วันนี้ (3 ธันวาคม) ที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร วิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของ บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ต้องหาคดีดิไอคอนกรุ๊ป เปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมบอสพอลว่า วันนี้ตนได้ยื่นคำให้การของบอสพอล และบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ในคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีการดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก หรือแชร์ลูกโซ่ดิไอคอนกรุ๊ป ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เรียบร้อยแล้ว
เนื้อหาภายในจะเป็นรายละเอียดคำให้การข้อต่อสู้ต่อข้อกล่าวหาที่ถูก DSI แจ้งไว้ อาทิ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 โดยให้การไปว่า Dealer Gets Dealer ในความหมายจริงคืออะไร เพราะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปให้ความหมายไว้มองว่าเป็นเท็จและไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้หมายความว่าตัวแทนรายหนึ่งแนะนำตัวแทนใหม่เข้ามาแล้วจะได้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท หรือคิดเป็นอัตรา 4% ต่อเดือน หรือหนึ่งปีคิดเป็นร้อยละ 48
วิฑูรย์กล่าวว่า ส่วนนี้เราให้การไปว่าไม่ใช่ความจริง แต่ความจริงเป็นการแนะนำให้ตัวแทนรายใหม่เข้ามาแล้วได้ค่าตอบแทนเหมือนกับเป็นค่านายหน้า เช่นได้ 10,000 บาท ในอัตราดีลเลอร์ 250,000 บาท ก็เท่ากับ 4% แต่เป็นการได้ครั้งเดียว ไม่ใช่ได้ทุกเดือนตามที่ สศค. ได้ให้การไว้ ซึ่งตรงนี้เป็นการให้การเท็จ เราได้ชี้แจงพร้อมเอกสารประกอบ ซึ่งเป็นเอกสารชุดเดียวกับที่ยื่นให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) จำนวนหนึ่งลัง ทั้งนี้ ตนมองว่าการที่ DSI รับฟังความเห็นของ สศค. เป็นการรับฟังโดยสุจริต หากพยานของ สศค. ไม่ให้การ DSI ก็คงแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้
วิฑูรย์กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการแก้ข้อกล่าวหาเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้การว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไม่ได้ขายสินค้า แต่หาสมาชิกเป็นหลัก และลักษณะเป็นการสร้างเครือข่ายนั้น เราให้การว่าไม่ได้เป็นการสร้างเครือข่าย โดยเรานำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่มีข้อเท็จจริงคล้ายกันกับเรามาเทียบเคียงเพื่อทำคำให้การต่อสู้ทางคดี
เรายืนยันว่าไม่ได้เป็นการทำธุรกิจเป็นเครือข่ายตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เพราะตามมาตราดังกล่าวระบุว่าจะต้องได้ค่าตอบแทนจากอัตราเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในความจริงได้เงินแค่ 10,000 บาท เป็นค่านายหน้า และคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวที่นำมาเทียบเคียงในกรณีของดิไอคอนกรุ๊ป ทราบว่ามีการยกฟ้องเพราะฟังไม่ได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่าย
วิฑูรย์เผยต่อว่า อีกข้อกล่าวหาที่เราทำคำชี้แจง คือการประกอบกิจการธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เรามีหลักฐานอยู่แล้วว่า สคบ. วินิจฉัยว่าธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ปเป็นตลาดแบบตรง เพราะเราเคยไปยื่นขอเป็นขายตรง แต่เขายืนยันว่ารูปแบบธุรกิจเป็นตลาดแบบตรง ซึ่งเป็นคำสั่งของ สคบ. ที่ 4/ 2565 ค่อนข้างชัดเจน เป็นเอกสารหลักฐานครบทุกอย่าง จึงนำเอาเอกสารทั้งหมดยื่นให้ DSI ทั้งนี้ ทราบว่าผู้ต้องหาบอสรายอื่นก็ยืนยันคำให้การคล้ายบอสพอล จึงยื่นแค่รายเดียว
กรณีการนำพยานของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กว่า 2,000 รายเข้าให้ปากคำกับ DSI เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาบอส วิฑูรย์กล่าวว่า ตอนแรกตนส่งบันทึกคำให้การของเหล่าพยานไปให้ DSI แล้วเกือบ 500 ราย วันนี้ส่งเพิ่มเติมอีกหลายร้อยราย และในช่วง 16.00 น. มีการส่งเพิ่มเติมอีกเพราะพึ่งได้เอกสารมา
ส่วนพยานที่มาให้ปากคำมีการปรับรูปแบบใหม่ โดย DSI ขอให้เป็นตัวแทน ตนจึงได้ส่งตัวแทนไปเป็นสายบอส บอสละ 5 คน ซึ่งในส่วนที่ตนรับผิดชอบอยู่ส่งไป 30 คน ส่วนบอสท่านอื่นที่มีทนายอยู่แล้วส่งกี่คนตนไม่ทราบ แต่ส่วนของตนมีการสอบปากคำไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พฤศจิกายน) สอบไป 5 ราย วันจันทร์ที่ผ่านมา (2 ธันวาคม) สอบไป 12 ราย วันนี้สอบไปอีก 13 ราย รวมแล้วน่าจะประมาณหนึ่งพันราย
วิฑูรย์กล่าวถึงการยื่นประกันตัวบอสผู้ต้องหาว่า หลังจากที่มีการสรุปสำนวนของ DSI แปลว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานไม่ได้ ส่วนเรื่องหลบหนี ประเทศไทยมีศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (ศูนย์ JSOC) ที่จะติดตามพฤติกรรมของคนที่ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) หากจะเคลื่อนไหวไปชายแดนหรือที่ใด กำไร EM จะระบุพิกัดว่าอยู่ตรงไหน
ส่วนหลักทรัพย์การยื่นขอประกันตัวชั่วคราวอาจมีมูลค่า 2 ล้านบาทตามที่กลุ่มบอสดาราเคยยื่นขอต่อศาล ทั้งนี้ ตนได้บอกบอสพอลแล้วว่า สามารถ เจนชัยจิตรวนิช เข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว บอสพอลก็ถามว่าสามารถถูกดำเนินคดีอะไร ตนก็บอกว่าคดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินจากคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด แต่บอสพอลก็ไม่ได้แสดงอะไรเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ยืนยันว่าบอสพอลไม่ได้เจอ ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เพราะเรือนจำแยกไม่ให้เจอกัน