เมื่อ ‘พื้นถิ่น’ และ ‘ต่างถิ่น’ ต้องอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน
LE LABO คือแบรนด์น้ำหอมที่มีชื่อเสียงเรื่องความใส่ใจในกระบวนการผลิตที่เป็นธรรมชาติและเรียบง่าย ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงไปจนถึงการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร แน่นอนว่าร้านใหม่ของแบรนด์นี้ที่เมืองเกียวโตจึงเป็นสถานที่ที่ไม่ใช่แค่ร้านขายน้ำหอมปกติธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสารที่ลึกซึ้งในยุคสมัยที่ผู้คนแสวงหาประสบการณ์เฉพาะ LE LABO เลือกใช้ความเรียบง่ายและปรัชญา ‘วะบิ ซะบิ’ มาสะท้อนให้เห็นว่าความธรรมดานั้นงดงามเพียงใด
เกียวโต เมืองที่โด่งดังในฐานะศูนย์กลางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของบ้านไม้โบราณหรือ ‘มาจิยะ’ ซึ่งมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมจากการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้และกระดาษ ประเพณีการก่อสร้างแบบนี้เป็นตัวแทนของความคิดแบบเซน ที่เน้นความเรียบง่ายและความสมดุลตามธรรมชาติ Schemata Architects ได้รับมอบหมายจากครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ LE LABO ให้ปรับปรุงมาจิยะหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1879 โดยให้คงไว้ซึ่งโครงสร้างดั้งเดิม แต่เสริมด้วยรายละเอียดร่วมสมัยและใส่ใจในวิถีพื้นถิ่น
งานนี้ฝาผนังเก่าขรุขระจึงถูกปล่อยไว้ให้แสดงร่องรอยของกาลเวลา สะท้อนถึงการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ผนวกกับการเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นเช่นไม้และทองแดงในดีเทลต่างๆ ทำให้ร้าน LE LABO ที่เกียวโตมีสัมผัสเรียบง่ายและเป็นกันเองอย่างพิเศษ แตกต่างจากความหรูหราที่เข้าถึงยากของร้านน้ำหอมแบรนด์ใหญ่อื่นๆ
หนึ่งในความท้าทายสำคัญของโปรเจกต์นี้คือการรวมเอาอัตลักษณ์ของแบรนด์ LE LABO ที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม ‘ใส่รองเท้าในบ้าน’ มาปรับใช้ในบริบทของญี่ปุ่นที่เน้นการ ‘ถอดรองเท้าก่อนเข้าสู่พื้นที่ภายใน’ โดย Jo Nagasaka ผู้ก่อตั้ง Schemata Architects ชี้ให้เห็นถึงความยากของการออกแบบครั้งนี้ว่า การสร้างสรรค์พื้นที่ให้สะท้อนทั้ง ‘วัฒนธรรมพื้นถิ่น’ และ ‘อัตลักษณ์ต่างถิ่น’ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
Jo Nagasaka กล่าวอีกว่า ร้าน LE LABO สาขาอื่นจะนิยมใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเปิดโล่ง เน้นลุคดิบกร้าว ตรงไปตรงมา ใช้วัสดุเหล็กรีดร้อนและเฟอร์นิเจอร์วินเทจเป็นหลัก แต่ลุคที่ว่านั้นมันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสุนทรียะภายในบ้านโบราณแบบญี่ปุ่น “การออกแบบร้านที่เกียวโตต้องคำนึงถึงบริบทของบ้านมาจิยะที่มีโครงสร้างและสไตล์ต่างจากอาคารคอนกรีตของสาขาอื่นอย่างมาก ทำให้เราเกิดคำถามมากมายว่าจะสร้างสมดุลระหว่างสองวัฒนธรรมนี้อย่างไร”
ในกระบวนการรีโนเวตและวางแผนพื้นที่ใช้สอย ทุกดีเทลได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด ตั้งแต่การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในห้องเสื่อทาทามิ การเลือกความสูงของชั้นวางสินค้าให้เหมาะสมกับความสงบของบ้านญี่ปุ่น ไปจนถึงการวางรูปแบบแสงภายในบ้านโบราณ (ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยยังไม่มีไฟฟ้าใช้) ซึ่งหากสังเกตให้ดีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านทั้งหมดจะสะท้อนถึงการหลอมรวมสองวัฒนธรรมไว้อย่างแยบยล เช่นการเลือกแมตช์เครื่องเรือนโบราณของญี่ปุ่นกับโคมไฟวินเทจสไตล์ตะวันตก ฯลฯ
ภายในร้านยังมีการจัดพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงศิลปะและความสร้างสรรค์เข้ากับความรู้สึกของผู้เยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นห้องทดลองน้ำหอมที่ทำจากไม้ท้องถิ่น ให้กลิ่นอายธรรมชาติ หรือมุมคาเฟ่ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแบบดั้งเดิม เปิดให้ผู้คนได้สัมผัสกับศิลปะการชงชาแบบญี่ปุ่น และเรียนรู้ถึงวิถีความงามในความเรียบง่ายที่แท้จริง
การเข้าไปสัมผัสบรรยากาศสงบภายในร้าน LE LABO KYOTO MACHIYA จะทำให้คุณรู้สึกถึงการหลบหนีจากความวุ่นวายของชีวิตประจำวันเข้าสู่ความธรรมดาที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน และไม่ใช่แค่การออกแบบพื้นที่เพื่อตอบโจทย์การจับจ่ายสินค้าเท่านั้น แต่มันคือการสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำ เป็นความหรูหราที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งของราคาแพง แต่เกิดจากการได้เชื่อมโยงกับศิลปะ ปรัชญา และภูมิปัญญา จากยุคอดีตที่ยังคงงดงามจนถึงปัจจุบัน
ภาพ: LE LABO