ข่าวการหายตัวไปของซิงซิง หรือหวังซิง นักแสดงจีนวัย 31 ปี ที่มีบันทึกการเดินทางสุดท้ายอยู่ที่ประเทศไทย ก่อนจะไปปรากฏตัวในอีกสภาพหนึ่งที่แหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย ฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ได้ทิ้งร่องรอยปริศนาไว้มากมาย
สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘ซิงซิง’
- ผู้เสียหายครั้งนี้คือ หวังซิง หรือที่รู้จักในชื่อ ซิงซิง ชาวจีน อายุ 31 ปี มีอาชีพเป็นนักแสดง ผลงานที่ผ่านมา เช่น นักจิตวิทยาหญิง (Psychologist) และ สื่อรักปีศาจจิ้งจอก (Fox Spirit Matchmaker)
- ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2567 ซิงซิงได้รับการติดต่อผ่านนายหน้าชาวจีนคนหนึ่งที่อ้างตัวว่าทำงานในค่ายบันเทิงชื่อดังของประเทศไทย โดยนายหน้ารายนี้ให้ซิงซิงส่งคลิปออดิชันเพื่อแคสติ้งบท ซิงซิงทำตาม และไม่นานก็ทราบผลว่าผ่านการคัดเลือกจนได้เดินทางมาไทย
- ซิงซิงถึงประเทศไทยในวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 03.00 น. เดินผ่านระบบไบโอเมทริกซ์เพื่อตรวจยืนยันตัวบุคคล สภาพของซิงซิงในวันดังกล่าวมีผมยาว
- หลังผ่านระบบตรวจสอบสนามบิน ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่ามีรถมารับซิงซิงไปที่จังหวัดตากทันที หรือซิงซิงว่าจ้างรถยนต์ไปจังหวัดตากด้วยเงินจำนวน 5,000 บาท แต่มีภาพวงจรปิดบันทึกรถยนต์คันดังกล่าวไว้ได้ โดยรถยนต์คันนี้มาส่งซิงซิงที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาโดยสารรถกระบะต่อเพื่อไปยังจุดข้ามชายแดน
- คำให้การของเจ้าของรถกระบะระบุว่า ตัวเขาถูกจ้างมาให้รับซิงซิงจากจุดนัดพบไปส่งที่ช่องทางลักลอบข้ามประเทศ (ช่องทางธรรมชาติ) โดยผู้ว่าจ้างโอนเงินมาจากต่างประเทศเป็นจำนวน 2,000 บาท ซิงซิง ณ ตอนนั้นทักทายอย่างปกติ ไม่มีท่าทีน่าสงสัยอะไร
- เมื่อซิงซิงข้ามชายแดนไปในคืนวันเดียวกับที่เดินทางมาถึงประเทศไทย เกิดอะไรขึ้นบ้างจนนำมาสู่การที่ครอบครัวซิงซิงที่ประเทศจีนแจ้งความคนหาย แฟนสาวของซิงซิงประกาศขอความช่วยเหลือทางโซเชียลมีเดีย และนำมาซึ่งการค้นหาของทางการไทยอย่างจริงจังในวันที่ 7 มกราคม 2568
- กระแสข่าวที่ 1 ‘ซิงซิง’ ข้ามชายแดนไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศเมียนมา
- กระแสข่าวที่ 2 ‘ซิงซิง’ ข้ามชายแดนไปรับงานโชว์ตัวของชนกลุ่มน้อย (ชาวกะเหรี่ยง)
- กระแสข่าวที่ 3 ‘ซิงซิง’ ข้ามชายแดนเพื่อไปเล่นพนัน
- กระแสข่าวที่ 4 ‘ซิงซิง’ ถูกหลอกให้มารับงานแสดงที่ประเทศไทย และจับตัวไปเรียกค่าไถ่
- ณ วันที่ 7 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 19.00 น. หลังจากที่ พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับตัวซิงซิงมาจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดน Border Guard Force (BGF) ที่ส่งตัวคืนเมื่อช่วง 14.00 น. ในวันเดียวกัน
พล.ต.อ. ธัชชัย เปิดเผยว่า “เคสนี้เป็นเรื่องระหว่างคนจีนหลอกคนจีน ซึ่งทางผู้เสียหายได้ไปพูดคุยผ่านแอปพลิเคชันสนทนาหนึ่ง กับบุคคลที่อ้างว่าเป็นนายหน้าเป็นชาวจีน หลอกลวงว่าจะให้มาทำงานแคสติ้งจึงเดินทางมาที่ประเทศไทย และไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษติดกับจังหวัดตาก อำเภอแม่สอด
“ซึ่งซิงซิงมีความสมัครใจเดินทางผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทางด่านต่างๆ ของประเทศไทย แต่เมื่อข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านพบว่าเป็นการหลอกให้มาทำงาน ซึ่งเป็นกระบวนการเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เมื่อทางการไทยได้รับการประสานจึงช่วยเหลือออกมา โดยยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ไทยประสานชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ให้การช่วยเหลือออกมาได้สำเร็จ”
