×

เบื้องหลังการปลด แดน แอชเวิร์ธ เกมอำนาจภายในแมนฯ ยูไนเต็ด

09.12.2024
  • LOADING...
เบื้องหลังการปลด แดน แอชเวิร์ธ เกมอำนาจภายใน แมนฯ ยูไนเต็ด

หลังความพ่ายแพ้สุดช็อกคารังโอลด์แทรฟฟอร์ดต่อน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการแพ้ 2 เกมติดต่อกัน แต่ยังเป็นการแพ้คาบ้านครั้งแรกของ รูเบน อโมริม บอสใหญ่คนใหม่ด้วย ได้มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นใน ‘โรงละครแห่งความฝัน’

 

ข่าวนั้นถือว่าสั่นสะเทือนภายในองค์กรพอสมควร เมื่อ แดน แอชเวิร์ธ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของสโมสร ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘ผู้ถือกุญแจแห่งอนาคต’ ของแมนฯ ยูไนเต็ด ถูกปลดจากตำแหน่ง – แม้จะให้เหตุผลที่ไม่รุนแรงว่าเป็นการ ‘ตกลงเห็นชอบร่วมกัน’ – ทั้งๆ ที่เพิ่งจะมาทำงานได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น

 

และทั้งๆ ที่พยายามแทบตายกว่าจะได้ตัวมาจากนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ซึ่งต้องอดทนรอช่วง Gardening Leave ใช้ความพยายามในการเจรจาที่ใช้เวลานานพอๆ กันถึง 4-5 เดือน ก่อนที่สุดท้ายจะยอมจ่ายเงินชดเชยให้สโมสรคู่แข่งร่วมพรีเมียร์ลีกถึง 2.5 ล้านปอนด์ ซึ่งไม่น้อยสำหรับผู้บริหารสโมสรคนหนึ่ง

 

การแยกทางกันครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากจะเข้าใจ

 

รวมถึงเป็นการตัดสินใจที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในแมนฯ ยูไนเต็ด ภายใต้การบริหารของ INEOS ที่น่ากังวล

 

 

ชื่อของ แดน แอชเวิร์ธ ในวงการฟุตบอลอังกฤษ ถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมวงการอย่างมาก

 

ผลงานที่โดดเด่นที่หลายคนจดจำกันได้คือการวางรากฐานแนวทางในการบริหารจัดการทีมฟุตบอลของไบรท์ตันแอนด์โฮฟอัลเบียน สร้าง Business Model ที่ยั่งยืนด้วยการนำวิธีการสมัยใหม่มาใช้ เช่น การใช้ Data Analysis วิเคราะห์ข้อมูลนักฟุตบอลอย่างละเอียดว่าควรจะซื้อผู้เล่นแบบไหน คนไหน และทีมควรจะเล่นฟุตบอลในสไตล์ไหน

 

ถ้าเปรียบเป็นการปลูกต้นไม้ ไบรท์ตันก็เป็นต้นไม้ที่เติบโตอย่างแข็งแรงยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงภายในทีมไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผู้จัดการทีม เปลี่ยนโค้ช ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงผู้เล่น เหมือนเป็นแค่การตัดกิ่ง ก้าน ใบ

 

ยิ่งตัดก็ยิ่งโต ยิ่งใหญ่ ให้ร่มเงาได้มากขึ้น

 

แต่ความจริงแอชเวิร์ธไม่ได้โดดเด่นแค่กับไบรท์ตัน เพราะก่อนหน้านั้นเคยผ่านการทำงานกับหลายที่ รวมถึงสมาคมฟุตบอล (FA) ซึ่งหนึ่งในผลงานที่สำคัญคือการวางรากฐานโครงสร้างฟุตบอลเยาวชนในอังกฤษภายใต้โครงการ ‘England DNA’ ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และผลิดอกออกผลมากมายในปัจจุบัน

 

ชื่อเสียงเหล่านี้เองที่ทำให้นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ไปฉกผู้บริหารฝีมือดีมีวิสัยทัศน์มาจากไบรท์ตันในปี 2022

 

ก่อนที่จะโดนแมนฯ ยูไนเต็ด ทำแบบเดียวกันในปีนี้ ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเพราะแอชเวิร์ธดันเกิดลั่น ใช้อีเมลที่ทำงานส่งเรื่องการถูกทาบทามไปร่วมงานในสโมสรอื่น จนเป็นเหตุให้นิวคาสเซิลไม่พอใจอย่างมากและมีการคาดโทษ จนนำไปสู่การหยุดปฏิบัติหน้าที่ (แต่จะได้รับเงินเดือนตามปกติตามสัญญาที่เหลือ)

