วันนี้ (24 ธันวาคม) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีการยกเลิกรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ที่เป็นการเอื้อทุนพลังงาน และการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในการยกเลิกการจัดซื้อดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการแถลงข่าวครั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจนต่อตัวนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มแต่กลับไม่ใช้ และมีทางเลือกที่ดีกว่า ถูกกว่า แต่กลับไม่ทำ
ณัฐพงษ์ระบุว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จุดยืนของพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ที่ริเริ่มในสมัยรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยล็อต 3,600 เมกะวัตต์ในการแถลงครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนในยุค พล.อ. ประยุทธ์ โดยตรง ซึ่งมี 3 หัวข้อ ดังนี้
เรื่องแรกคือ พรรคประชาชนอยากมาให้ข้อเท็จจริง เพื่อลบข้อบิดเบือนที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลปัดความรับผิดชอบที่อ้างว่านายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ ซึ่งตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กพช. เป็นผู้กำหนดรับซื้อและกำหนดราคาในการรับซื้อ โดยใช้วิธีการคัดเลือก ไม่ใช่ประมูล และราคาในการรับซื้อมีการล็อกไว้ถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2573 ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราตั้งคำถามว่า เป็นกระบวนการที่ปราศจากความโปร่งใส ขาดการแข่งขัน และอาจทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ตอบเป็นบันทึกการประชุมสภาว่า ท่านเองก็ไม่เห็นด้วยจากกระบวนการดังกล่าว จึงอยากจะย้ำประเด็นที่บอกว่านายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายกับคณะกรรมการ กพช. นั้นไม่เป็นความจริง เพราะโครงการนี้ริเริ่มจากสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ การจะยกเลิกได้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของรัฐผ่านการออกมติ กพช. ในสมัยรัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่สามารถทำได้ในการยกเลิกกระบวนการดังกล่าว”
ส่วนความจำเป็นเร่งด่วนที่ กพช. ออกประกาศเดินหน้าซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีเส้นตายเพียงแค่ 14 วัน คือภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ หากไม่ยกเลิกแล้วเราจะไม่สามารถยกเลิกกระบวนการนี้ได้อีก ซึ่งตามระเบียบการรับซื้อของ กพช. ในข้อที่ 8 (2) มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กพช. ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกก่อนการลงนามในสัญญา นั่นหมายความว่าสามารถยกเลิกได้หากยังไม่มีการลงนามร่วมกัน และเหตุผลที่สามารถยกเลิกได้อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายแห่งรัฐที่ กพช. เป็นผู้กำหนด
ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจะอ้างว่าไม่สามารถควบคุมสภาพเสียงข้างมากใน กพช. เพื่อผ่านเป็นมติได้ รัฐบาลควรจะยุบสภา เพราะองค์ประกอบ กพช. ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ 19 คน โดย 14 ใน 19 คน คือคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมาโดยตรง หากนายกรัฐมนตรีมีความชัดเจนว่าประสงค์จะยกเลิกกระบวนการนี้
“ท่านก็สามารถทำได้ แต่หากทำไม่ได้โดยอ้างว่าไม่สามารถคุมสภาพเสียงไว้ได้นั้น ก็แปลว่าท่านบริหารคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ก็สมควรจะยุบสภา ลาออก และบอกกับประชาชนว่าทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แต่งตั้งมาด้วยตัวเองไม่เห็นชอบ ผมจึงเชื่อว่าประเด็นนี้คนไทยอยากฟังคำตอบว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มแต่ไม่ได้ใช้ และมีแนวดำเนินการอย่างไรต่อไป” ณัฐพงษ์กล่าว
ณัฐพงษ์เสนอทางเลือกที่ดีกว่า 2 ข้อ และอยากได้ความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร คือ
- การเพิ่มโควตาการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้ากับโรงงานผู้ผลิตสินค้า หรือผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาด ซึ่งตามแนวนโยบายของรัฐให้โควตาอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ ถ้ารัฐบาลต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด รัฐบาลมีช่องทางเพิ่มโควตาได้โดยตรง ซึ่งไม่มีการผูกมัดที่ต้องให้ประชาชนรับผิดชอบร่วมกัน เพราะเป็นการตกลงโดยตรงระหว่างผู้ขายไฟฟ้ากับผู้ซื้อที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด
อีกทั้งหากรัฐบาลต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในครัวเรือนหรือใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นนั้น ในปัจจุบันเรามีโควตาการรับซื้อ Solar Rooftop ซึ่งการไฟฟ้าไม่สามารถรับซื้อได้อีก และรัฐบาลสามารถเพิ่มโควตาการรับซื้อจากพ่อแม่พี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ได้มากขึ้นมากกว่า 90 เมกะวัตต์ได้
“พรรคประชาชนไม่ได้ต่อต้านหรือเห็นค้าน แต่เราสนับสนุนในการใช้พลังงานสะอาดในช่องทางที่ดีกว่าการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนด้วยกระบวนการคัดเลือกมากกว่าการเปิดประมูล มาเป็นไดเรก PPA เป็นการเพิ่มโควตา Solar Rooftop เพื่อให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน และเกิดประโยชน์กับคนส่วนมากสูงกว่า” ณัฐพงษ์ระบุ
ณัฐพงษ์กล่าวด้วยว่า สิ่งต่างๆ ที่ตนและสังคมกำลังตั้งคำถามที่ปฏิเสธไม่ได้ตามภาพข่าวที่ผ่านมาคือ เราพบว่าพ่อของนายกรัฐมนตรีคือ ทักษิณ ชินวัตร มีการออกไปตีกอล์ฟกับกลุ่ม CEO ธุรกิจพลังงาน เป็นสิ่งที่พวกเราอยากจะได้ความชัดเจนว่าค่าไฟแพงไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของกลไกเชื้อเพลิงต่างประเทศ ที่รัฐบาลคุมไม่ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากกว่าคือการผูกขาดและแนวนโยบายของรัฐที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการใช้อำนาจนั้นผ่านคณะกรรมการ กพช.
“วันนี้พวกเราอยากยืนยันว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มแต่ไม่ใช้ รัฐบาลมีทางเลือกที่ดีกว่า ถูกกว่า สำหรับพ่อแม่พี่น้องประชาชน แต่ไม่ทำ และเรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่ แต่นายกรัฐมนตรีเงียบกริบ ไม่เคยตอบ เลี่ยงไปพูดประเด็นอื่นๆ” ณัฐพงษ์กล่าว