แม้วันนี้ซิงซิงได้กลับมาสู่ครอบครัวแล้ว แต่เพียง 5 วันที่การขาดการติดต่อมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไปมาก เช่น ถูกโกนหัวทั้งหมด สภาพอิดโรย ตามขามีร่องรอย และไหนจะกระแสข่าวสาเหตุการเดินทางไปมีมากมายและไม่เป็นไปในทางเดียวกัน
นำมาซึ่งข้อสงสัยว่าเรื่องนี้มีเบื้องหลังอย่างไร
จีนหลอกจีนมีมานาน ไทยปิดตาข้างเดียว
ทีมข่าว THE STANDARD พูดคุยกับ ศ. ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ที่ศึกษาขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์
อาจารย์ปิ่นแก้วอธิบายว่า การที่คนจีนหลอกคนจีนด้วยกันมีมานานแล้ว ฐานที่ตั้งคอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่ว่าที่ประเทศจีนไม่มี แต่กลับปรากฏทั้งเมืองฉงชิ่ง และมณฑลในยูนนาน อย่างสิบสองปันนาที่ถือเป็นแหล่งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจนี้ที่ผ่านมาเราอาจจะเข้าใจว่านายทุนเลือกใช้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นฐานที่ตั้ง แต่ในความเป็นจริงแม้แต่กลางเมืองเฉิงตูในประเทศของเขาเองก็มีขบวนการนี้แฝงตัวอยู่
เรื่องของซิงซิงที่ตกเป็นเหยื่อด้วยวิธีการหลอกให้มาทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากในช่วงหลังมานี้ แต่เป็นส่วนน้อยที่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วแบบนี้
“การที่ซิงซิงได้รับการปล่อยตัวรวดเร็วแน่นอนว่าเกิดจากการที่ตัวเขาเป็นข่าวกระจายไปทั่วโลก เป็นเหมือนสปอตไลต์ที่ฉายแสงค้นหาไปในธุรกิจนี้” อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าว
อาจารย์เล่าว่า จากที่ติดตามการรายงานข่าวเคสของซิงซิง ทางการไทยมีการประสานไปทางเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาที่ดูแลธุรกิจนี้อยู่ซึ่งก็คือกลุ่ม BGF และขอให้อย่าทำอะไรกับนักแสดงชายรายนี้เพราะจะทำให้ทั่วโลกจับตา และจะส่งผลเป็นวงกว้างต่อการทำธุรกิจต่อไป ซึ่งทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านก็ตกลงที่จะดูแลกรณีนี้ให้พิเศษ
เรื่องนี้สะท้อนข้อเท็จจริงว่าฝั่งไทยรู้ว่าใครเป็นผู้ดูแล ใครเป็นผู้ดำเนินการและมีอิทธิพลในการตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งส่วนตัวคิดว่าการที่บุคคลรายนี้เป็นสปอตไลต์และเป็นคนของประเทศจีน เจ้าของกิจการต่างๆ ก็เกรงว่าในอนาคตจะมีปฏิบัติการจากประเทศจีนมาจัดการกวาดล้าง ส่วนกรณีเหยื่อคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นข่าวพวกเขาก็ถูกส่งเข้าระบบตามปกติ
อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าวต่อว่า กลุ่มจีนที่ทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านไทยแยกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ 1. สแกมเมอร์ (ธุรกิจหลอกลวง เช่น เว็บพนัน, คอลเซ็นเตอร์, โรแมนซ์สแกม) 2. ค้ามนุษย์ (ธุรกิจตั้งต้นของสแกมเมอร์ เป็นแหล่งคัดแยกคนให้ไปทำงานสแกมเมอร์ต่างๆ)
เรื่องพวกนี้อาจารย์ยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลดำมืดที่เข้าไม่ถึง แต่คำถามคือ เหตุใดจึงไม่หาแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด
