วันนี้ (15 ธันวาคม) อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับภยันตรายที่แฝงมากับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการเติมสารปรุงแต่งกลิ่นและรสที่มีส่วนประกอบจากสารพิษและสารเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘น้ำยาดองศพ’ ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายที่ปล่อยออกมาในระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ได้รับละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า
อนุกูลกล่าวว่า จากข้อมูลพบเยาวชนไทยอายุระหว่าง 6-30 ปีมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 18.6% เมื่อจำแนกตามเพศพบว่า เพศชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด 21.49% รองลงมา LGBTQIA+ 19.73% และเพศหญิง 16.22% เมื่อสอบถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเยาวชนพบว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า คือเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สามารถเลิกบุหรี่มวนได้ 61.23% เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย 51.19% เข้าใจว่าน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน 26.28% เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย 23.28% และเข้าใจว่าควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย 12.53% นอกจากนี้เยาวชนยังมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2% อีกด้วย
“จากผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา พบสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารฟอร์มาลดีไฮด์สามารถแทรกซึมลึกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เสี่ยงเกิดมะเร็ง รวมถึงเสี่ยงเกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนังได้ แนะนำผู้ปกครองสอดส่องดูแลพฤติกรรมบุตรหลานให้รู้ถึงภยันตราย อย่าหลงเชื่อค่านิยมที่ผิดๆ ในกลุ่มวัยรุ่น หากต้องการคำปรึกษาสามารถสอบถามข้อมูลเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้ที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน” อนุกูลระบุ