×

Fitch Ratings มอง โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ไม่กระทบเครดิตแบงก์ไทย บางแบงก์อาจได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ

20.12.2024
  • LOADING...
fitch-ratings-khun-su-program

Fitch Ratings มองโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ไม่กระทบเครดิตภาคธนาคารไทยมากนัก บางธนาคารอาจได้รับประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่ยังเตือนไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่ยังคงมีการใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อจากช่วงโควิด ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

วันนี้ (20 ธันวาคม) Fitch Ratings กล่าวว่า มาตรการล่าสุดในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ (Debt Relief Scheme) หรือโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ของรัฐบาลไทยไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักต่อสถานะทางเครดิตของภาคธนาคารไทยในปี 2568 เนื่องจากขอบเขตของมาตรการมีจำกัด และเป็นสาเหตุให้ Fitch Ratings เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับหนี้สินภาคครัวเรือน อัตราการเติบโตของสินเชื่อภาคธนาคาร หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

เชื่อธนาคารไทยตั้งสำรอง หรือ Write-off หนี้บูด-หนี้เน่าไว้แล้ว

 

แม้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของรัฐบาลน่าจะครอบคลุมลูกหนี้ที่มียอดหนี้รวมไม่เกิน 8.9 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) อย่างไรก็ตาม Fitch Ratings เชื่อว่า ในทางปฏิบัติลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ส่วนใหญ่น่าจะมีสถานะเป็นลูกหนี้ค้างชำระ (Stage 2) หรือลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Stage 3) ซึ่งธนาคารน่าจะมีการตั้งค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญไว้แล้วหรืออาจถูกตัดบัญชี (Write-off) ไปแล้ว

 

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างหนี้ที่เสนอภายใต้มาตรการดังกล่าวจะเป็นการลดการชำระค่างวดและยกเว้นการชำระดอกเบี้ย ซึ่งอาจไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารที่ใช้อยู่ ซึ่งปัจจัยดังที่ได้กล่าวมานี้อาจจะลดผลกระทบของมาตรการต่อสถานะทางเครดิตของธนาคาร

 

โดยรัฐบาลระบุว่าค่าใช้จ่ายของธนาคารภายใต้มาตรการนี้จะได้รับการชดเชยโดยการจัดสรรจำนวนเงินครึ่งหนึ่งที่ธนาคารต้องนำส่งให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งน่าจะมีระยะเวลา 3 ปี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารทุกแห่งนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในอัตรา 0.46% ของมูลค่าเงินฝากเป็นประจำทุกปี โดยเงินนำส่งส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

 

ทั้งนี้ ยังคงมีความไม่ชัดเจนว่าการจ่ายเงินชดเชยของรัฐบาลจะถูกบันทึกในทางบัญชีอย่างไร หรือว่าเงินที่นำส่งนั้นเพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของธนาคารจากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวนี้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลอาจพิจารณาจัดสรรเงินทุนจากโครงการอื่นๆ หากเงินทุนนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินชดเชยให้กับธนาคาร

 

มองบางธนาคารอาจได้รับประโยชน์จาก ‘คุณสู้ เราช่วย’

 

โดยผลกระทบต่อธนาคารแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไป แต่มีความเป็นไปได้ว่าบางธนาคารอาจได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

 

หากธนาคารนั้นได้รับเงินชดเชยส่วนใหญ่จากสินเชื่อที่ได้มีการตั้งสำรองหนี้สูญไว้แล้ว ขอบเขตของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้น่าจะอยู่ในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของทางการในช่วงการระบาดของโควิด

 

Fitch Ratings จึงเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะจำกัดประสิทธิภาพในการจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น ระดับหนี้สินครัวเรือนที่สูง ซึ่งอยู่ที่ 90% ของ GDP ณ เดือนมิถุนายน 2567 หรืออาจจำกัดการกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อธนาคาร

 

ทั้งนี้ เกณฑ์และมาตรการเพื่อการควบคุมการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน เช่น เพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อรายย่อย ยังคงมีการดำเนินการอยู่ต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่ยังคงมีการใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อจากในช่วงหลังการระบาดของโควิด ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X