 

โดยที่เขาเป็นคนที่ INEOS ในฐานะเจ้าของร่วมของแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการสโมสรฟุตบอลเต็มระบบจากครอบครัวเกลเซอร์ เชื่อว่าจะสามารถวางรากฐานนำปีศาจแดงกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

 

 

แต่แค่ 5 เดือนให้หลัง แอชเวิร์ธกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงคนแรกที่ต้องกระเด็นจากตำแหน่ง

 

ข่าวเรื่องนี้สร้างความตื่นตะลึงอย่างมากภายในวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะอย่างที่บอกว่าแอชเวิร์ธถือเป็นหนึ่งใน ‘ไดเรกเตอร์’ ที่เก่งที่สุดในประเทศ เป็นมือทำงานที่มีประสบการณ์สูง และแมนฯ ยูไนเต็ด ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวมาให้ได้

 

สุดท้ายกลับเขี่ยทิ้งหน้าตาเฉย

 

โดยคนที่แจ้งข่าวเรื่องนี้ให้กับเขาคือ โอมาร์ เบอร์ราดา ซีอีโอของสโมสร – อีกหนึ่งคีย์แมนที่ INEOS ไปกระชากตัวมาจาก City Football Group ของแมนฯ ซิตี้ – ในช่วงหลังจบเกมที่แมนฯ ยูไนเต็ด แพ้ให้แก่ฟอเรสต์ที่โอลด์แทรฟฟอร์ด

 

ตามรายงานจาก The Athletic ระบุว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แอชเวิร์ธไปชมเกมของทีมชุดอายุต่ำกว่า 21 ปีก่อน และตามมาชมเกมกับฟอเรสต์ที่โอลด์แทรฟฟอร์ด โดยอยู่ในชั้นผู้บริหารตามปกติ

 

แต่หลังจบเกมราว 20 นาที ผู้อำนวยการสโมสรปีศาจแดงเดินลัดใต้อัฒจันทร์ผ่านห้องแถลงข่าว โดยมี คอลเล็ตต์ โรช หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการสื่อ เดินไปด้วยกัน เพื่อไปยังห้องทำงานของเบอร์ราดา

 

ที่นั่นแอชเวิร์ธได้รู้ชะตากรรมของเขาว่าสโมสรตัดสินใจปลดเขาออกจากตำแหน่งแล้ว

 

เพียงแต่สำหรับเจ้าตัวเอง เรื่องนี้เป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา เขาพบว่าการทำงานในโรงละครแห่งความฝันไม่ได้สวยงามเหมือนความฝัน

 

โดยเฉพาะกับ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เจ้าของ INEOS

 

เซอร์จิมไม่ได้เป็นแค่เจ้าของ INEOS แต่เป็นมหาเศรษฐีชาวอังกฤษผู้ที่ร่ำรวยที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือเป็นแฟนบอลของแมนฯ ยูไนเต็ด ตัวยงด้วย แพสชันตรงนี้คือสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจกระโดดเข้ามาซื้อหุ้นของสโมสรเพื่อหวังจะกอบกู้ทีมที่ตกต่ำให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

ถึงขนาดที่ต่อให้เทกโอเวอร์กิจการทั้งหมดไม่สำเร็จก็ขอซื้อหุ้นบางส่วน (29%) เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการบริหารกิจการทั้งหมด โดยจะยกทีม INEOS Sport ฝ่ายบริหารกิจการทีมกีฬาที่อยู่ในเครือ ซึ่งครอบครองทีมกีฬาหลากหลาย ทั้งทีมจักรยาน ทีมเรือใบ ไปจนถึงทีมฟุตบอล เข้ามาดูแลต่อให้เอง

 

คนที่ได้รับมอบหมายจากเซอร์จิมให้เข้ามาดูแลในด้าน ‘งานกีฬา’ เป็นหลักคือ เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด อดีตนักปั่นจักรยานระดับตำนานของอังกฤษ เจ้าของทฤษฎีกีฬาอันโด่งดัง ‘Marginal Gains’ หรือการทำให้ดีขึ้นวันละนิด ที่หากทำต่อเนื่องยาวนานก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งเป็นหลักทฤษฎีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่องของโลก

 

เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด, โอมาร์ เบอร์ราดา และแดน แอชเวิร์ธ จึงดูคล้ายการรวมตัวกันของเหล่าสุดยอดฝีมือของวงการที่เปรียบเหมือนเป็น ‘The Avengers’ ที่จะพาแมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาผงาดอีกครั้ง

 

 

แต่ปัญหาคือการทำงานมันไม่ได้สวยงามแบบนั้น

 

ความแตกต่างทางความคิดระหว่างแอชเวิร์ธกับคนอื่นๆ มีให้เห็นตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงาน โดยเฉพาะกับเซอร์จิม

 

และภาพสะท้อนของความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือการเลือกคนที่จะมาทำงานเป็นผู้จัดการทีม (aka โค้ช) ของสโมสรคนใหม่ ซึ่งมีการโยนคำถามนี้จากเซอร์จิมให้แอชเวิร์ธแสดงความเห็นว่า เขาคิดว่าใครคือคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้ หากจะต้องปลด เอริก เทน ฮาก จริงๆ ในช่วงฤดูร้อน

 

ตัวเลือกจากแอชเวิร์ธ – ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เริ่มงานอย่างเป็นทางการ – ประกอบไปด้วย เอ็ดดี ฮาว (นิวคาสเซิล), มาร์โก ซิลวา (ฟูแลม) และ โธมัส แฟรงก์ (เบรนท์ฟอร์ด) ซึ่งเป็น 3 ผู้จัดการทีมที่ทำผลงานโดดเด่นกับทีมที่มีขนาดเล็กถึงกลาง มี ‘ลายเซ็น’ ในการทำงานที่ชัดเจน

 

อีกคนคือ เกรแฮม พอตเตอร์ ที่มีส่วนช่วยปลูกปั้นจนได้ก้าวหน้าไปเป็นบอสใหญ่ของเชลซี แม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

 

แต่ตัวเลือกเหล่านี้ไม่โดนใจสำหรับเซอร์จิมที่ต้องการคนที่โดดเด่นกว่านี้ ที่จะสามารถแบกรับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการกอบกู้สโมสรที่ใหญ่ที่สุดทีมหนึ่งของโลกอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด เขาคาดหวังว่าแอชเวิร์ธจะมีอินไซต์มากกว่านี้ในการนำเสนอบุคคลที่โดดเด่นในวงการ ไม่ใช่แค่คนรู้จัก

 

ไม่นับเรื่องที่แอชเวิร์ธพยายามนำเสนอบริษัท Data Analytics เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นการทำงานในสไตล์ของเขา แต่เซอร์จิมไม่ปลื้มกับเรื่องนี้และปัดตกไอเดีย

 

เรื่องนี้ทำให้เราประกอบจิ๊กซอว์กันได้ว่า ทำไมแมนฯ ยูไนเต็ด ถึงลังเลที่จะปลดเทน ฮาก ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา แถมยังต่อสัญญาฉบับใหม่ให้เป็นรางวัล ก่อนจะตัดสินใจปลดเขาออกจากตำแหน่งในอีก 4 เดือนให้หลัง

 

ก่อนจะรีบร้อนแต่งตั้ง รูเบน อโมริม ด้วยการกระชากตัวมาจากสปอร์ติง ลิสบอน ตั้งแต่กลางฤดูกาล ทั้งๆ ที่อโมริมวิงวอนขอทำงานกับสโมสรก่อนจนจบฤดูกาลแล้วจะมาเต็มตัวในฤดูกาลหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่รักษาการผู้จัดการทีมอย่าง รุด ฟาน นิสเตลรอย ก็ทำผลงานได้ดีอย่างน้อยใน 4 เกมที่ทำงาน ชนะ 3 เสมอ 1 และทุกอย่างกำลังกลับมาดูลงตัวอีกครั้ง

 

แอชเวิร์ธ แม้จะมีชื่อเป็นผู้ที่ไปร่วมนำตัวอโมริมมา แต่คนตัดสินใจคือเซอร์จิม โดยที่มีเบอร์ราดาเป็นผู้ดำเนินการให้บินไปเจรจากับสปอร์ติง ลิสบอน ด้วยตัวเอง ซึ่งอดีตผู้บริหารจาก City Football Group ดูจะทำงานได้ประทับใจเจ้าของสโมสรมากกว่าในหลายเรื่อง

