วันนี้ (15 ธันวาคม) ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2567 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 98 อำเภอ 625 ตำบล 4,264 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 675,160 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 32 ราย
ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 27 อำเภอ 137 ตำบล 814 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,595 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่
- จังหวัดชุมพร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปะทิว, อำเภอเมืองชุมพร, อำเภอสวี, อำเภอทุ่งตะโก, อำเภอหลังสวน และอำเภอละแม รวม 6 ตำบล 47 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,701 ครัวเรือน ปัจจุบันคลองหลังสวนระดับน้ำลดลง
- จังหวัดระนอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกระบุรี, อำเภอละอุ่น และอำเภอเมืองระนอง รวม 12 ตำบล 42 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,070 ครัวเรือน ปัจจุบันคลองญวนระดับน้ำลดลง
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าชนะ, อำเภอท่าฉาง, อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี, อำเภอกาญจนดิษฐ์, อำเภอดอนสัก, อำเภอเกาะพะงัน และอำเภอเกาะสมุย รวม 27 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,216 ครัวเรือน ปัจจุบันแม่น้ำตาปีมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ, อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, อำเภอปากพนัง, อำเภอเชียรใหญ่, อำเภอพระพรหม, อำเภอสิชล, อำเภอนบพิตำ, อำเภอท่าศาลา, อำเภอขนอม และอำเภอช้างกลาง รวม 51 ตำบล 289 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,608 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ปัจจุบันคลองท่าดีระดับน้ำลดลง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระจายกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 เข้าช่วยเหลือในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง รวมถึงทีม ปภ. ส่วนหน้า ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประสานการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นอกจากนี้ ปภ. ยังกำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเร่งประสานจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ข่าวสารสาธารณภัยได้ทาง Facebook: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X: @DDPMNews ติดตามการประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert ทั้งระบบ iOS และ Android และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทาง LINE: ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID: @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง