×

Forecast 10 อนาคตโลกจากผู้นำไทย ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024

โดย THE STANDARD TEAM
26.11.2024
  • LOADING...

‘โลกใหม่’ หน้าตาเป็นแบบไหน อนาคตมีอะไรรอเราอยู่?

 

ชวนสำรวจ 10 อนาคตของโลกจากผู้นำไทย สกัดประเด็นเข้มข้นที่จะทำให้คุณรับมือกับปี 2025 ได้ดียิ่งขึ้น จากงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ 13-15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 


 

 

1. โลกที่หนีไม่พ้นสงคราม (Geopolitics)

 

ท่ามกลางสมรภูมิโลกที่แตกเป็นเศษเสี้ยว จากสถานการณ์ความตึงเครียดของสองมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา-จีน, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามตะวันออกกลาง หรือความขัดแย้งที่ขยายขอบเขตบริเวณทะเลจีนใต้ หรือใกล้บ้านเราอย่างเมียนมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอาจต้องอยู่ในสภาวะนี้ไปอีกนาน

 

แล้วไทยควรวางตัวอย่างไร?

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย เสนอ 5 การนำทัพในพายุภูมิรัฐศาสตร์โลก 2025 ดังนี้

 

  • รู้ทันความเปลี่ยนแปลง: เทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, การศึกษา
  • รู้ทันความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์โลก
  • มีหลักการ แต่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศใด
  • เป็นสะพานเชื่อมในเรื่องที่ไทยมีศักยภาพ
  • กวาดสัญญาณอนาคต (Future Foresight)

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยนเรศวร เผยมุมมองว่า

 

ผู้นำไทยต้องเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองโลกและมิติการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อได้อย่างสมดุล ขณะเดียวกันต้องมีอิสระในการกำหนดนโยบาย โดยไม่สร้างเงื่อนไขให้กับตัวเองจนต้องเลือกข้าง

 

นอกจากนี้ผู้นำไทยต้องจัดวางประเทศในแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมความเข้มแข็งของอาเซียนเพื่อสร้างแต้มต่อ และควรมีบทบาทต่อสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาซึ่งอาจไม่จบลงง่าย

 

ท้ายที่สุดคือผู้นำไทยต้องไม่หนีจอเรดาร์โลก และกล้าที่จะเดินไปกับกระแสโลกในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้

 


 

 

2. โลกที่เทคโนโลยีเป็นตัวตัดสิน (AI & Technology)

 

AI ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด

 

ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาประชากรวัยแรงงานลดลง การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต จึงเป็นเหมือนทางรอดสำหรับประเทศไทย ทั้งในมิติของการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลผลิต และสร้างนวัตกรรม

 

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอแนวทางการวางยุทธศาสตร์ AI ของไทยว่า ภาครัฐควรมอง AI เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่นโยบายด้านเทคโนโลยี โดยต้องผลักดันให้เกิด Smart Adoption เพื่อใช้ AI อย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัย และทั่วถึง

 

ทั้งนี้ การออกกฎหมาย AI เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องสร้าง AI Literacy เพื่อให้คนรู้เท่าทันความเสี่ยงในการใช้งาน AI รวมทั้ง เดินหน้าสร้าง Ecosystem ที่ดีเพื่อให้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ สามารถ ‘สร้างปัญญา’ ให้กับคนได้ทุกคน

 

นอกจากนี้ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร และ กสิมะ ธารพิพิธชัย ยังร่วมเสนอแนวทางที่ไทยควรเร่งผลักดัน พร้อมกับ ดร.สันติธาร บนเวทีเสวนา ‘AI Roadmap for Thailand ยุทธศาสตร์ AI ไทย’ ดังนี้

 

1) AI for Education and Education for AI: ใช้ AI ช่วยพัฒนาการศึกษาไทย ให้คนมีทักษะพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ และใช้การศึกษาช่วยคิดว่าจะอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างไรในอนาคต

 