 

โดยที่เจ้าตัวก็ไม่ปลื้มกับสิ่งที่เกิดขึ้นนัก

 

เหมือนถูกชวนมาทำงานในแบบหนึ่ง แต่ได้ทำงานในอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้เลย

 

 

ตรงนี้เป็นสัญญาณอันตรายที่หลายคนจับตามอง เพราะการที่เจ้าของสโมสรอย่างเซอร์จิมลงมา ‘ล้วงลูก’ บริหารเองในแบบ Micro Management เช่นนี้ ไม่เป็นผลดีกับองค์กรอย่างแน่นอน

 

โดยที่มีเพียงเซอร์เดฟคนเดียวที่กล้าจะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาในฐานะคนที่ทำงานร่วมกันมานาน ขณะที่คนอื่นไม่มีใครกล้าขัดหรือแย้งมากนัก 

 

เบอร์ราดาเองในบทบาทของซีอีโอสโมสรก็ทำงานคาบเส้นกันระหว่างการบริหารด้านตัวเลขการเงินกับงานด้านฟุตบอล ซึ่งทับทางกับแอชเวิร์ธ

 

โดยที่เรายังไม่ได้พูดถึงตัวละครอื่นๆ จาก INEOS Sport ที่ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ภายในทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ด้วย ซึ่งทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงที่ผ่านมาเหมือนเป็น ‘หนึ่งสโมสร สองระบบ’ 

 

คือมีทั้งระบบของสโมสรเองและระบบของ INEOS ซึ่งสร้างความสับสนให้แก่คนทำงานภายในสโมสร และนำไปสู่การตัดสินใจที่ดูย้อนแย้งในหลายเรื่องที่ถูกตั้งคำถามจากแฟนบอล Red Army ไม่ว่าจะเป็น

 

  • การไม่ยอมปลดเทน ฮาก ต่อสัญญาให้ แล้วค่อยมาปลดในภายหลัง เสียเงินชดเชยก้อนใหญ่ขึ้น
  • การปลดสตาฟฟ์ 250 คน 
  • การลดสวัสดิการหลายอย่างของสตาฟฟ์สโมสร
  • การสั่งให้กลับมาทำงานที่สโมสร ไม่ให้ทำงานในระบบ Remote อีก
  • การขอยกเลิกสัญญาทูตสโมสรของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โดยอ้างว่าต้องการประหยัดงบประมาณปีละ 2.5 ล้านปอนด์
  • การขึ้นค่าตั๋วเข้าชมสำหรับเยาวชน
  • การปล่อยปละละเลยทีมฟุตบอลหญิงของสโมสร

 

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจแยกทางกับแอชเวิร์ธครั้งนี้อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะรั้งหรือยื้อกันไว้ ในเมื่อแนวทางการทำงานไม่เป็นไปแบบเดียวกันเลย

 

ฝ่ายหนึ่งถนัดการวางโครงสร้าง

 

อีกฝ่ายกลับดูต้องการเร่งรัดให้ทุกอย่างสำเร็จรวดเร็วที่สุด

 

คิดคนละทาง ทำคนละแบบ แยกทางกันก็น่าจะเป็นหนทางที่ถูก และเป็นบทเรียนให้ได้เรียนรู้ทั้งสองฝ่ายว่า ก่อนที่จะตกลงร่วมงานกัน ควรศึกษากันอย่างจริงจังก่อนว่าความคิด ความเชื่อ แนวทางในการทำงานนั้นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

 

เพราะไม่ใช่แค่เสียเงินทอง แต่เป็นการเสียเวลาสำหรับทั้งสองฝ่ายด้วย

 

สำหรับแมนฯ ยูไนเต็ด ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะแต่งตั้งใครมาทำงานแทนหรือไม่ แต่ก็ยังมี เจสัน วิลค็อกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอล และ คริสโตเฟอร์ วิเวลล์ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย Recruitment ที่ทำงานทดแทนได้ รวมถึงยังมีเบอร์ราดาและเซอร์เดฟที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ – หรือปฏิบัติตามการตัดสินใจของเซอร์จิมได้

 

ขณะที่แอชเวิร์ธ คาดว่ายังมีโอกาสกลับมาทำงานกับสโมสรอื่นต่อไป อาร์เซนอลเองก็มองหาคนทำงานแทนเอดูที่จะอำลาตำแหน่งหลังจบฤดูกาลด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising