คำว่า Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ถูกพูดถึงครั้งแรกในงานสัมมนาเมื่อปี 1956 ที่การประชุม Dartmouth Conference โดย John McCarthy หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่พยายามหาทางสร้างเครื่องจักรที่สามารถเลียนแบบสติปัญญาของมนุษย์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวก็ใช้เวลานานหลายทศวรรษไปกับการลองผิดลองถูกในห้องแล็บโดยนักวิจัยกลุ่มเล็กๆ
แต่หากย้อนกลับไปราว 2 ปีที่แล้ว ความตื่นตัวเรื่อง AI ของคนบนโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 มีบริษัทที่ชื่อว่า OpenAI เปิดตัวแชตบอตที่มีชื่อว่า ChatGPT ออกสู่สาธารณะ จุดประกายให้ผู้คน บริษัท รวมถึงรัฐบาลทั่วโลกหันมาพูดถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จาก AI และศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คุยกับซีอีโอ AWS เจาะเบื้องลึกแนวคิดเรียกคนกลับออฟฟิศ 5 วัน แม้พนักงานบางส่วนอาจลาออก
- องค์กรแห่ลงทุน AI พุ่ง 500% รายงานเผยส่วนแบ่งตลาด OpenAI ดิ่ง 16% ในปีเดียว ส่วน Claude ลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว
แม้ว่า AI จะเปิดประตูให้กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และมีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่หนึ่งประเด็นสำคัญที่จะปลดล็อกให้ผู้ใช้งานระดับองค์กรนำ AI มาใช้ คือการหาจุดสมดุลระหว่างการใช้นวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์และการกำกับดูแลโดยมนุษย์ หรือ Human-in-the-Loop (HITL) เพื่อให้มั่นใจว่า AI จะถูกใช้อย่างโปร่งใสตามหลักจริยธรรม และป้องกันความเสียหายของธุรกิจกับสังคม
THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของ Amazon Web Services (AWS) บริษัทผู้ให้บริการคลาวด์และผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Bedrock ที่ให้บริการเครื่องมือองค์กรสำหรับพัฒนา AI รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึง Mike Krieger ผู้ร่วมก่อตั้ง Instagram ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ Anthropic บริษัทสตาร์ทอัพผู้สร้าง Claude เพื่อหาคำตอบว่าก้าวต่อไปของ AI ที่กำลังกลายไปเป็น AI Agent องค์กรควรปรับตัวอย่างไรให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากที่สุด
ยุคต่อไปของการทำงาน เมื่อ AI กลายมาเป็น AI Agent
นับตั้งแต่ผู้คนเข้าถึงการใช้งาน AI เป็นวงกว้าง พัฒนาการของเทคโนโลยีก็ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว โดยภายในเวลาเพียง 2 ปี โมเดล AI ต่างๆ ขยับจากการเป็นเพียงแชตบอตกลายมาเป็นระบบ AI ที่สามารถทำงานบางอย่างได้เอง หรือที่เรียกอีกชื่อว่า AI Agent
หนึ่งในตัวอย่าง AI Agent ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็คือการประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ ‘Computer Use’ ในโมเดล Claude 3.5 Sonnet ของ Anthropic ซึ่งสามารถเดินหน้าทำงานที่ต้องอาศัยหลายสิบหรือหลายร้อยขั้นตอนในการทำให้เสร็จด้วยตัวเอง
อ้างอิง: Anthropic
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI จะสามารถทำงานที่ซับซ้อนได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งทีละอย่างจากมนุษย์ แต่ Krieger ยืนยันว่าการตัดสินใจที่มีผลกระทบกับธุรกิจโดยตรงยังคงจำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของผู้ใช้
“การทำงานที่ซับซ้อนยังต้องมีมนุษย์คอยกำกับดูแล ซึ่งทุกครั้งที่ AI Agent ไม่มั่นใจว่าควรจะทำงานในขั้นต่อไปอย่างไร Agent จะกลับมาขอคำปรึกษาจากคน” Krieger กล่าว
Mike Krieger ผู้ร่วมก่อตั้ง Instagram ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ Anthropic
การใช้งานลักษณะนี้เปรียบเหมือนกับการที่องค์กรมี ‘น้องฝึกงาน’ มาคอยช่วยแบ่งเบาภาระ ในขณะที่ ‘หัวหน้า’ หรือมนุษย์เป็นฝ่ายอนุมัติงานในขั้นสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของคนกับเทคโนโลยีมากกว่าที่เทคโนโลยีจะมาแทนคน
นอกจากนี้ ประเด็นที่บางคนมองว่าเมื่อ AI เก่งขึ้นอาจนำไปสู่การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป แต่ Mai-Lan Tomsen Bukovec รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ AWS กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “มันไม่ใช่เรื่องผิดที่มนุษย์จะพึ่งพา AI เพราะที่ Amazon เองก็นำ AI มาใช้ในแทบทุกกระบวนการทำงาน แต่สิ่งสำคัญของประเด็นนี้คือการมี AI ที่สร้างขึ้นอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ”
Bedrock สะพานเชื่อมความปลอดภัยสู่ AI ในองค์กร
ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บทบาทของ AWS ในการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI ก็คือแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Bedrock ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรพัฒนา ปรับแต่ง และใช้งานแอปพลิเคชัน AI ได้อย่างปลอดภัยและตรงโจทย์ธุรกิจ
Bedrock ออกแบบมาโดยให้ความสำคัญกับ ‘ความปลอดภัย’ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก Menlo Ventures บริษัท Venture Capital ที่เผยผลสำรวจว่า องค์กรเกือบครึ่งหนึ่ง (46%) มองเรื่องความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่บริษัทจะพิจารณาก่อนนำ AI มาปรับใช้ในองค์กร
นักพัฒนาสามารถกำหนดขอบเขตการทำงานของ AI บน Bedrock ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีจะถูกใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตีกรอบไว้ (Guardrails) อีกทั้งระบบยังบันทึกข้อมูลให้นักพัฒนาติดตามการทำงานและเข้าใจกระบวนการตัดสินใจของ AI ทำให้ระบบมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ นำมาสู่การใช้งานอย่างปลอดภัย
“ในอุตสาหกรรมที่มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลเข้มงวดอย่างเช่นธนาคาร ธุรกิจกลุ่มนี้ต้องมั่นใจว่าเทคโนโลยีที่องค์กรใช้สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในปัจจุบันหลายธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลอย่างรัดกุมเลือกใช้หรือพัฒนา AI ของตัวเองบน Bedrock” Mai-Lan กล่าว
Mai-Lan Tomsen Bukovec รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ AWS
ปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ AI และมนุษย์สร้างร่วมกัน
แม้ว่าการมาของ AI อาจทำให้งานจำนวน 85 ล้านตำแหน่งหายไปตามการคาดการณ์ของ World Economic Forum แต่ในขณะเดียวกันสถาบันก็คาดว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะก่อให้เกิดงานใหม่อีก 97 ล้านตำแหน่ง
ผู้เชี่ยวชาญของ AWS เห็นตรงกันว่า จุดประสงค์หลักของ AI คือเครื่องมือที่เข้ามาเสริมศักยภาพของมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อแทนที่
แน่นอนว่าการประหยัดเวลาและประสิทธิภาพของงานคือสองประโยชน์ที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในการนำ AI มาใช้ แต่อีกสิ่งสำคัญคือเมื่อ AI ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในฝั่งของ ‘คน’ ก็มีเวลาไปทุ่มเทกับงานที่ต้องใช้ทักษะคิดวิเคราะห์สูงขึ้น ซึ่งนำมาสู่การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่มนุษย์อาจคาดไม่ถึง หากไม่มีเทคโนโลยีและต้องทำงานด้วยตนเอง
“AI ทำให้องค์กรขยับตัวได้เร็วขึ้น พนักงานสามารถมีเวลาคิดและทดลองเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่การเลือกใช้เวลาที่มนุษย์ได้กลับมาจะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดความสำเร็จขององค์กร” Deepak Singh รองประธานของ Next Generation Developer Experience กล่าว
หนึ่งในกรณีที่มีการใช้งานใน AWS คือเครื่องมือที่ชื่อว่า Q Developer (แอปพลิเคชัน AI สำหรับช่วยเขียนโค้ดของ AWS) ผู้ช่วยเขียนโค้ดที่พัฒนาบน Bedrock ที่ช่วยนักพัฒนาสร้างโค้ดตามคำสั่งที่ถูกป้อนเข้าไป โดย AI จะเป็นผู้จัดการงานเขียนโค้ดทั่วไป และพนักงานที่เป็นนักพัฒนาคือผู้ควบคุมผลลัพธ์คนสุดท้าย ทั้งการตรวจสอบ ปรับแต่ง และเพิ่มประสิทธิภาพโค้ดให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ซึ่งการใช้งานนี้ช่วยประหยัดต้นทุนโดยรวมของ AWS ไปได้กว่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทย aCommerce Thailand คือแพลตฟอร์มข้อมูลอีคอมเมิร์ซรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ Generative AI มาใช้ผ่าน Amazon Quicksight เพื่อช่วยผู้ขายแสดงและวิเคราะห์ผลข้อมูล โดยแบรนด์ต่างๆ ในภูมิภาคสามารถค้นข้อมูลคู่แข่งได้มากกว่า 1 แสนล้านดาต้าพอยต์ เช่น ประสิทธิภาพของหมวดสินค้า แนวโน้มตลาด ราคา และสินค้าขายดี ซึ่งทำได้โดยสั่งการ AI ด้วยภาษาธรรมชาติ (Natural Language)
หากมองไปในอนาคต AWS เชื่อว่าบทบาทของมนุษย์จะยิ่งสำคัญขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ AI เริ่มเข้ามาช่วยงานบางอย่างในองค์กร
“ในท้ายที่สุด มนุษย์เท่านั้นที่รู้ว่าธุรกิจต้องการอะไร เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร ฉะนั้นทักษะการตัดสินใจ การเข้าใจบริบทของสิ่งรอบตัว และป้อนคำสั่งให้ AI เข้าใจ ทำให้มนุษย์สำคัญและจะยังไม่ถูกแทนที่ แต่สามารถทำงานควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้” Deepak กล่าวทิ้งท้าย