นานมาแล้วที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถูกใช้เป็นทางผ่านไปสู่ประเทศที่ 3 ที่ริมน้ำเมยมีท่าข้ามธรรมชาติมากถึง 50 ท่า ทุกท่ามีเจ้าของหมดซึ่งส่วนมากเป็นคนไทย การที่จะมีคนหรือของข้ามไปมาตัวเจ้าของท่าย่อมรู้เห็นเพราะต้องเก็บเงินค่าบริการ เพียงแต่เจ้าของท่าอาจจะบอกได้ว่าไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คนจีนที่ข้ามก็มีทั้งนักธุรกิจสีเทาและผู้เสียหาย
อาจารย์ปิ่นแก้วอธิบายต่อว่า 2 จุดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเรื่องขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมระหว่างประเทศ อย่าง ‘ชเวโก๊กโก่’ หรือที่เรียกกันว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษย่าไถ่, ชเวโก๊กโก่ และโครงการเคเคพาร์ก (KK Park) มีท่าข้ามเรือจากประเทศไทยมุ่งไปโดยตรง เนื่องจากทั้ง 2 จุดนี้ต้องรับสินค้าอุปโภค-บริโภคจากฝั่งไทย 100%
“เราไม่ได้บอกให้ต้องปิดท่าข้ามเรือ แต่เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมไม่ปล่อยให้มีการขนเหยื่อข้ามท่า ทุกคนรู้หมดว่าจะข้ามเรือได้ที่จุดไหน เจ้าหน้าที่เองก็รู้ว่าธุรกิจเป็นของใคร แต่ไม่เคยมีการเอาข้อมูลพวกนี้มาพูดและจัดการกันอย่างแท้จริง” อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าว
เพราะฉะนั้นต้องถามกลับไปที่รัฐบาลว่า มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ รู้ตัวนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือเปล่า หากยังตอบใน 2 ข้อนี้ไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดปัญหานี้กันต่อไป เพราะเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์
“เราอาจจะคิดว่าเราปิดตาข้างเดียว เราเป็นแค่ทางผ่าน เราไม่ใช่เมืองต้นปัญหา คิดว่าเราเป็นแค่เมืองที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ การจัดการมุ่งหมายเพื่อไม่ให้กระทบกับการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งชุดความคิดทั้งหมดนี้ถือว่าผิดเพี้ยนมาก” อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าว
พร้อมทิ้งท้ายว่า การที่รัฐบาลกังวลเรื่องซิงซิงมาก หนึ่ง เพราะเป็นข่าวใหญ่กลัวกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เป็นการสะท้อนว่าไม่ได้ตั้งใจจะแก้ไขให้จริงจัง อะไรก็ตามที่จะกระทบกับการท่องเที่ยวถึงจะลุกขึ้นมาจัดการ แล้วเมื่อใดที่จะแก้ปัญหาให้ตรงจุด
No More Bets กระจกสะท้อนอาชญากรรมสแกมเมอร์
เมื่อพิจารณาเรื่องราวของซิงซิงที่เกิดขึ้น มีเหตุการณ์หลายส่วนที่คล้ายกับเนื้อหาภาพยนตร์จีนเรื่อง ‘No More Bets’ ที่ฉายเมื่อปี 2566 กำกับโดย Shen Ao
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเอกซึ่งเป็นนักพัฒนาโปรแกรมที่มีความสามารถ ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศแต่กลายเป็นว่าถูกหลอกให้ต้องเขียนโปรแกรมให้เว็บพนันขององค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งทำธุรกิจผิดกฎหมายหลอกลวง (สแกมเมอร์)
ในภาพยนตร์ฉายภาพให้เราเห็นตั้งแต่ต้นทางของวงจรเริ่มต้นที่คนที่ถูกหลอกไปทำ คนที่ตั้งใจไปทำ และคนที่พยายามหลบหนี ทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นในอาคารที่ถูกแบ่งไว้เป็นชั้นๆ ชั้นที่รวมเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชั้นที่มีเฉพาะโปรแกรมเมอร์ และชั้นถ่ายทอดสดโต๊ะพนันทุกประเภท
ธุรกิจดำเนินไปโดยตั้งเป้าความสำเร็จไว้ที่มูลค่าเงินของเหยื่อที่ถูกหลอก ยิ่งหลอกได้มากจะยิ่งตอบแทนให้มดงานที่ทำงานในอาคารแห่งนี้ และหากใครคิดจะหนีจะไม่มีทางสำเร็จ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในเมืองต่างรู้เห็นเป็นใจและพร้อมสนับสนุน