×

กรมอนามัยแนะนำประชาชนฉลองปีใหม่ให้สนุกสนาน มีสุขอนามัยที่ดี ยึดหลักพิถีพิถันเลือกอาหาร

โดย THE STANDARD TEAM
30.12.2024
  • LOADING...
new-year-health-tips-food-safety

วันนี้ (30 ธันวาคม) นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นช่วงส่งความสุขให้กับบุคคลต่างๆ โดยจะมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเดินทาง งานเลี้ยงสังสรรค์ และการแลกเปลี่ยนของขวัญ ระหว่างเพื่อนสนิท, มิตรสหาย, ญาติพี่น้อง, เพื่อนร่วมงาน และนักเรียนในโรงเรียน

 

เพื่อความสนุกสนานได้อย่างเต็มที่ ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องความสะอาดปลอดภัยของอาหารที่จะบริโภคในการเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากในช่วงเทศกาลปีใหม่การจัดทำอาหารจะต้องทำในปริมาณมากในระยะเวลาสั้น หรืออาจจำเป็นจะต้องเตรียมอาหารล่วงหน้าก่อนงานเลี้ยง ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตรายหรือเกิดการบูดเสียง่าย จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคที่มาร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์เจ็บป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลได้

 

ทั้งนี้ โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่สำคัญ 3 ชนิด คือ เชื้อ Vibrio Parahaemolyticus หรือเชื้อโรคที่พบกับอาหารทะเล, เชื้อ Salmonella หรือเชื้อไทฟอยด์ และ Staphylococcus Aureus หรือเชื้อโรคจากแผลที่มีฝีหนอง อาจปนเปื้อนจากการสัมผัสมาสู่อาหาร ซึ่งอาการที่พบคือ ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาจอาเจียนร่วมด้วย

 

นพ.ธิติ กล่าวว่า ประชาชนต้องพิถีพิถันในการเลือกรับประทานอาหาร รวมถึงระมัดระวังในการปรุงประกอบอาหารสำหรับงานเลี้ยง และเลือกร้านอาหารสำหรับการจัดเลี้ยงที่สะอาดและได้มาตรฐาน โดยยึดหลักเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี ‘3 ล เปลี่ยน พ.ศ. อย่างสุขกาย’ ได้แก่

 

  1. เลือกสุก การปรุงอาหารที่จะนำมาเลี้ยงสังสรรค์นั้นต้องปรุงให้สุกหรืออุ่นอาหารด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์และอาหารทะเล ส่วนผู้ปรุงต้องมีสุขวิทยาที่ถูกต้อง เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร ใส่ภาชนะที่สะอาด ปลอดภัย และมีการปกปิดเสมอ ควรวางอาหารให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร

 

  1. เลี่ยงเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงอาหารเสี่ยง เช่น อาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ, หลู้, กุ้งแช่น้ำปลา, พล่า หรืออาหารที่ทำจากกะทิ นม ที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงโดยไม่ได้แช่เย็น เช่น น้ำสลัด, สังขยา, ขนมจีนน้ำยากะทิ หรืออาหารจำพวกข้าวผัด เช่น ข้าวผัดปู ที่มักจะทำไว้นาน

 

  1. เลี้ยงที่สะอาด หากจัดงานเลี้ยงในสถานที่ เช่น ร้านอาหาร, ห้องอาหาร, สวนอาหาร ควรเลือกสถานที่ที่สะอาด จัดเป็นสัดส่วน ไม่มีแมลงนำโรค ผู้ปรุงและผู้เสิร์ฟมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ถูกต้อง หรือสังเกตจากป้ายรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานราชการ เช่น ป้ายสัญลักษณ์ SAN หรือ SAN+

 

นพ.ธิติ กล่าวต่อว่า สำหรับการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารควรพิถีพิถันในการเลือกและล้างวัตถุดิบเหล่านั้นด้วย โดยเลือกซื้อวัตถุดิบที่สะอาด ดูและดมแล้วไม่มีลักษณะ กลิ่น และสี ผิดปกติ หรือเลือกซื้อในตลาดสดน่าซื้อ และก่อนปรุงต้องนำมาล้างด้วยน้ำให้สะอาด โดยเฉพาะผักและผลไม้ควรแช่ด้วยน้ำส้มสายชูหรือโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือน้ำยาล้างผัก เพื่อลดการปนเปื้อนจากสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์

 

หากเตรียมผักหรือปอกผลไม้เพื่อรับประทานนั้นควรสวมถุงมือทุกครั้ง ที่สำคัญควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ประมาณ 20-30 วินาที ก่อนหยิบจับหรือรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโนโรไวรัสและโรคต่างๆ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X