2) AI-Ready Human and Human-Ready AI: ไทยต้องสร้างคนที่ใช้ AI ได้อย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน ต้องออกแบบกระบวนการใหม่ในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อใช้งาน AI ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และพัฒนาบุคลากรที่ความเชี่ยวชาญที่สามารถนำเทคโนโลยีมา Localize ได้

 

3.) Sovereign AI หรือ AI แห่งชาติ คือสิ่งสำคัญที่ไทยควรมีเพื่อสร้างคงอัตลักษณ์ทางภาษา หรือวัฒนธรรมของประเทศ รวมทั้งสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในเวทีโลกได้

 


 

 

3. โลกที่ผู้นำไทยต้องมีจุดยืน (Thai Politics)

 

ในยุคสมัยที่ไทยกำลังเผชิญกับพายุวิกฤตโลก ท่ามกลางมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยคลื่นลมแห่งความไม่แน่นอน ‘ผู้นำไทย’ ต้องยืนหยัดเป็นเสาหลักเพื่อนำพาประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

 

และนี่คือ 3 จุดยืนที่ผู้นำไทยควรมี

 

1️) ยืนหยัดในประชาธิปไตย

ถือเป็น ‘กระดุมเม็ดแรก’ ในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากหลักการประชาธิปไตยที่ส่งเสริมเสรีภาพ สิทธิของประชาชน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

2️) ยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law)

ผู้นำต้องสร้างความมั่นใจ ไม่ว่าประชาชนหรือผู้มีอำนาจใดๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และการตัดสินใจทางการเมืองต้องยึดตามกรอบของกฎหมาย เพื่อป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจในทางที่ผิด

 

3️) ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

สิ่งสุดท้ายจำเป็นที่สุดคือการยืนหยัดในจุดยืนทางการเมืองโดยไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดันที่สำคัญ ต้องกล้าปฏิรูประบบที่ล้าหลังและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง

 


 

 

4. โลกรวนป่วนเศรษฐกิจ (Climate Adaptation)

 

โลกรวนจะไม่เพียงป่วนชีวิตประจำวัน ให้เราเผชิญกับฝนที่กระหน่ำผิดฤดูกาล หรืออากาศร้อนรุนแรงถี่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังกระทบไปถึงเศรษฐกิจ และสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ อาทิ เพิ่มต้นทุนทางธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยว และพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้ยังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างปัญหาหนี้ครัวเรือนไปจนถึงสังคมสูงวัย

 

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เผยในเซสชัน ‘Staying Ahead with Climate Change Adaptation รับมือโลกรวนอย่างไรให้เท่าทัน’ ว่า “แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% เมื่อเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก แต่ไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอันดับต้นๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก”

 

พร้อมเสนอทางแก้ เมื่อโลกรวนไม่รอเราอีกต่อไป ไทยควรรับมือด้วย 3 ข้อนี้

 

1️) มากกว่า ‘ตระหนัก’ คือ ‘ตระหนก’ รู้

ไทยควรเดินหน้าให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องโลกรวน อันเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะอีก 3-5 ปีข้างหน้าผลกระทบจะชัดเจน

 

2️) ร่างแผนบูรณาการระดับประเทศ (Integrated Plan)

ไทยต้องมีแผนรับมือที่ผนวกรวมเข้ากับยุทธศาสตร์ระดับชาติ และนำไปปฏิบัติจริงได้ ไม่ใช่แค่แผนบนกระดาษ

 

3️) Climate Adaptation คือกุญแจสำคัญ

นอกจากมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก (Climate Mitigation) ผ่านการออกกฎเกณฑ์และกติกา อาทิ CBAM, Net Zero และอีกมากมาย ไทยควรให้ความสำคัญกับ Climate Adaptation โดยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมพัฒนาแนวทางรับมือที่ตอบโจทย์ในบริบทของแต่ละพื้นที่

 


 

 

5. โลกที่ทักษะใกล้หมดอายุ (Education 4.0)

 

ทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้พลิกวิถีชีวิตและการทำงานของผู้คนทั่วโลกไปตลอดกาล หรือปัญหาทักษะแรงงานไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด (Skill Mismatch) ไปจนถึงการขาดแคลนแรงงานที่เราต้องเจอในอนาคตอันใกล้ เพราะประชากรวัยทำงานที่ลดลง

 

ข้อมูลจาก กสศ. ร่วมกับ World Bank เผยว่า เด็กและแรงงานไทยมีทักษะทุนชีวิต (Foundational Skills) ทั้ง 3 ด้านต่ำกว่าเกณฑ์ และมีแนวโน้มต่ำลง 1. ทักษะการรู้หนังสือการอ่าน 2. ทักษะด้านทุนดิจิทัล 3. ทักษะทางด้านอารมณ์และการเข้าสังคม สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ ประเทศ ระบุ

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ให้ความเห็นว่า การที่จะอัปสกิลทักษะคนไทยให้ทันกับความท้าทายใหม่ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เรียน

 

เริ่มต้นจากรัฐเป็นผู้ประสานและจัดการระบบคอร์สเรียน เปิดโอกาสให้เอกชนพัฒนาคอร์สเรียนที่หลากหลาย และแจกคูปองหรือเครดิตให้กับผู้เรียนได้เลือกคอร์สพัฒนาตนเองตามความต้องการ นอกจากนี้รัฐอาจเสนอค่าเสียเวลาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนหันมาพัฒนาทักษะใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น

 

สูตรนี้ทำสำเร็จแล้วในประเทศอินโดนีเซีย จากข้อมูลพบว่า หากรัฐเป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรมทักษะแรงงานเองจะทำให้เกิดความล่าช้า และสามารถปรับทักษะแรงงานได้เพียง 890,000 คนต่อปี แต่เมื่อเปลี่ยนบทบาทของรัฐเป็นผู้ประสานงาน และให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกันพัฒนาคอร์สเรียน โครงการนี้สามารถปรับทักษะแรงงานได้มากถึง 5.9 ล้านคนต่อปี

 


 

 

6. โลกที่พลังงานต้องเปลี่ยนผ่าน (Energy Transition)

 

ปัจจุบันไทยกำลังเร่งปฏิรูปพลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาด เพื่อให้ทันกับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งล่าช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์และเวียดนาม ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2050

 

เป้ายิ่งไกล ไทยยิ่งเสี่ยง

 

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดไม่เพียงมีความสำคัญต่อ แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และการเสริมศักยภาพให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะกับการลงทุนใน Data Center ซึ่งมีความต้องการในการใช้พลังงานสะอาดเป็นอย่างมาก

 

ปัญหาอยู่ที่อะไร

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ฉายภาพว่า ปัจจุบันไทยเผชิญกับปัญหา 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินความต้องการ การประเมินพลังงานสะอาดซึ่งมีแนวโน้มจะลดต้นทุนลงได้อีกและลดต่ำเกินไป รวมทั้งโครงสร้างตลาดไฟฟ้าของไทยที่ยังยึดติดกับระบบผู้ซื้อรายเดียว

 

ไทยจะเปลี่ยนผ่านพลังงานได้อย่างไร

 

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เสนอในมุมมองของภาคพลังงานว่า กลุ่ม ปตท. พัฒนาการใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) และพิจารณาพลังงานไฮโดรเจน เพื่อช่วยลดคาร์บอนและรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานยั่งยืนในอนาคต

 

ด้าน ดร.สมเกียรติ เสนอ 4 ทางแก้ไข ได้แก่

 

  1. คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับ GDP จริง และเร่งแผนอนุรักษ์พลังงาน

 

  1. ขยายการใช้พลังงานสะอาด ด้วยโซลาร์ แบตเตอรี่ และไมโครกริด พร้อมแก้กฎการติดตั้งแผงโซลาร์

 

