หุ้นไทยเปิดปี 2024 ด้วย ‘ความหวัง’ ดัชนี SET เปิดการซื้อขายที่ 1,415 จุด ก่อนจะทะยานขึ้นไปปิดที่ 1,433 จุด เพิ่มขึ้น 18 จุด ภายในวันเดียว แต่หลังจากนั้นดัชนี SET ก็ค่อยๆ ซึมลงเรื่อยๆ จนไปทำจุดต่ำสุดของปีที่ 1,273 จุด ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ก่อนจะได้ความหวังกลับมาอีกครั้งจากกองทุนรวมวายุภักษ์ จนดัชนีทะยานขึ้นไปแตะ 1,500 จุด แต่แล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หุ้นไทยกลับถูกเทขายอีกครั้ง จนดัชนีร่วงกลับมาต่ำกว่า 1,400 จุด กลายเป็นการติดลบ 2 ปีติดต่อกัน
สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งตลอดทั้งปี 2024 ที่ผ่านมาคือ ‘วิกฤตความเชื่อมั่น’ โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าที่เริ่มหมดศรัทธากับหุ้นไทย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายต่อเนื่องจนกลายเป็นตัวเลขสุทธิเกือบ 5 แสนล้านบาท ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
ก่อนเดินหน้ากันต่อในปี 2025 THE STANDARD WEALTH อยากพาทุกคนย้อนกลับไปดูเส้นทางของตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งปี 2024 พร้อมลำดับเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
ดัชนี SET ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2024
ต่างชาติขายไม่หยุด
นักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิเกือบ 2 แสนล้านบาท เมื่อปี 2023 ยังคงเดินหน้าขายต่อเนื่องในเดือนมกราคม แม้จะมีการสลับซื้อสุทธิบ้างในเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน และกันยายน แต่โดยภาพรวมแล้วตลอดทั้งปีที่ผ่านมาต่างชาติก็ยังคงขายสุทธิเกือบ 1.5 แสนล้านบาท ทำให้ตลอดทั้ง 6 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปเกือบ 5 แสนล้านบาท
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายต่อเนื่องยังเป็นเพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ที่กำไรถูกหั่นคาดการณ์ลงค่อนข้างมาก
หุ้นไทย ‘ขึ้นกระจุก ลงกระจาย’
“ขึ้นกระจุก ลงกระจาย” คือนิยามที่ณัฐชาตให้กับตลาดหุ้นไทยปีนี้ ดัชนี SET ดูแข็งเกินจริง แต่ไส้ในเปราะบาง อาศัยหุ้นขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ตัวในการค้ำยันดัชนี และด้วยสาเหตุนี้ทำให้มูลค่าของหุ้นไทยดูสูงเกินจริงแล้วเพราะมูลค่าของหุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้
สำหรับปีหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพยายามผลักดันดัชนีรูปแบบใหม่คือ Free Float Adjusted Index จะช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้หุ้นใหญ่ที่ Free Float ต่ำมีน้ำหนักต่อดัชนีน้อยลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีอย่าง MSCI หรือ FTSE
ปีนี้ถ้าดูดัชนี SET50 ณ วันที่ 20 ธันวาคม ยังเป็นบวก 1% จากปีก่อน แต่หากเป็นการคำนวณแบบ Free Float Adjusted ดัชนีจะติดลบ 5% เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนแบบอิงดัชนีจะรู้สึกแย่กับหุ้นไทย
ปม Naked Short สั่นคลอนความเชื่อมั่น
ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยค่อยๆ ซึมลงมาตั้งแต่ปี 2023 จากดัชนีที่เคยสูงเกือบ 1,700 จุด มาเหลือเพียง 1,300 จุด นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยในวงกว้างว่า หุ้นไทยกำลังถูกนักลงทุนบางกลุ่มทำการขายแบบ Naked Short Selling อยู่หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงการใช้ Program Trading ของนักลงทุนต่างชาติ จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง
ในที่สุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตัดสินใจปรับเกณฑ์ในการควบคุมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปรับเกณฑ์การขาย Short หุ้น โดยเปลี่ยนจาก Zero Plus Tick Rule มาเป็น Uptick Rule หมายความว่านักลงทุนที่จะทำการขาย Short หุ้นต้องใช้ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อ-ขายครั้งสุดท้าย แทนที่เกณฑ์เดิมที่นักลงทุนสามารถขาย Short ได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า
นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขายผ่าน Program Trading ในแต่ละวัน, เพิ่มการสั่งพักการซื้อ-ขายอัตโนมัติ (Auto Halt) สำหรับหุ้นรายตัว, การกำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งก่อนที่จะสามารถยกเลิก/แก้ไขคำสั่งได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใส่และถอนคำสั่งเข้าออกที่ถี่จนเกินไป
ฟื้นความเชื่อมั่นด้วยกองทุนรวมวายุภักษ์
แม้ภาพรวมทั้งปีของตลาดหุ้นไทยจะติดลบจากปีก่อน แต่ระหว่างทางหุ้นไทยก็มีช่วงเวลาที่ดีอยู่ด้วยเช่นกัน หลังจากที่ดัชนีร่วงลงไปต่ำสุดที่ 1,273 จุด ช่วงต้นเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นดัชนีวิ่งขึ้นกว่า 200 จุด ภายใน 2 เดือนครึ่ง
ปัจจัยหลักคือการที่รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดระดมทุนรอบใหม่จากประชาชนผ่านกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ในวงเงินมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย
หลังการประกาศดังกล่าวทำให้แรงซื้อของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันกลับเข้ามายังตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โดยมีแรงซื้อสุทธิเข้ามากว่า 3 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ความน่าเชื่อถือของผู้บริหารและบริษัทจดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเพียงแค่กองทุนรวมวายุภักษ์จะยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากพอ อีกหนึ่งปัจจัยที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยเกิดจากความน่าเชื่อถือของผู้บริหารบางบริษัท อย่างกรณีของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทถูกบังคับขายหุ้นที่ถืออยู่หลังจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง
รวมทั้งกรณีของอดีตผู้บริหารของ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ที่มีประเด็นต้องสงสัยเรื่องการฉ้อโกงและฟอกเงิน รวมทั้งกรณีของหุ้นอย่าง บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่ยังไม่ได้บทสรุปทั้งหมด
ไม่เพียงแค่นั้นยังมีกรณีของ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) ที่นักลงทุนตั้งคำถามถึงประเด็นเรื่องของธรรมาภิบาลในการลงทุน จนนำไปสู่แรงเทขายอย่างหนัก จนมูลค่าของหุ้นหายไปกว่า 6 หมื่นล้านบาท ภายในวันเดียว
สภาพคล่องที่หดหายไป
ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด มองว่าหุ้นไทยในปีนี้ไม่ต่างจาก ‘เรือที่กำลังอับปาง’ ปัญหาใหญ่ของเราตอนนี้คือ ‘สภาพคล่อง’
“ปัจจุบันไม่มีเงินใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งสะท้อนว่าคนไม่มีเงิน คนมีเงินมาลงทุนน้อยลง ขณะเดียวกันก็มีทางเลือกลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหุ้นต่างประเทศที่ดูสดใสกว่ามาก”
อีกประเด็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อการลงทุนคือเงินที่ถูกดูดหายออกไปผ่านแก๊งมิจฉาชีพ ธุรกิจสีเทา และใช้จ่ายที่ง่ายมากขึ้น
“สถานการณ์ตอนนี้ชี้ชัดแล้วว่าไทยไม่ได้ศิวิไลซ์เช่นเดิม เอกชนไม่ได้แข็งแกร่งเท่ากับในอดีต ขณะที่เพื่อนบ้านพัฒนาขึ้นมาก และมีทางเลือกอื่นที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น”
ประกิตกล่าวต่อว่า การที่หุ้นไทยติดลบสองปีติดต่อกันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และแทบจะไม่ได้เห็นมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
อย่างไรก็ดี ในปีหน้าอาจมีความหวังอยู่บ้าง เราอาจเห็นหุ้นไทยกลับไปสู่ระดับ 1,500 จุด จากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ดีขึ้น รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเรื่องหนี้น่าจะช่วยลดภาระของประชาชน