×

เศรษฐกิจโลก-ไทยปี 2025 เตรียมรับมือ Trump Force เสี่ยงฉุดการค้า ส่อทำส่งออกไทยสะดุด

25.12.2024
  • LOADING...
global-thai-economy-2025-trump-force-export-risk

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ภาพเศรษฐกิจโลกในปี 2024 เป็นภาพของการ Transition Force โดยเริ่มเห็นธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ หลังจากที่เคยเร่งตัวขึ้นไปในระดับที่สูงก่อนหน้านี้ ขณะที่การขยายตัวของ GDP ชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ GDP ยังสามารถขยายตัวได้แข็งแกร่ง

 

ขณะที่เศรษฐกิจของจีนมีทิศทางที่ชะลอตัวค่อนข้างชัดเจน โดยในปี 2023 GDP ของจีน ขยายตัว 5.2% ขณะที่ในปี 2024 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.8% อีกทั้งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นส่งผลให้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้ ซึ่งรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการเงินและการคลัง รวมทั้งเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์  อีกทั้งออกมาตรการช่วยเหลือตลาดหุ้นจีนออกมาต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ และยังประกาศว่าจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในปีหน้า

 

จับตานโยบาย Trump Force ในปี 2025 

 

สำหรับภาพในปี 2025 จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็น Trump Force จากปี 2024 ที่เป็นภาพของ Transition Force มาจาก 3 นโยบายหลักของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งในปี 2025 มีนโยบายดังนี้

 

  1. นโยบายสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษีจากสินค้านำเข้า ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น

 

  1. นโยบายในการเนรเทศผู้อพยพชาวต่างชาติออกจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานในสหรัฐฯ ขาดแคลน มีส่วนในการผลักดันเงินเฟ้อให้เร่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

  1. นโยบายในการลดภาษีนิติบุคคลของบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่จะมีผลกระทบต่อการขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ ให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งจะมีผลให้ Bond Yield เร่งสูงขึ้น

 

นอกจากนี้จากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน มีการปรับประมาณการจำนวนการลดดอกเบี้ย (Fed Dot Plot) ลงจากเดิม ซึ่งในปีหน้าจะมีการลดดอกเบี้ยลงจำนวน 4 ครั้ง ลดลงเหลือจำนวน 2 ครั้ง 

 

พร้อมประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะเห็นการลดลงต่ำสุดในปี 2026 จากนั้นจะไม่เห็นการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงของนโยบายของทรัมป์ที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวสูงขึ้นในอนาคต

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าของสหรัฐฯ อาจไม่ได้เห็นภาพการปรับตัวลดลงที่ค่อนข้างมาก โดยในปี 2025 ถือเป็นปีสุดท้ายที่ธนาคารกลางสำคัญต่างๆ ของโลกจะลดดอกเบี้ยลง

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่งส่วนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนโลยี AI มาใช้มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ส่งผลบวกให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ดี แต่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อขยับเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถทนแรงเสียดทานจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงได้เช่นกัน

 

ขณะที่ในฝั่งของธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าในปีหน้าจะลดดอกเบี้ยลงจำนวน 4 ครั้ง

 

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 1 ครั้งในเดือนพฤษภาคมปีหน้า โดยในช่วงต้นปีนี้คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการในการควบคุมค่าไฟ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง

 

“ภาพเศรษฐกิจในปีหน้าของเศรษฐกิจโลกอาจเห็นการชะลอตัว รวมถึงยังมีความเสี่ยงของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย”

 

ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายสงครามการค้าของทรัมป์ อาจสามารถดำเนินการได้ไม่ได้รวดเร็วนัก เนื่องจากหากเร่งดำเนินการก็จะมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อให้เร่งสูงขึ้นมากขึ้น มาจากนโยบายในการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนถึง 60% ขณะที่สินค้านำเข้าอื่นๆ อีก 10%

 

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเห็นการชะลอตัวลงในระดับ 0.4-0.6% ในระยะต่อไปหากมีการทำสงครามการค้าอย่างรุนแรง เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอื่นๆ อาจเห็นการชะลอตัวในอัตราที่น้อยกว่า

 

ดังนั้นเชื่อว่าทรัมป์จะดำเนินสงครามการค้าแบบไม่เต็มรูปแบบ ซึ่งอาจเลือกใช้วิธีการโจมตีโดยพิจารณาเป็นรายประเทศแทน โดยเฉพาะประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าค่อนข้างสูง เช่น จีน, EU, เม็กซิโก, เวียดนาม และประเทศอื่นๆ

 