  1. เปิดเสรีตลาดไฟฟ้าโดยใช้ Net Metering คิดค่าไฟตามการใช้จริง และให้ราคายุติธรรมสำหรับไฟที่ขายกลับ

 

  1. เปลี่ยนบทบาทรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเป็นผู้ให้บริการส่งไฟ พร้อมวางไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟในอาเซียน

 


 

 

7. โลกที่นักลงทุนอาจลืมไทย (Investment)

 

ประเทศไทยเดินอยู่บนเส้นทางเดิมมาตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังยึดโยงกับอุตสาหกรรมดั้งเดิม ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 89.6% ของ GDP ได้กลายเป็นแรงฉุดสำคัญต่อการลงทุนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ

 

Jeep Kline, Founder & Managing Partner, Raisewell Ventures and Professional Faculty, UC Berkeley ชี้ชัดในเซสชัน ‘Investing in Change: Impact Venture Capital in the New Era เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการลงทุน Impact Investment’ ว่า ไทยต้องวางกลยุทธ์เล่นเกมระยะยาวมากกว่าสนใจผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

พร้อมชี้เป้า 3 อุตสาหกรรมหลักที่ไทยควรเร่งพัฒนา ได้แก่

 

  • Climate Tech ส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นจุดแข็งของไทย เช่น การเกษตร อาหาร รถยนต์ไฟฟ้า หรือวัสดุยั่งยืน
  • Manufacturing and Supply Chain Tech ใช้ AI เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
  • Health Equity ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีเป็นสะพานเชื่อม เพื่อส่งเสริม SDGs ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

 

นอกจากนี้ Jeep Kline ยังเสนอให้ไทยใช้ยุทธศาสตร์ ‘One SEA’ พัฒนาศักยภาพตลาดในระดับภูมิภาคอาเซียนแทนการพัฒนาแบบแยกประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นในบทบาทผู้นำระดับโลก

 

ด้าน นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บรรยายในเซสชัน ‘Boosting Investments, Bolstering Growth: BOI’s Strategic Blueprint ขับเคลื่อนการลงทุนไทย ให้เติบโตบนเวทีโลก ด้วยยุทธศาสตร์ BOI’ ว่า ยุทธศาสตร์ BOI จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยสะท้อนตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยที่ส่งสัญญาณบวกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ามากกว่า 7 แสนล้านบาท

 

ประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ การปรับตัววันนี้จึงไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่คือความจำเป็น หากสำเร็จเป้าหมาย GDP เติบโต 5-6% ต่อปี จะกลายเป็นจริง แต่หากล้มเหลวการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกอาจบีบบังคับเราจนไม่มีโอกาสเลือกเส้นทางของตัวเองอีกต่อไป

 


 

 

8. โลกที่เดิมพันด้วยเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)

 

หลังดีล Data Center ของบริษัทระดับโลกที่มาร่วมลงทุนในไทยในปี 2024 นับเป็นสัญญาณที่ดีว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อาจเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในยุคดิจิทัล

 

แต่ในเกมที่เราเข้ามาเล่นช้ากว่าเพื่อน ไทยจำเป็นต้องเล่นให้ฉลาดกว่า

 

ในเซสชัน Semiconductor Strategy: Thailand’s Path to Tech Leadership รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ รองศาสตราจารย์ ศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า

 

กระดุมเม็ดแรกที่ไทยต้องติดให้ถูกคือต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หน้าตาเป็นอย่างไร ไทยมีจุดแข็งอะไร และยังขาดอะไร ที่สำคัญคือประเทศไทยต้องมีแผน National Semiconductor Strategy ที่จะกำหนดทิศทางและวางนโยบายที่ชัดเจน

 

ด้าน ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า แม้ที่ผ่านมาเราจะอยู่ในโซนรับจ้างผลิตตั้งแต่แผงวงจร (PCB) ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่หากวันนี้เราจะเปลี่ยนเกม ไทยควรยกระดับตัวเองสู่ High Value Zone แทนที่จะยึดติดกับเทคโนโลยีโลกเก่า

