ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เตือนว่าเศรษฐกิจปีหน้ามีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น ธปท. จึงจะดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น รองรับได้หลายสถานการณ์ (Robust Policy) พร้อมยึดหลักการประเมินความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (Outlook Dependent)
วันนี้ (3 ธันวาคม) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา หัวข้อ Thailand Next Move 2025 ซึ่งจัดโดยวารสารการเงินธนาคาร โดยเตือนว่า เศรษฐกิจปีหน้า (ปี 2025) จะเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงและอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง (Unintended Consequences) ดังนั้น ธปท. จึงจะดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น รองรับได้หลายสถานการณ์ (Robust Policy)
โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพและรักษาทางเลือกในการดำเนินนโยบายต่างๆ ไว้ พร้อมๆ กับการใช้เครื่องมือแบบผสมผสาน (Integrated Policy Framework) กล่าวคือ การใช้ดอกเบี้ยนโยบายเสริมหรือควบคู่ไปกับนโยบายอื่นๆ
ดร.เศรษฐพุฒิ ยกตัวอย่างผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง (Unintended Consequences) ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญในปีที่ผ่านมาคือ ภาวะการค้าและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะมีความแตกแยกออกจากกันมากขึ้น (Geoeconomic Fragmentation) ควบคู่ไปกับภาวะที่เศรษฐกิจจีนโตช้า ทำให้จีนส่งออกสินค้ามาไทยมากขึ้น หรือทำให้ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะที่การผลิตและการบริโภคของไทยเริ่มแยกตัวออกจากกันมากขึ้น กล่าวคือแม้การบริโภคในประเทศจะโตต่อเนื่อง แต่การผลิตแทบไม่โต
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำว่า ภาวะดังกล่าวสะท้อนกลับมาว่าปัญหาเศรษฐกิจมาจากฝั่งอุปทาน (Supply) ค่อนข้างเยอะ มากกว่าฝั่งอุปสงค์ (Demand) พร้อมเตือนว่าการกระตุ้นแต่การบริโภคขณะที่การผลิตสินค้าไม่โตหรือโตไม่ดีเท่าที่ควร อาจทำให้ไทยนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นอีก
โดยการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรถ EV จากจีน กระทบต่อเรื่องอื่นๆ ด้วย รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ (1Q24)
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ประเมิน ‘ความเสี่ยง’ ที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว
อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า มีบางเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นสูงท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ได้แก่
– การค้าและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะมีความแตกแยกออกจากกันมากขึ้น (Geoeconomic Fragmentation) ซึ่งแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะยังดูไม่ออกอย่างชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเร็วและแรงมากแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายต่างๆ ที่กำลังจะมา แต่การค้าโลกน่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน กล่าวคือสัดส่วนการค้าโลกต่อการเติบโตของ GDP โลกน่าจะลดลง
– นโยบายต่างๆ ของเศรษฐกิจประเทศหลักจะมีความไม่ไปในทางเดียวกันมากขึ้น รวมถึงนโยบายการเงิน ซึ่งต่างจากช่วงโควิดที่นโยบายต่างๆ มักจะไปในทางเดียวกัน อาทิ การลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นโยบายการเงินในประเทศหลักมีความเร็วแตกต่างกัน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
ดร.เศรษฐพุฒิ ยังคาดด้วยว่า ภายใต้การบริหารของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คงจะมีการใช้นโยบายขึ้นภาษีศุลกากร (Tariff) ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่อการค้า อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ เชื่อว่าอัตราภาษีนำเข้าอาจเพิ่มขึ้นไม่สูงมากเท่าที่ประกาศออกมา
นอกจากนี้สหรัฐฯ ก็อาจจะลดภาษีในประเทศต่างๆ ซึ่งคงนำไปสู่การขาดดุลการคลัง พร้อมๆ กับการเนรเทศ (Deportation) ผู้ลักลอบเข้าเมือง
ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่านโยบายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เข้าสู่เป้าได้ยากขึ้น ทำให้แนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้เป็นดังที่คาดการณ์ไว้
ย้ำ ธปท. ยึดหลัก Outlook Dependent
ด้วยความไม่แน่นอนต่างๆ ดร.เศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า ธปท. ยึดหลักดำเนินนโยบายแบบประเมินความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (Outlook Dependent) ควบคู่กับหลักประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลล่าสุด (Data Dependent) แต่จะเน้นพิจารณาดู Outlook มากกว่า Data เนื่องจากข้อมูลต่างๆ มีความผันผวนและความไม่แน่นอน (Noise) มากกว่า ดังนั้นหากการตัดสินใจโดยพึ่งพาแต่ Data ก็อาจจะทำให้นโยบายขาดเสถียรภาพและอาจเพิ่มความไม่แน่นอนไปอีกด้วยซ้ำ