นอกจากนี้ประเมินว่าทางสหรัฐฯ มีการทำสงครามการค้าโดยตั้งกำแพงภาษี ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการลดภาษีนิติบุคคลในประเทศจากระดับ 21% เป็น 15% ตามที่เคยหาเสียงไว้ โดยประเมินว่าการดำเนินนโยบายลดภาษีนิติบุคคลดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความเสี่ยงด้านการคลังในหลายประเด็นที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

 

หั่น GDP ไทยปีหน้าลงเหลือ 2.7% การบริโภค-ลงทุนฉุด

 

ด้านเศรษฐกิจของไทยแม้ว่าในไตรมาส 3/24 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดย GDP สามารถขยายตัวในระดับ 3% คาดว่าจะส่งผลให้ GDP ของไทยในปีนี้ขยายตัวในระดับ 2.6% ต่ำกว่าช่วงต้นปีนี้ที่เคยทำคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในระดับ 3-4% เนื่องจากมีปัจจัยกดดันในหลายประเด็นตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา ทั้งประเด็นของการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ไม่เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลประกาศไว้

 

รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่มีความล่าช้าไป 8 เดือน อีกทั้งมีประเด็นสำคัญ คือนโยบายการเงินของไทยที่ค่อนข้างมีความเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ย MLR (Minimum Loan Rate) ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อติดลบ

 

สำหรับไทยประเมินว่าในปี 2025 เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ ซึ่งเดิมประเมินว่าในปี 2025 GDP ของไทยจะสามารถขยายตัวสูงกว่าปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่อาจชะลอตัวลง รวมถึงความเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามการค้า ส่งผลให้ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกยากขึ้น

 

ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องหันมาพึ่งพานโยบายกระตุ้นในประเทศทางนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งยังเหมาะสมเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ดี ในฝั่งของนโยบายทางการคลังยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งงบลงทุนที่จะเบิกจ่ายในปีหน้าเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

 

ทั้งนี้ InnovestX ปรับลดประมาณการ GPD ของไทยในปีหน้าลงจากเดิมที่ขยายตัว 3% เหลือขยายตัว 2.7% โดยมีปัจจัยกดดันทั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่จะชะลอตัวลง ส่วนส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะไม่เห็นการเติบโต เพราะมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

 

คาดปีหน้า กนง. หั่นดอกเบี้ย 3 ครั้ง รับมือเศรษฐกิจชะลอตัว 

 

สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าในปีหน้าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจำนวน 3 ครั้ง เนื่องจากการประชุมรอบล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีมติในการคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 2.25% ส่งผลให้แนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยอาจเห็นการชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยคาดว่า GDP ช่วงครึ่งหลังของปีหน้าจะขยายตัวในระดับ 1.8-2%

 

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน เดิมคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2025 จะอยู่ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดปรับประมาณการเป็น 35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่เข้ากับปี 2024

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าค่าเงินบาทยังมีทิศทางที่แข็งค่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคถึงระดับ 20% ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องการให้นโยบายทางการเงินมีความผ่อนคลายลง

 

“การประชุมของ กนง. รอบล่าสุดที่ไม่ลดดอกเบี้ย เตรียมเก็บกระสุนไว้ใช้ จะทำให้เศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไปช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า มีความเสี่ยงแย่ลง เพราะนโยบายการเงินต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่าน ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยไป 0.25% มีผลให้ส่วนสินเชื่อเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้นหากแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยลงต่อ ดอกเบี้ยก็จะตรึงอยู่ที่เดิม ความตึงตัวของสินเชื่อที่จะหดตัวก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่” 

 

อีกทั้งประมาณว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2025 ของไทยจะยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% โดยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 0.8-0.9% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ เดิมเคยคาดว่าจะขยับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ที่ 1-3% แต่คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉลี่ยทั้งปีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.4%

 

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในปีหน้าควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นโดยการลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่ประเมินว่าสินทรัพย์ลงทุนของสหรัฐฯ ถือว่ายังมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ AI และเทคโนโลยียังเติบโตดี แม้อัตราการเติบโตจะไม่สูงเช่นในอดีต

 

อีกทั้งการลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิลมีภาพแนวโน้มที่ดีขึ้นจากนโยบายการสนับสนุนของทรัมป์ ขณะที่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนหรือกลุ่มรถยนต์ EV ยังมีโอกาสเติบโตได้

 

ด้านเศรษฐกิจของยุโรปมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระดับหนึ่ง ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นจีนประเมินว่าจะยังคงมีแนวโน้มที่ทรงตัวไปต่อได้ จากรัฐบาลที่มีการออกนโยบายการเงินและการคลังเพื่อมาสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ แม้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวลงแต่การลงทุนในตลาดหุ้นยังสามารถทำได้

 

ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้เพิ่มความระมัดระวังการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์จากนโยบายการคลังที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้ายังมีโอกาสลงทุนได้

 

ภาพ: Anna Moneymaker / Shutterstock 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X