เรื่องน่าตื่นเต้นในปีนี้ก็คือ ประเทศไทยกำลังจะจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติในสเกล ‘Biennale’ เป็นครั้งแรกถึง 3 งาน! ทั้ง 3 งานนี้จะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ต่างกันตรงที่วัตถุประสงค์ คอนเซปต์ ผู้จัด และผู้สนับสนุน
3 งาน 3 ผู้จัด 3 คอนเซปต์ มีอะไรบ้าง
ประเดิมงานแรกกันด้วย Bangkok Biennal ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้ จัดโดยกลุ่มไม่ประสงค์ออกนาม ซึ่งคาดว่าทำงานคลุกคลีในวงการศิลปะร่วมสมัยของบ้านเรา มีศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติกว่า 300 คน ร่วมจัดแสดงผลงานตามพาวิเลียนต่างๆ ซึ่งแยกกันเป็นเอกเทศ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ มีตั้งแต่แกลเลอรี แพลตฟอร์มออนไลน์ ไปจนถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่เคยมีใครจัดนิทรรศการมาก่อน
ทางผู้จัดชี้ว่า ต้องการนำเสนอวิธีการจัดแสดงงานศิลปะและโครงสร้างการแสดงออกใหม่ๆ เพื่อทลายขนบของการจัดงานเทศกาลศิลปะแบบเดิมที่ผูกขาดอำนาจโดยหน่วยงานหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งเท่านั้น เทศกาลนี้จึงไม่ได้ขึ้นตรงกับใคร ไม่มีภัณฑารักษ์หลัก มีแต่ภัณฑารักษ์ดูแลประจำพาวิลเลียน และเน้นจัดกิจกรรมแบบเปิดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ผู้ชมจะมีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนร่วมก็ได้ เราแอบชอบไอเดียงานเปิดที่ชวนทุกคนมาเต้นแอโรบิก ราวกับจะเสียดสีพิธีกรรมการตัดริบบิ้นและกล่าวเปิดงานตามสคริปต์เหมือนที่เคยเห็นกันบ่อยๆ น่าสนใจว่า Bangkok Biennale จะสะท้อนภาพของวงการศิลปะในปัจจุบันออกมาอย่างไรและแตกหน่อไปสู่อะไรได้อีกบ้าง หรือจะเป็นแค่งานรวมตัวของกลุ่มคนเดิมๆ เช่นเคย
นิทรรศการของ (คณะ) ราษฎร จัดแสดงที่พาวิลเลียน Cartel Artspace
Photo: www.facebook.com/Cartelartpace
ดูรายละเอียดของเทศกาลได้ที่: bangkokbiennial.com และ facebook.com/BangkokBiennial
อีกหนึ่งงานที่ชื่อคล้ายกันจนหลายคนสับสนก็คือ Bangkok Art Biennale 2018 หรือ BAB 2018 ซึ่งมาในสเกลที่ใหญ่กว่าและจัดนานกว่าตั้งแต่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 เราสามารถเดินชมงานศิลปะตามแลนด์มาร์กทั่วกรุงเทพฯ จากวัดพระแก้วสู่ห้างใหญ่ใจกลางเมือง ภายใต้ธีม สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต (Beyond Bliss) งานนี้อาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ มาเป็นหัวเรือใหญ่ของเทศกาล ร่วมด้วยทีมที่ปรึกษาซึ่งเป็นบุคลากรในวงการศิลปะ และยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงไม่แปลกที่จะมีศิลปินระดับโลกเข้าร่วมด้วย อาทิ มารินา อบราโมวิช แห่ง Marina Abramovìc Institute ศิลปินแถวหน้าของวงการ Performance Art, Yoshimoto Nara เจ้าของลายเส้นเด็กผู้หญิงตาโตหน้าบึ้งที่คนหลายหลงรัก และ Yayoi Kusama ผู้สะเทือนวงการศิลปะด้วยสีสันของ Polka Dots นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปินไทยและนานาชาติร่วม 70 คน
ดูรายละเอียดของเทศกาลได้ที่: bkkartbiennale.com และ www.facebook.com/bkkartbiennale
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็มี Thailand Biennale จัดวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2562 ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยจะจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่เป็นแห่งแรกในชื่อ Thailand Biennale, Krabi 2018 และจะย้ายไปจัดในจังหวัดอื่นทุกๆ 2 ปี ความท้าทายของงานนี้ก็คือ ศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการจะต้องสร้างสรรค์งานศิลปะแบบจัดวางเฉพาะพื้นที่หรือ Site-specific installation เท่านั้น นั่นหมายความว่างานศิลปะจะต้องสอดคล้องกลมกลืนไปกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ เช่น เกาะ ชายฝั่งทะเล และเทือกเขา ที่ผ่านมา โจซัว เจียง ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะจีนและภัณฑารักษ์หลักประจำเทศกาลได้พาศิลปินลงพื้นที่ไปศึกษาลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่เล่นกับสเปซและสภาพแวดล้อมจริง ภายใต้ธีม Edge of The Wonderland
