×

การจัดการความเสี่ยง: กุญแจสู่ความมั่นคงทางการเงิน

22.12.2024
  • LOADING...
risk-management-key-financial-security

ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่น การเกิดอุทกภัยใหญ่ในภาคเหนือและภาคอีสาน ที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงผลกระทบทางจิตใจและสถานะทางการเงินของผู้ประสบภัย

 

การวางแผนทางการเงินจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่งคั่งของสินทรัพย์ โดยการรักษามูลค่าทางการเงินของสินทรัพย์ให้คงอยู่ ไม่ให้สูญหายหรือสูญเสียไป

 

สินทรัพย์ที่เราจะรักษาประกอบด้วย:

  • สินทรัพย์เป็นวัตถุจับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ (บ้าน อาคารพาณิชย์) สังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (เงินสด หุ้น ตราสารหนี้) และสินทรัพย์มีค่าอื่นๆ (พระเครื่อง ทองคำ เครื่องประดับมีค่า)
  • สินทรัพย์เป็นตัวบุคคล ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยพิจารณาจากความสามารถในการหารายได้ตลอดช่วงชีวิตของบุคคล

 

ความเสี่ยงภัยทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ของเราประกอบด้วย:

  • ภัยส่วนบุคคล เช่น การเจ็บป่วย การประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ การเสียชีวิต
  • ภัยต่อทรัพย์สิน เช่น การสูญเสีย สูญหาย การประสบภัยพิบัติ (ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว)
  • ภัยต่อความรับผิดชอบ เช่น ภาระในหน้าที่การงานหรืออาชีพ (แพทย์ วิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง)

 

เมื่อทราบถึงความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถวางแผนจัดการความเสี่ยงได้ดังนี้:

  1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง: พยายามไม่ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเรือหากกลัวการเกิดอุบัติเหตุ
  2. การลดความเสี่ยง: การลดหรือควบคุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การตรวจตราและซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านอยู่เสมอ
  3. การรับความเสี่ยงภัยไว้เอง: การยอมรับผลกระทบจากภัยไว้เองทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น การทำประกันรถยนต์ภาคบังคับเท่านั้น
  4. การโอนความเสี่ยง: การโอนภาระทางการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นไปยังบุคคลที่สาม เช่น การทำประกันภัย

 

การโอนความเสี่ยงเป็นวิธีการรักษาความมั่งคั่งและมูลค่าสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยการวางแผนประกันภัย (Insurance Planning) ซึ่งประกอบด้วยการประกันภัยหลายประเภท เช่น การประกันอัคคีภัย การประกันภัยรถยนต์ การประกันชีวิต และการประกันสุขภาพ

 

Screenshot 2567-12-22 at 11.28.26

 

จากที่เราทราบเรื่องการจัดการความเสี่ยงภัยแล้ว หนึ่งในวิธีการคือ การโอนความเสี่ยงเป็นการรักษาความมั่งคั่งและมูลค่าสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ และมักถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ ได้แก่ การวางแผนประกันภัย (Insurance Planning) ซึ่งประกอบด้วยการประกันภัยหลายประเภท ยกตัวอย่าง การประกันภัยทรัพย์สิน เช่น การประกันอัคคีภัย การประกันภัยรถยนต์ประเภทต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นวัตถุ ส่วนการรักษามูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นตัวบุคคล เช่น การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ เป็นต้น

 

ทีนี้เรามาแยกความแตกต่างของประกันภัยกับประกันชีวิตกัน ดังนี้

 

ความหมายของการประกันภัย

 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 อันว่าสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ ในกรณีวินาศภัยมีขึ้น ได้ระบุไว้ในสัญญาและการนี้ บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า ‘เบี้ยประกันภัย’

 

สรุปง่ายๆ ก็คือ บริษัทผู้รับประกันจะมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้ แต่จะชดใช้ให้ไม่เกินความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและไม่เกินจำนวนเงินที่ทำประกันภัยไว้ หรืออาจทำให้ทรัพย์สินที่เสียหายนั้นกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม

 

ความหมายของการประกันชีวิต

 

ประกันชีวิต การประกันภัยที่จ่ายเงินโดยอาศัยการทรงชีพหรือการมรณะของบุคคลเป็นเหตุของการจ่ายเงิน การประกันชีวิตจะมีการระบุให้มีการจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัยที่มีชีวิตอยู่ครบระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา หรือมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ (ทายาทที่ระบุไว้) ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยการประกันชีวิตจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การออมและความคุ้มครองการเสียชีวิต

 

ทุกท่านจะเห็นว่าการวางแผนประกันภัยมีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งความไม่แน่นอนในชีวิต ลดความกลัวและความกังวลใจ ทำให้มีแผนการจัดการความเสี่ยงที่ชัดเจน โดยเราสามารถสรุปประโยชน์ได้เป็น 2 ด้าน ได้แก่

 

ด้านตัวบุคคล

 

  1. บรรลุเป้าหมายในการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล เช่น การวางแผนการศึกษา การวางแผนเกษียณอายุ
  2. ประหยัดเงินและลดความซ้ำซ้อนของความคุ้มครอง
  3. ลดความไม่แน่นอน เพราะคาดการณ์เหตุการณ์และเลือกใช้วิธีการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า
  4. ควบคุมสถานการณ์ทางการเงินส่วนบุคคลได้ เพราะวางแผนในการลดความเสี่ยงทางการเงินในอนาคตไว้แล้ว เช่น การเสียชีวิต การเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย

 

ด้านสังคม

 

  1. มั่นใจมากกว่ากรณีเกิดการสูญเสียแล้วต้องขอความช่วยเหลือจากสวัสดิการรัฐ หรือความช่วยเหลือทางการเงินจากญาติหรือเพื่อน
  2. ช่วยลดความวิตกกังวล ทั้งก่อนและหลังการสูญเสีย เช่น หัวหน้าครอบครัวมีทุนประกันเพียงพอก็จะลดความกังวลใจหากเกิดเหตุไม่คาดคิด
  3. เป็นแหล่งเงินทุน เนื่องจากเบี้ยประกันที่บริษัทประกันรับเข้ามา ส่วนมากจะนำไปลงทุนในกิจการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือให้เอกชนกู้ไปลงทุน
  4. เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงินของบุคคลในด้านการชำระหนี้

 

บทสรุป

 

การวางแผนประกันภัยอาจดูเข้าใจยาก ใช้ภาษาทางการ หรือภาษากฎหมาย แต่เป็นส่วนสำคัญในการรักษาความมั่นคงของสินทรัพย์ และเป้าหมายต่างๆ ในชีวิต ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความเสี่ยง เป็นการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันแทนที่จะรับไว้เอง 

 

หากท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำประกันภัยหรือการประกันชีวิต สามารถหาแหล่งข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (www.oic.or.th), สมาคมประกันวินาศภัยไทย

(www.tgia.org) และสมาคมประกันชีวิตไทย (www.tlaa.org) ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนประกันภัยและประกันชีวิต

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X