×

ทองแท้ไม่แพ้ไฟ: สาเหตุสำคัญที่นักลงทุนควรมีทองคำในพอร์ตการลงทุน

14.12.2024
  • LOADING...
reasons-investors-should-hold-gold-portfolio

หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้สินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของทรัมป์รวมถึงพรรครีพับลิกัน เช่น หุ้นสหรัฐฯ Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ราคาทองคำกลับปรับตัวลดลง เนื่องจากทรัมป์ให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศในรูปแบบ ‘โดดเดี่ยวนิยม’ (Isolationism) และ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) ซึ่งเน้นการแก้ไขปัญหาภายในประเทศเป็นหลัก นโยบายดังกล่าวของทรัมป์ทำให้กิจการต่างประเทศของสหรัฐฯ เกิดภาวะชะงักงัน อีกทั้งความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มลดลงภายใต้การบริหารของทรัมป์ 

 

จากข้อมูลของ Citi Research ราคาทองคำลดลง -4.1% ภายในหนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้ง ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นเหนือระดับ 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง โดยเรามองว่าช่วงเวลาที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อสะสม เช่นเดียวกับมุมมองของ Citi Research ที่ให้ราคาเป้าหมายของทองคำในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าที่ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ในมุมของนโยบายการเงินเรามองว่า สภาพแวดล้อมที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย (Non-Interest-Bearing Asset) เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ความน่าสนใจของทองคำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทองคำยังคงมีความน่าสนใจในการเข้าลงทุนในมุมมองของเราคือ การที่ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะทุนสำรองอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ธนาคารกลางส่วนใหญ่เป็นผู้ขายทองคำสุทธิ (Net Sellers) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเติบโตแข็งแกร่ง ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจึงลดลง แต่ภาพเริ่มเปลี่ยนไปหลังเกิดวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis: GFC) ในปี 2008 เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกหันมาซื้อทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ซื้อทองคำสุทธิ (Net Buyers) 

 

โดยในแต่ละปีมีการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นในระดับ 400-700 ตันจนถึงสิ้นปี 2021 และตัวเลขการซื้อทองคำในฐานะทุนสำรองยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาธนาคารกลางทั่วโลกสะสมทองคำเพิ่มขึ้นในปริมาณที่เกือบเท่ากับปริมาณทองคำสำรองของสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 8,134 ตัน ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีทองคำสำรองมากที่สุดในโลก 

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการซื้อทองคำของธนาคารกลางเกิดจากการสิ้นสุดของ Central Bank Gold Agreement (CBGA) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กำหนดปริมาณการขายทองคำของธนาคารกลางขนาดใหญ่ เริ่มใช้งานในปี 1999 และสิ้นสุดลงในปี 2019 โดยไม่มีการต่ออายุ ข้อตกลงนี้สะท้อนถึงความต้องการขายทองคำที่ลดลงอย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้ทองคำยังเป็นที่ต้องการเนื่องจากมีบทบาทสำคัญในฐานะสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าในระยะยาว ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ให้ผลตอบแทนดีในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และไม่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ทองคำยังทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นปัจจัยเร่งการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลก เนื่องจากธนาคารกลางในหลายประเทศต้องการเพิ่มการกระจายการถือครองสินทรัพย์ (Asset Diversification) และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-Dollarization) มากขึ้น เป็นผลจากความกังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรที่นำโดยสหรัฐฯ ต่อรัสเซียและประเทศพันธมิตรในสงครามยูเครน จากการที่ประเทศตะวันตกยึดทรัพย์สินของรัสเซียมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้แต่ชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็ยังกังวลว่าอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศที่สาม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการถือครองสินทรัพย์ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐหรือสกุลเงินตะวันตก ส่งผลให้ในปี 2022 และ 2023 ธนาคารกลางทั่วโลกได้ซื้อทองคำสุทธิ 1,081.9 ตัน และ 1,037.4 ตัน ตามลำดับ และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางทั่วโลกได้เข้าซื้อทองคำสุทธิถึง 694 ตัน

 

ความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครน

 

นอกจากนี้จากข้อมูลของ UBS เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ทุนสำรองของธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนา มีการถือครองทองคำน้อยกว่าประเทศในตลาดพัฒนาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ จากบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก มีเพียง 3 ประเทศจาก 10 อันดับแรกที่ถือครองทองคำมากที่สุดที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ รัสเซีย จีน และอินเดีย ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ (Large Emerging Countries) เช่น ซาอุดีอาระเบีย บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ กลับไม่ได้อยู่ในรายชื่อ 15 อันดับแรกของประเทศที่ถือครองทองคำมากที่สุด และโดยเฉลี่ย ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนการถือครองทองคำในทุนสำรองที่ 29% ขณะที่ธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนการถือครองทองคำในทุนสำรองเพียง 16% 

 

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสภาทองคำโลก หากธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่เพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำให้เท่ากับ 29% เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องมีการซื้อทองคำเพิ่มอีกราว 29,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตทองคำทั่วโลกในระยะเวลา 10 ปี หรือคิดเป็น 15% ของทองคำทั่วโลกในปัจจุบัน

 

ดังนั้นเราคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะทุนสำรองต่อไป และจากผลสำรวจ Central Bank Gold Reserves (CBGR) ประจำปี 2024 จัดทำระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2024 ซึ่งเป็นการสำรวจที่ดำเนินการโดยสภาทองคำโลก เพื่อติดตามความคิดเห็นและข้อมูลเชิงลึกจากธนาคารกลางทั่วโลก เกี่ยวกับการจัดการและการถือครองทองคำในฐานะส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ พบว่า 29% ของธนาคารกลางที่ตอบแบบสำรวจมีแผนเพิ่มปริมาณทองคำสำรองในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจนี้ในปี 2018 สอดคล้องกับรายงาน Gold and the New World Disorder” ของ Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2024 รายงานดังกล่าวระบุว่า หากธนาคารกลางทั่วโลกยังคงรักษาระดับการซื้อทองคำในปัจจุบันต่อไป ปริมาณทองคำสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 38,300 ตันภายในสิ้นปี 2026 ซึ่งเทียบเท่ากับจุดสูงสุดในปี 1965 อันเป็นช่วงเวลาที่ทองคำมีบทบาทสำคัญที่สุดในระบบการเงินโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับธนาคารกลางทั่วโลก แต่ยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเรามองว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ในอีก 4 ปีข้างหน้า 

 

โดยนโยบายการกีดกันทางการค้าและการขึ้นกำแพงภาษีต่อประเทศคู่ค้าสำคัญอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงิน 

 

ดังนั้นการถือครองทองคำในสัดส่วน 5-10% ของพอร์ตการลงทุน จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงและป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนในอนาคต ทองคำไม่ใช่เพียงสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญเป็นอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ภาพ: kuppa_rock / Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X