แม้จะเป็นสัญญาณดีที่ได้เห็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ของการแสดงงานและชมงานศิลปะทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่การจัดงานเทศกาลศิลปะถึง 3 แห่งในเวลาใกล้กันจะนำไปสู่อะไรที่มากกว่านั้นได้บ้าง
ดูรายละเอียดของเทศกาลได้ที่: thailandbiennale.org
ย้อนมองความสำเร็จของ Setouchi Triennale
21 มิถุนายนที่ผ่านมา เราได้ฟังการบรรยายของ แฟรม คิตากาวะ (Fram Kitagawa) ผู้อำนวยการเทศกาล Echigo-Tsumari Art Triennale และ Setouchi Triennale ประเทศญี่ปุ่น และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Thailand Biennale คิตากาวะเล่าถึงเบื้องหลังของการจัดเทศกาลศิลปะในญี่ปุ่นที่ไปไกลกว่าการสนับสนุนศิลปิน
Setouchi Triennale เป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี บนเกาะ 12 แห่งในทะเลเซโตะ หนึ่งในเกาะที่ได้รับความนิยมสุดๆ ก็คือ นาโอชิมะ (Naoshima) จังหวัดคางาวะ (Kawaga) มีไฮไลต์สำคัญ เช่น ประติมากรรมฟักทองลายจุดของ Yayoi Kusama และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Chichu Art Museum ออกแบบโดย Tadao Ando สถาปนิกชั้นนำ
ก่อนจะมาเป็นเทศกาลที่โด่งดังไปทั่วโลก เกาะเล็กเกาะน้อยในทะเลเซโตะ (Seto Inland Sea) ภูมิภาคชิโกกุ (Shikoku) เผชิญกับปัญหาประชากรลดลงจากการอพยพย้ายถิ่น เหลือเพียงหลักร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ปฏิบัติการณ์ฟื้นฟูเกาะในทะเลเซโตะให้กลับมาชีวิตชีวาจึงเริ่มต้นขึ้นในปี 2010 โดยใช้ศิลปะเป็นใบเบิกทางสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเทศบาล ศิลปิน และผู้คนในท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี คิตากาวะเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีเสียงต่อต้านไม่ให้เกาะนาโอชิมะและเกาะโอชิมะ (Oshima) เข้าร่วม ชาวบ้านบนเกาะนาโอชิมะนั้นได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมาย ขณะที่เกาะโอชิมะเกิดโรคเรื้อนระบาด (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคเรื้อน) แต่คิตากาวะซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการยืนกรานว่าการฟื้นฟูเกาะในทะเลเซโตะจะสำเร็จก็ต่อเมื่อสองเกาะนี้เข้าร่วมด้วยเท่านั้น และผลลัพธ์ก็ปรากฏเด่นชัดในวันนี้
คิตากาวะเผยว่าผู้จัดงานนั้นต้องวางแผนโดยสะท้อนภาพอนาคตในทุกมุมมอง เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องใช้เวลานานเป็นสิบปี การเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วยจะเป็นหนทางแก้ไขในระยะยาว “สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องถามคนท้องถิ่นด้วยว่าพวกเขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อยากให้ทำสิ่งนี้หรือไม่”
เทศกาลศิลปะควรรับใช้อะไรในศตวรรษที่ 21
บ่อยครั้งที่เทศกาลศิลปะร่วมสมัยทำหน้าที่เป็นเวทีฉายภาพใหญ่ของปัญหาของสังคมโลก พาวิลเลียนของประเทศตูนิเซียชูประเด็นของผู้ลี้ภัยในงาน Venice Biennale 2017 ในโปรเจกต์ Absence of Paths ทีมงานได้ตั้งบูธ 3 แห่งในเมืองเวนิส ผู้เข้าชมจะได้รับพาสปอร์ต Freesa และต้องเดินทางไปยังจุดเช็กพอยต์ตามบูธเหล่านี้ให้ครบ โปรเจกต์นี้ต้องการสื่อถึงความใฝ่ฝันถึงโลกอันสงบสุข มนุษย์สามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งได้อย่างอิสระ เพื่อตอบโต้มาตรการ Travel Ban ของสหรัฐอเมริกาที่ห้ามคนจาก 6 ประเทศมุสลิมเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งเป็นการกีดกันแบ่งแยกทางเชื้อชาติและเลือกปฏิบัติ
