×

เรือประมงไทยถูกเรือรบเมียนมายิงอาจทำเกินกว่าเหตุ แต่ไทยถูกตั้งคำถามเรื่องความเข้มแข็ง

02.12.2024
  • LOADING...

เรื่องว้าแดงรุกล้ำเขตแดนไทยยังไม่ทันได้ข้อยุติก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้นมาอีกคือกรณีเรือรบของเมียนมายิงใส่เรือประมงของไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต (ตามรายงานคือจากการตกน้ำ) และสูญหายจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้น ยังมีการลากเรือประมงของไทยไปเก็บไว้และจับลูกเรือ 31 คน

 

กรณีนี้กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือชี้แจงภายหลังว่า เรือประมงของไทยจำนวนราว 15 ลำเข้าไปทำประมงล้ำเข้าไปในน่านน้ำของเมียนมาราว 4-5.7 ไมล์ทะเล ซึ่งถือว่าล้ำเข้าไปเกือบ 10 กิโลเมตรเลยทีเดียว พื้นที่ตรงนั้นแม้จะยังไม่มีการปักปันเขตแดนอย่างชัดเจน 100% แต่ถ้าทางการไทยสามารถพูดได้ว่าเรือประมงของไทยล้ำแดนไปยังฝั่งเมียนมาก็แปลว่าเรือประมงของไทยล้ำเข้าไปลึกจริงๆ แม้แต่เส้นที่ไทยยึดถือ

 

เรือประมงของไทยมีประวัติล้ำแดนเข้าไปทำประมงในหลายๆ ประเทศ อาจเป็นเพราะว่าเรือประมงไทยจับปลาในน่านน้ำไทยเสียเกือบหมด เลยต้องพยายามไปจับปลาในต่างประเทศ ซึ่งถ้าไปแบบถูกต้องก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปแบบไม่บอกไม่กล่าวแบบนี้ถือเป็นการรุกล้ำน่านน้ำของประเทศอื่น ซึ่งประเทศนั้นมีสิทธิที่จะจับกุมและยึดเรือเอาไว้ เช่นเดียวกับที่ไทยจับกุมและยึดเรือประมงของต่างชาติที่เข้ามาทำประมงในเขตน่านน้ำของไทย

 

ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะประสานขอรับตัวลูกเรือที่ถูกจับไปจำนวน 31 คนกลับประเทศ โดยแยกเป็นลูกเรือคนไทย 4 คน และลูกเรือเมียนมา 27 คน ซึ่งทางการไทยแสดงท่าทีว่าถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ยินดีให้กลับมาทำงานในประเทศไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน และต้องดูแลกวดขันไม่ให้เกิดการล้ำน่านน้ำซึ่งจะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดขึ้นมาอีก

 

เพราะในกรณีนี้ต้องยอมรับว่าทางเรือประมงของไทยเป็นฝ่ายพลาดก่อน เพราะเราไปล้ำแดนเขาเอง ดังนั้นก็ไม่ใช่กรณีที่เมียนมามารุกล้ำอธิปไตยหรือเข้ามาในน่านน้ำไทยและจับเรือประมงในน่านน้ำไทยไป

 

แต่คำถามที่น่าถามคือ การที่เรือประมงซึ่งเป็นเรือของพลเรือนถูกเรือรบเมียนมายิงจนได้รับความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่

 

เพราะโดยปกติแล้วแม้ว่าเรือรบหรือเรือยามฝั่งของแต่ละประเทศจะมีอำนาจหน้าที่และมีกฎหมายรับรองในการเข้าผลักดัน แจ้งเตือน หรือจับกุมเรือที่ละเมิดน่านน้ำเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ แต่โดยหลักสากลแล้วต้องมีการดำเนินการจากเบาไปหาหนัก เช่น วิทยุไปแจ้งเตือนก่อน ถ้าไม่หยุดก็อาจแสดงกำลังและนำเรือไปเดินเรือประกบ ถ้ายังไม่มีการตอบสนองก็อาจมีการยิงเตือน ซึ่งส่วนมากจะเป็นการยิงไปในบริเวณใกล้ๆ เรือหรือให้กระสุนตกลงในน้ำให้เรือเป้าหมายเห็นว่ามีการใช้อาวุธ ถ้ายังไม่หยุดอีกก็สามารถที่จะหยุดเรือและขึ้นเรือเพื่อเข้าดำเนินการจับกุมลูกเรือและลากเรือเข้าฝั่งเพื่อไปดำเนินคดีได้

 

แต่จากข้อมูลเท่าที่ปรากฏ หลายแหล่งใช้คำว่าเรือรบเมียนมากราดยิงเรือประมงของไทย ซึ่งมีทั้งการยิงถูกลำตัวเรือหรือยิงกระสุนเป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้ามาดูร่องรอยกระสุนที่กราบเรือก็มีรายงานว่าพบรอยกระสุนจำนวนมาก แปลว่ามีการจงใจยิงใส่เรือประมงไทยซึ่งเป็นเรือพลเรือน

 

ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์เพื่อใช้ในการดำเนินการต่อไป ซึ่งหลักฐานหาไม่ยาก เช่นตรวจดูในระบบระบุตำแหน่งของเรือ ซึ่งในปัจจุบันเรือประมงของไทยที่มีขนาดใหญ่จะต้องติดอุปกรณ์ระบุตำแหน่งของเรือตลอดเวลา นอกจากนั้น อาจสอบสวนลูกเรือที่ถูกจับไป รวมถึงหาพยานแวดล้อมข้างเคียง

