วันนี้ (21 ธันวาคม) เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) สายด่วน 1441 เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของศูนย์ AOC ที่ครบ1 ปี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า ศูนย์ AOC เริ่มขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ครบ 1 ปีของการดำเนินงาน โดยเหตุผลที่มีศูนย์แห่งนี้ เพราะว่าภัยออนไลน์ที่เข้ามาในตอนนี้เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยจะต้องใช้หลายภาคส่วนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภาคธนาคาร โทรคมนาคม ตำรวจและความมั่นคงอื่นๆ รวมทั้งเรื่องตามแนวชายแดนที่เริ่มกวดขันภัยคุกคามรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นภัยรูปแบบใหม่ รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงดีอีเป็นแม่งานในการดูแล จึงมีการจัดตั้งศูนย์ AOC สายด่วน 1441 เพื่อที่จะเป็นวัน One Stop Service ให้กับประชาชนโทรเข้ามาเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น
ซึ่งศูนย์ AOC จะดำเนินรับเรื่องเมื่อเกิดความเสียหายแล้ว โดยจะสามารถประสานหรือโทรสายตรงไปยังธนาคารต่างๆ ทันที และอายัดบัญชี หรือห้ามทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ จากนั้นศูนย์ยังให้ประชาชนเลือกสถานีตำรวจที่ใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุ โดยจะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งทางระบบออนไลน์เพื่อนำไปสู่การสืบสวนของตำรวจต่อไป โดยประชาชนจะต้องไปแจ้งความอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ครบกระบวนการเพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมาย ป.วิอาญา
“เมื่อประชาชนที่ถูกหลอกโทรมายังศูนย์ AOC บัญชีของผู้เสียหายโอนไปที่ใดก็จะทำการอายัดทุกที่เพื่อยับยั้งบัญชีทันที ไม่ว่าจะเป็นแถวหนึ่ง แถวสอง หรือแถวสาม จากนั้นศูนย์ AOC จะเก็บรวบรวมไว้เมื่อมีข้อมูลของประชาชนที่โดนหลอกไม่ว่าจะด้วยวิธีการแบบใด และมอบให้ผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงเมื่อธนาคารใดมีการเปิดบัญชีม้าจำนวนมากก็จะส่งข้อมูลไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดำเนินการกวดขัน ส่วนตำรวจจะส่งข้อมูลสถานที่ต่างๆ ขณะที่ กสทช. จะตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์เพื่อดำเนินการส่งข้อมูลให้ตำรวจต่อไป”
เอกพงษ์ยังย้ำว่า ขณะนี้ศูนย์ AOC ยกระดับการประสานงานความร่วมมือกับ ธปท. ในการตรวจสอบบัญชีม้าที่เข้มขึ้น จากเดิมชื่อ-นามสกุลเดียวกันมีถึง 100 บัญชี จึงจะทยอยระงับ แต่ตอนนี้เมื่อมีชื่อ-สกุลเดียวจะระงับทุกบัญชีทันที ซึ่งเป็นการกำจัดบัญชีม้าออกจากระบบได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ทาง กสทช. ยังมีมาตรการให้คนที่มีซิมมากกว่า 6 เลขหมายหรือเกินกว่าจำนวนที่กำหนดมาชี้แจงถึงเหตุผลในการใช้งาน
“มาตรการดังกล่าวถือเป็นการช่วยกัน อาจไม่ได้เป็นการโค่นต้นไม้ แต่เป็นการลิดกิ่งก้านสาขาไม่ให้การเติบโต แม้แก๊งอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพจะไม่หมด เพราะเกิดขึ้นมาตั้งนาน แต่ตอนนี้ก็มีหนทางเริ่มที่จะจับกุม เพื่อลดความเสียหายของประชาชนให้น้อยลง ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมาจากการรวบรวมสถิติ ปรากฏว่าคดีและความเสียหายลดลงประมาณ 44% ถือว่ามาก แต่ยังไม่พอใจ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ AOC อยากจะบอกประชาชนว่า เมื่อถูกหลอกแล้วหรือมีแหล่งข้อมูลแล้วสามารถโทรมาที่ศูนย์ AOC ได้” เอกพงษ์กล่าว
เอกพงษ์ยังขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในศูนย์ AOC สายด่วน 1441 มี 100 คู่สาย ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง อัตราการรับสายเกือบ 100% ซึ่งเมื่อรับเรื่องแล้วจะดำเนินการตามขั้น ที่สำคัญส่งข้อมูลรายละเอียด รวบรวมเป็นข้อมูลให้แต่ละหน่วยงานนำไปป้องกันการหลอกลวงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกขายทัวร์ ก็ส่งให้สมาคมท่องเที่ยวฯ การหลอกลงทุนทองคำ ส่งเรื่องให้สมาคมทองคำ นำไปข้อมูล เป็นต้น แต่ที่สำคัญตอนนี้มีการส่งให้กับเศรษฐกิจจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดีอี ไปเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดว่าในจังหวัดนั้นประชาชนถูกหลอกเรื่องอะไร เพื่อนำไปสร้างภูมิคุ้มให้ประชาชน ซึ่งดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว
“ส่วนแผนงานเพิ่มศักยภาพของศูนย์ AOC จะเร่งแก้ไขพระราชกำหนดเฟสที่ 2 เพื่อที่จะดูเรื่องการอายัดบัญชีให้เร็วและรีบเอาเงินมาคืนประชาชนให้ได้ โดยมอบหมายให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปดำเนินการหารือและร่วมมือกับ ธปท. รวมถึงธนาคารและบริษัทมือถือจะต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ธนาคารและค่ายมือถือรับทราบแล้วและจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและดูแลประชาชน พร้อมกันนี้ยังยกระดับความร่วมมือด้านนี้กับอาเซียนและประเทศที่พัฒนาแล้ว” เอกพงษ์กล่าวย้ำ