ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงมีความท้าทายและความเสี่ยงรอภาคธุรกิจไทยที่ต้องเตรียมรับมือในหลายเรื่อง จะมีประเด็นอะไร ธุรกิจไหนเสี่ยงมากที่สุด
ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ภาคธุรกิจไทยในปี 2568 มีความท้าทายรออยู่ค่อนข้างมาก ทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศมาจากประเด็นปัญหาความเปราะบางของภาคครัวเรือน รวมถึงการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด ส่วนปัจจัยต่างประเทศมาจากกรณีที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและยังมีประเด็นจากผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0
อีกทั้งในภาคของธุรกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตที่ยังปรับตัวได้ช้าและมีความสามารถในการแข่งขันน้อย รวมถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของเมกะเทรนด์ต่างๆ
กำลังซื้อเปราะบาง ฉุดตลาดรถยนต์ปี 2568 ต่อเนื่อง
หากประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยในปี 2568 ประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ยังคงเปราะบาง รวมทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาให้สินเชื่อ ในขณะที่ฝั่งผู้ประกอบรถยนต์ก็มีแรงกดดันเพิ่มเติมจากประเด็นการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมจากรถสันดาปไปสู่รถยนต์ EV ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการปรับตัวอยู่ค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงจะชะลอตัว ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เผชิญแรงกดดันจากจีน เช่น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีความเสี่ยงที่เผชิญกับการตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตยังมีแนวโน้มหดตัว
ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จะเผชิญปัจจัยความเสี่ยงของสถานการณ์โอเวอร์ซัพพลายที่ยังคงมีซัพพลายใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดอีกจำนวนมาก โดยประเมินว่าความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการค่อนข้างมีจำกัด ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงสามารถปรับตัวได้ ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายกลางและเล็กยังมีข้อจำกัดในการปรับตัว
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ก็ยังคงมีอยู่บ้าง ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่สอดรับกับเทรนด์ใหม่ๆ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นที่ยังคงเติบโตได้ดี รวมถึงกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางหมวดที่ตอบโจทย์เทรนด์เซมิคอนดักเตอร์หรือเกี่ยวข้องกับ AI ที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ตามปริมาณของนักท่องเที่ยว รวมถึงที่เกี่ยวข้องเทรนด์สุขภาพที่ขยายตัวได้ดี
หวั่น ‘ทรัมป์ 2.0’ ดันสินค้าจีนทะลักเข้าไทยปะทุแรงขึ้น
อีกทั้งประเมินว่านโยบายทรัมป์ 2.0 จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยในหลายด้าน ได้แก่ ผลกระทบที่จะส่งผ่านมาจากจีน เนื่องจากสหรัฐฯ จะมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ส่งผลให้จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง โดยจะส่งผลกระทบต่อสินค้าขั้นกลางของไทยที่อยู่ใน Value Chain การผลิตของจีน เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลาง ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่จะมีความต้องการสินค้าชะลอตัวลง
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอีกด้านที่จะส่งต่อมาจากจีน โดยหากจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง ทำให้จีนจำเป็นจะต้องหาตลาดส่งออกสินค้าอื่นๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ ดังนั้นสินค้าราคาถูกจากจีนมีโอกาสจะทะลักเข้ามาสู่ไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ EV ที่ผู้ประกอบการของไทยมีความเสี่ยงจะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
ปราณิดากล่าวต่อว่า นโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้ดีมานด์สินค้าของสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีผลกระทบทั้งในเชิงลบและเชิงบวก โดยในแง่ของภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ดีมานด์สินค้าบางส่วนจากสหรัฐฯ มีความต้องการที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยอาจได้ประโยชน์ เนื่องจากสหรัฐฯ อาจมีการนำเข้าสินค้าจากไทยเข้าไปทดแทนสินค้าจากจีน เพราะถือว่าสินค้าจากไทยยังมีราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับจีนหลังจากมีการใช้นโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ โดยกลุ่มสินค้าที่ประเมินว่ายังคงมีปริมาณสูงจากสหรัฐฯ และยังคงพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับผลกระทบในด้านอื่นๆ จากนโยบายของทรัมป์ ซึ่งประกาศนโยบายชัดเจนว่าสนับสนุนการใช้พลังงานจากฟอสซิล รวมถึงอาจจะมีการชะลอนโยบายในการเปลี่ยนผ่านใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อราคาพลังงานโลกให้มีความผันผวน และมีโอกาสที่จะเห็นการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน
พร้อมทั้งประเมินว่ายังมีผลกระทบในเชิงบวกบ้าง อาจจะเห็นอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยแทน โดยมีแนวโน้มที่จะเห็นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคนิคมอุตสาหกรรมของไทยกับกลุ่มธุรกิจแวร์เฮาส์
จับตาทรัมป์ลุยตรวจเก็บภาษี บริษัทจีนย้ายฐานผลิตมาอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย เนื่องจากสหรัฐฯ อาจดำเนินมาตรการในการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า เช่น เริ่มเก็บภาษีนำเข้าจากผู้ผลิตแผงโซลาร์จากบริษัทสัญชาติจีนที่มีฐานผลิตในอาเซียน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ภาพโครงสร้างของธุรกิจไทยในปี 2568 ยังคงมีความท้าทาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.1 กลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ค่อนข้างยาก คือกลุ่มที่ผลิตสินค้าและบริการเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด รวมถึงขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและยังคงพึ่งพาในตลาดเดิมๆ ซึ่งหากธุรกิจเหล่านี้ไม่มีการปรับตัวจะไปต่อในอนาคตได้ค่อนข้างยาก
ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัวโดยเร่งออกจากเซ็กเมนต์เดิมที่มีความเสี่ยงจะไปต่อไม่ไหว รวมถึงมีการปรับปรุงสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
1.2 กลุ่มที่สามารถปรับตัวได้ในการดำเนินธุรกิจและสามารถนำพาธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น อีกทั้งมีการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้นหรือดำเนินธุรกิจที่ครบวงจร ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องมีกลยุทธ์ในการปรับตัวด้วยเช่นกัน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมีการเพิ่มงบลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D)
นอกจากนี้ควรมีการบริหารห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่น อีกทั้งพัฒนาสินค้าให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกอย่างต่อเนื่อง
2. กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เป็นกลุ่มที่สามารถเติบโตได้ตามเทรนด์ของโลกที่เติบโตได้ค่อนข้างดี เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระแสความยั่งยืน และ AI ต่างๆ ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะต้องปรับตัวและต่อยอดจากธุรกิจเดิมเพื่อรับมือกับคู่แข่ง
ทั้งนี้ จากโครงสร้างธุรกิจทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น ขอยกตัวอย่างในภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะเห็นได้ว่ามีทั้งเซ็กเมนต์ดั้งเดิม คือผู้ผลิตรถยนต์สันดาปและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ค่อนข้างยากหากยังไม่ปรับตัวรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมที่มุ่งไปสู่รถยนต์ EV
ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฮบริด (BEV) ยังมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะผลิตและพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาด และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ๆ ก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ เช่น กลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้กับรถยนต์ EV
ภาพ: Artigone Pumsirisawas / Getty Images