 

ตรงนี้ถ้าเรือประมงของไทยไม่ได้ใช้อาวุธตอบโต้หรือไม่ได้ขัดขืนจนทำให้เกิดอันตรายหรืออาจเกิดอันตรายต่อเรือรบเมียนมา หรือแม้แต่ขัดขืนและหลบหนีก็ตาม ถ้าเรือรบของเมียนมาไม่ยิงเตือน แต่ยิงเข้าใส่เลย ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

 

การที่เรือของกองทัพยิงใส่เรือพลเรือนแบบนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะปกติ เพราะแม้เรือประมงไทยจะล้ำน่านน้ำ แต่ก็มีสถานะเป็นเรือพลเรือน การใช้อาวุธต่อพลเรือนมีข้อจำกัดจำนวนมาก ยิ่งในกรณีนี้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายด้วย ถือว่าได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

 

ดังนั้นแม้เรือของเราจะเป็นฝ่ายผิดก่อน แต่การดำเนินการของฝั่งเมียนมาถือว่าผิดหลักปฏิบัติที่นานาชาติยอมรับกัน ทางการไทยควรตอบโต้ตามขั้นตอน เช่น ทำหนังสือประท้วงไปตามช่องทางทางการทูต ทำบันทึกหรือสื่อสารในช่องทางการทหารว่าไทยไม่เห็นด้วยและขอประท้วงทางการเมียนมาที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ รวมถึงอาจพิจารณาแนวทางการตอบโต้อื่น เช่น เพิ่มการลาดตระเวนตามแนวเขตแดนของไทยและเมียนมา บังคับใช้กฎหมายทะเลอย่างเคร่งครัดกับเรือของเมียนมาถ้าเกิดการล้ำแดนไทย หรืออาจกดดันทางอ้อม ซึ่งมีหลายวิธี แต่ต้องออกแบบวิธีการไม่ให้การตอบโต้นั้นสร้างความเดือดร้อนให้ไทยเสียเอง อย่างเช่นการปิดด่าน ที่แม้ถ้าเกิดการปิดด่านทางฝั่งเมียนมาจะได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีสินค้าอุปโภคบริโภคใช้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทางฝั่งไทยก็จะเดือดร้อนเช่นกัน เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านั้นล้วนนำเข้าจากประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยต้องตอบโต้ในรูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากหลักฐานหลายอย่างชี้ไปว่าทางการเมียนมาทำเกินกว่าเหตุจริง

 

เพราะตอนนี้มีหลายคนกลับไปนึกถึงกรณีที่เครื่องบินขับไล่ MiG-29 ของกองทัพอากาศเมียนมาบินล้ำน่านฟ้าไทยเพื่อใช้อาวุธกับชนกลุ่มน้อย และมีชาวบ้านถูกลูกหลงจนทรัพย์สินเสียหาย แต่กองทัพอากาศไทยในตอนนั้นนอกจากจะบอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิดแล้ว ยังกลับชี้แจงว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แค่เพื่อนบ้านเดินลัดสนามหญ้าจะถึงขั้นต้องยิงกันเลยหรือ แถมยังกลับมาพูดถึงเงินซื้อเครื่องบินรบใหม่ต่อ ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นไม่ได้ซื้อเพราะสหรัฐอเมริกาไม่ขาย F-35 ให้

 

แต่ในกรณีนี้ เรือประมงไทยไปเดินลัดสนามหญ้าบ้านเขา แถมเป็นเรือพลเรือนด้วย เขากลับยิงเอาเลยจนนำไปสู่การเสียชีวิต

 

แน่นอนเราไม่ได้บอกว่าถ้ามีการล้ำน่านฟ้าหรือล้ำน่านน้ำไทยแล้วต้องยิงในทุกกรณี เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศกำหนดอยู่ และถ้าเราจะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นประเทศที่มีวุฒิภาวะมากกว่า ก็ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

แต่เราตั้งคำถามว่า ในขณะที่รัฐบาลและกองทัพไทยดูเหมือนจะพยายามเกรงใจประเทศรอบๆ บ้านของเรา แต่ประเทศเหล่านั้นไม่เห็นจะมีใครเกรงใจเราสักคน

 

มันก็เป็นคำถามว่า ท่าทีอ่อนโยนบอบบางแบบนี้ของรัฐบาลและกองทัพไทยเป็นท่าทีที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ และมันได้ผลจริงไหมในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

 

แน่นอนย้ำอีกครั้งว่า เราไม่ได้บอกว่าให้ใช้ความรุนแรงในทุกกรณี ไม่ได้บอกให้ใช้ความเป็นชาตินิยมแก้ปัญหาด้วยการทำสงครามกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น

 

แต่มันจะดีกว่าไหมถ้ารัฐบาลและกองทัพแสดงให้เห็นว่า แม้ในการดำเนินการปกติจะเป็นไปในลักษณะสันติวิธีและมีวุฒิภาวะ แต่ถ้าเราถูกละเมิดหรือล้ำเส้นบ่อยครั้ง เราก็พร้อมที่จะแสดงความเข้มแข็งอย่างเหมาะสมเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของไทย

 

เพราะไม่อย่างนั้นก็จะมีคนวกมาตั้งคำถามอีกว่า แล้วแบบนี้เราจะมีทหารไว้ทำไม? หรือซื้ออาวุธมาแล้วไม่ได้ใช้ แบบนี้จะซื้อไปทำไม?

 

ภาพ: Handout / Royal Thai Navy’s Third Naval Area Command / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X