171 คน รองลงมาคือช่วงอายุ 16-18 ปี รวม 103 ราย และช่วงแรกเกิดถึง 10 ขวบ รวม 40 คน
เอกลักษณ์กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2566-2567 มีเด็กและเยาวชนกว่า 11 คน ถูกชักชวน หลงเชื่อ และถูกหลอก ไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยอายุน้อยที่สุดที่ถูกหลอกไปทำงานมีอายุเพียง 14 ปี
ลักษณะของการล่อลวงชักชวนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะหลงเชื่อคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ ลักษณะประกาศรับสมัครงานแอดมินเว็บไซต์ รายได้ดี ภายหลังจึงพบว่าถูกหลอกไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบางรายติดต่อเพื่อให้ครอบครัวส่งเงินเพื่อไถ่ตัวกลับบ้านอีกด้วย
ด้าน พล.ต.ต. สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ว่า สถาบันนิติเวชวิทยาเป็นศูนย์ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก โดยการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในเด็กให้กลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้จริง ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ การเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป
โดยที่พ่อแม่แจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่าบุตรหาย ถ้าพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมา ก็จะตรวจสารพันธุกรรมของพ่อแม่ แล้วเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ สถาบันนิติเวชวิทยา
ต่อมาเมื่อมีการพบเด็กที่ไม่อาจระบุตัวบุคคลได้ ซึ่งสงสัยว่าถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป จะตรวจสารพันธุกรรมของเด็กและบันทึกข้อมูลสารพันธุกรรมลงไปตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ สถาบันนิติเวชวิทยา ซึ่งโปรแกรมตรวจสอบจะประมวลผลว่าตรงกับสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่เก็บไว้ในระบบหรือไม่ หากพบจะรายงานผลว่าเป็นสายสัมพันธ์ผู้ใด หากยังไม่พบก็จะยังเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูล เพื่อรอให้โปรแกรมตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อาจมีการแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง
พล.ต.ต. สุพิไชย กล่าวต่อว่า การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อการตามหาเด็กหายหรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จึงกลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กที่สูญหายออกจากบ้าน
อย่างไรก็ตาม สำหรับพ่อแม่ที่ลูกหายสามารถติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา ในการประสานงานกับพนักงานสอบสวน เพื่อทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมาตรวจดีเอ็นเอที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ สถาบันนิติเวชวิทยา
ด้านเอกลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีเด็กและเยาวชน 11 คนที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า ปัจจุบันทางมูลนิธิสามารถช่วยเหลือกลับมาได้ 9 คน มี 1 คนที่แสดงความประสงค์ทำงานต่อ ส่วนอีก 1 คนอยู่ระหว่างรับโทษในคดียาเสพติดที่ประเทศเพื่อนบ้าน