วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กกรณีสืบเนื่องจากท่าทีของ สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อาจเตรียมมวลชนชุมนุมขับไล่รัฐบาล โดยเนื้อหาระบุว่า
“มีคนถามว่า กำลังจะมีการชุมนุมบนท้องถนนหรือไม่ และรัฐบาลเตรียมการรับมืออย่างไร
“คุณสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวมวลชน แต่ผมคิดว่าการประกาศลงถนนคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการชุมนุมขนาดใหญ่แบบหลายๆ ปีก่อนจะเกิดขึ้นง่ายๆ
“การปลุกประเด็นเรื่องชาตินิยมแม้จะมีผลกับคนส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่วาระของคนส่วนใหญ่ เพราะขั้นตอนการเจรจาใดๆ กับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เริ่ม และหากมีการดำเนินการรัฐบาลก็จะทำอย่างชัดเจนโปร่งใส โดยมีทรัพยากรปิโตรเลียมกว่า 10 ล้านล้านบาทที่จะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นเป้าหมาย
“คุณสนธิบอกว่าการเมืองใกล้สุกงอม ผมก็หวังว่าสังคมไทยจะสุกงอมทางความคิดด้วยเช่นกันว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยล้วนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยอำนาจนอกระบบ ซึ่งเกิดความเสียหายร้ายแรงจนถึงปัจจุบัน
“ในมุมของรัฐบาลย่อมไม่ประสงค์การเผชิญหน้า ไม่ปรามาส ไม่ท้าทายกลุ่มใดๆ การทำงานยังเป็นช่วงเริ่มต้น นายกรัฐมนตรีกำลังจะแถลงผลงาน 90 วันแรก และประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังตั้งความหวังกับการทำงานของพรรคเพื่อไทย
“การส่งสัญญาณเคลื่อนไหวครั้งนี้แม้จะมาจากคนกลุ่มเดิมด้วยประเด็นและวิธีการแบบเดิม แต่บริบทการเมืองต่างออกไป นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการเมือง 3 ก๊กที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้
“พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันเป็นการร่วมกันด้วยกลไกอำนาจ กติกา และสถานการณ์ ไม่ใช่การหลอมรวมทางอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ก๊กจึงมีทั้งส่วนที่เผชิญหน้าและประสานประโยชน์กัน
“ที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องการชุมนุมอยู่นี้คือก๊กอนุรักษนิยม (ยังไม่มีพรรคไหนเป็นตัวแทนชัดเจน) แม้พลังของก๊กนี้จะเลือกพรรคการเมืองที่กำลังร่วมรัฐบาลกับก๊กเพื่อไทย แต่ไม่ยอมรับการนำของเพื่อไทย และยังมีความรู้สึกเป็นฝ่ายตรงข้ามเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบนเวทีนอกจากวิจารณ์เพื่อไทย ยังโจมตีก๊กพรรคประชาชนด้วย เพราะไม่เอาก๊กนี้เช่นกัน
“หากมีการเคลื่อนไหวมวลชนต้านรัฐบาลเพื่อไทยอาจเป็นได้ที่จะมีกองเชียร์ก๊กพรรคประชาชนบางส่วนเข้าด้วย เพราะเคยร่วมก๊กอนุรักษนิยมมาก่อน
“โดยลักษณะมวลชนที่ออกจากก๊กเพื่อไทยส่วนใหญ่เข้าก๊กพรรคประชาชน ส่วนจากก๊กอนุรักษนิยมจะไม่เข้าก๊กเพื่อไทย แต่ไหลเข้าก๊กพรรคประชาชนด้วย และอาจไหลกลับก๊กอนุรักษนิยมอีกได้ถ้าสถานการณ์มาถึง
“ผมไม่คิดว่าจะมีม็อบใหญ่ ที่ควรจะเป็นคือแต่ละก๊กสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่ยึดติดผูกพันกับก๊กไหนแล้ววัดกันในสนามเลือกตั้ง ผลงานจะเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะ
“แต่อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเกิดสถานการณ์ชุมนุมต้านรัฐบาลนี้โดยคนกลุ่มเดิม วิธีการเดิมอย่างเมื่อ 20 ปีก่อน ปรากฏการณ์ทางมวลชนแต่ละก๊กจะเป็นเช่นไร”