อันที่จริงจุดประสงค์ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยย่อมแตกต่างกันตามเจตจำนงของผู้จัดและบริบทแวดล้อม บางเวทีอาจแฝงนัยยะซ่อนเร้นทางการเมือง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป อย่างน้อยที่สุด งานเหล่านี้ควรเปิดโอกาสให้ศิลปินอิสระได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม ขณะที่คนทั่วไปสามารถชมงานศิลปะได้ทุกที่ ไม่ใช่แค่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี
ยูโกะ ฮาเซกาวะ (Yuko Hasegawa) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์แห่ง Museum of Contemporary Art Tokyo (MOT) และอีกหนึ่งกรรมการที่ปรึกษา Thailand Biennale, Krabi 2018 ได้แชร์มุมมองจากประสบการณ์การทำงานในแวดวงนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติว่า เทศกาลศิลปะร่วมสมัยก้าวผ่านจากยุคของ 3Ms ที่ให้ความสำคัญกับ คน (Man) เงิน (Money) และวัตถุนิยม (Materialism) ในศตวรรษที่ 20 มาสู่ 3Cs ได้แก่ การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของคนและธรรมชาติ ความฉลาดของหมู่คณะ (Collective Intelligence) และจิตสำนึก (Consciousness) 3 ประเด็นนี้คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่กำหนดทิศทางและโฉมหน้าของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยในศตวรรษที่ 21
เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้จัดงานเทศกาลย่อมต้องคิดหาวิธีการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่โตมากับสื่อออนไลน์ หรือ Cloud Tribe และสร้างระบบนิเวศใหม่ที่ศิลปะร่วมสมัยสามารถเชื่อมโยงพวกเขากับคนรุ่นเก่า หรือ Forest Tribe ได้ด้วย นั่นคือทัศนะของฮาเซกาวะ
เธอมองว่า Biennale มีข้อดีในแง่การช่วยประชาสัมพันธ์พื้นที่ในย่านหรือเมืองให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เกิดการจัดการข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ที่มีประโยชน์ ส่งเสริมการตีความวัฒธรรมท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ และอาจนำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ที่คาดไม่ถึง ทั้งนี้ทุกฝ่ายก็ต้องไม่ลืมวางแผนไปถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจหลังเทศกาลจบลงด้วย
ในทัศนะของผู้เขียน ทุกวันนี้มีเทศกาล Biennale เกิดขึ้นแทบทั่วทุกมุมโลก แต่ใช่ว่าทุกงานจะประสบความสำเร็จ แม้แต่เส้นทางของงานระดับโลกอย่าง Venice Biennale ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบไปเสียทุกครั้ง อย่างกรณีของ Biennale de Montréal ในแคนาดา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประกาศกร้าวว่าจะเป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนต้องมาเยือน กลับยื่นล้มละลายตอนต้นปี 2018 เพราะติดหนี้ทีมงาน ซัพพลายเออร์ รวมทั้งศิลปินที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานครั้งก่อนในปี 2016 มูลค่าราว 2 แสนเหรียญ ส่งผลให้เทศกาลปีนี้ถูกยกเลิกกลางคันไปในที่สุด
ท้ายที่สุดแล้ว มันต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ โดยคนที่เชื่อมั่นในพลังของศิลปะ คนที่มีความสามารถบริหารจัดการให้อยู่รอดในเชิงธุรกิจ คนที่มีวิสัยทัศน์และพาวเวอร์มากพอจะสานต่อเชิงนโยบายในระยะยาว และคนที่พร้อมจะส่งต่อเครือข่ายและความรู้สู่เจเนอเรชันต่อไป
เพราะเราก็ไม่อยากเห็นงานศิลปะที่เคยบานสะพรั่ง คนรุมถ่ายเซลฟี กลายเป็นวัตถุถูกทิ้งร้างไม่มีใครเหลียวและกลืนหายไปกับกาลเวลาในที่สุด
3 เทศกาลนี้จะบรรลุเป้าหมายและเจตจำนงที่วางไว้ได้หรือไม่ คงต้องไปพิสูจน์กันในงาน
Cover Photo: facebook.com/BangkokBiennial
อ้างอิง: