วันนี้ (15 ธันวาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย, สำนักการโยธา, สำนักงานเขต และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามกรณีเกิดเหตุวัสดุจากการรื้อถอนอาคารศรีเฟื่องฟุ้ง เขตบางรัก ร่วงหล่นลงถนนพระราม 4 เมื่อวานนี้ (14 ธันวาคม)
ชัชชาติเปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ว่า อาคารศรีเฟื่องฟุ้งมีความสูง 12 ชั้น รวมชั้นลอยด้วยเป็น 14 ชั้น เป็นอาคารขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการอนุญาตรื้อถอนจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567
ในวันเกิดเหตุเกิดจากเครนมีปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เครนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ชิ้นส่วนที่กำลังยกอยู่หล่นลงมา เป็นเรื่องอันตรายที่ไม่ควรเกิดขึ้น ต้องมีการทบทวนกระบวนการต่างๆ และได้สั่งการให้สำนักการโยธาไปดูอาคารที่กำลังรื้อถอนอยู่
พร้อมทั้งสั่งให้หยุดรื้อถอนอาคารศรีเฟื่องฟุ้งเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะทราบสาเหตุที่แท้จริงและหาทางป้องกันต่อ สำหรับเหตุลักษณะนี้ไม่ควรเกิด เพราะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจ
ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาจากการรื้อถอนอาคารจริงๆ มี 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องเสียงและฝุ่นที่เกิดจากการรื้อถอน 2. ผลกระทบเรื่องการระบายน้ำ เพราะมีเศษหินเศษปูนตกลงไปในท่อระบายน้ำ 3. เรื่องความปลอดภัย เป็นหน้าที่ที่ต้องไปดูจุดที่เหมาะสม อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ต้องมีการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ข้างเคียงให้เป็นไปตามความเหมาะสม ซึ่งต้องหารือกัน
ศ. ดร.อมร กล่าวเสริมว่า เบื้องต้นคาดการณ์สาเหตุไว้ 2 เรื่องหลัก คือ
- การทำงานเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่
- เป็นความบกพร่องหรือเป็นความเสียหายจากอุปกรณ์ยกที่เป็นตัวเครนนี้หรือไม่ เพราะหากไฟฟ้าลัดวงจรควรมีระบบเบรกเกอร์หรือเซฟตี้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน จึงจะทราบสาเหตุที่แท้จริงได้
ในตอนท้าย ชัชชาติกล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ว่า เร่งคุยกับทุกหน่วยงาน สำหรับกรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องรถราชการแล้ว จากการหารือกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอาจมีการเจาะอากาศให้ฝุ่นระบายขึ้นไปข้างบนได้ และในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือเพิ่มเติมในการขึ้นบินทำฝนหลวงว่าจะสามารถขยายสเกลในการบินได้อย่างไรบ้าง
แต่ยอมรับยังติดปัญหาเรื่องการบินในกรุงเทพฯ อาจต้องมีการประสานกับกระทรวงคมนาคมและกองทัพอากาศ เพื่อหารือร่วมกันเพิ่มเติม โดยให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพ ก็จะมีการนัดหมายหารือเพิ่มเติม