 

เช่น พัฒนาด้านที่ตัวเองมีศักยภาพจะไปถึงอย่าง Design หรือ Sensor & Communication และ Power Management (Silicon Carbide) ส่วนการเปิดพื้นที่ให้ต่างชาติมาลงทุนยังเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญและนำทุนเข้าสู่ประเทศ

 

หรืออีกแนวทางคือโฟกัสที่การออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งใช้ทุนและทรัพยากรคนไม่มาก หากแต่รัฐต้องสร้าง Ecosystem เพื่อดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาช่วยพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์บริบทไทย

 


 

 

9. โลกที่การค้าหดตัวลง (Geoeconomics)

 

‘ภูมิเศรษฐศาสตร์’ (Geoeconomics) กลายเป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเรากำลังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดของสองมหาอำนาจที่มีผลกับเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน หรือเทคโนโลยี

 

ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Geoeconomics 2025: Mapping the Future of Economic Power เปิดแผนที่อำนาจเศรษฐกิจปี 2025 ว่า

 

การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นทุกขณะ ในขณะที่จีนพยายามขยายอิทธิพลผ่านกลุ่ม BRICS และโครงการ Belt and Road Initiative สหรัฐอเมริกาก็ตอบโต้ด้วยกรอบความร่วมมือ IPEF พร้อมกับนโยบายการค้าเชิงปกป้องที่เข้มงวดขึ้น หรือนโยบาย ‘America First’ ของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจนำไปสู่การขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนถึง 60% และประเทศอื่นๆ อีก 10-20%

 

ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมากต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและชาญฉลาด โดยปานปรีย์เสนอมุมมองส่วนตัวว่า ไทยควรวางตัวเป็นกลางอย่างมีกลยุทธ์ หรือที่เรียกว่า Strategic Neutrality เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยควรเดินหน้าต่อคือ

 

  • การเปิดโอกาสด้านการท่องเที่ยวด้วยการทำฟรีวีซ่าจาก 93 ประเทศรวมจีนและอินเดีย

 

  • เร่งเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออก

 

  • การเจรจาเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจ Digital Economy และเซมิคอนดักเตอร์กับสหรัฐฯ

 

  • พัฒนามาตรฐานให้สอดคล้องกับระดับสากล เพื่อดึงดูดคู่ค้าและโอกาสจากทั่วโลก

 


 

 

10. โลกที่เศรษฐกิจโตช้า (Economic Uncertainty)

 

โลกหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการอบล่าสุด เต็มไปด้วยความผันผวน ท่ามกลางสถานการณ์คริปโตที่นิวไฮเป็นประวัติการณ์ หรือความหวั่นวิตกจากการขึ้นกำแพงภาษีจีน และการกีดกันทางค้าในหลายประเทศที่ทั่วโลกต่างกังวล

 

เราต้องอยู่กับโลกที่ ‘ความไม่แน่นอน’ คือ ‘ความแน่นอน’ แบบนี้ไปอีกนาน

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพใหญ่ในเซสชัน ‘Economic Outlook 2025 ทิศทางเศรษฐกิจมหภาคปี 2025’ ว่า ถ้าอยากจะมองภาพเศรษฐกิจไทยเพื่อเตรียมการในโลก BRAVE NEW WORLD ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ 4 ปีข้างหน้า เราจะต้องรู้ว่าทรัมป์จะทำอะไร จะกระทบไทยอย่างไร และไทยต้องปรับตัวอย่างไร โดยโจทย์ใหญ่ที่เราต้องแก้คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโตได้อีกครั้ง และหาทางรับมือกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน

 

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวบนเวที ‘Navigating Economic Challenges: The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง’ ว่า ไทยมีสภาพคล่องสูงแต่ขาดการลงทุน เหมือนเศรษฐีที่ฐานะดีแต่ไม่เห็นอนาคต เพราะไม่มีทิศทางชัดเจน หากยังใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ไม่ปรับปรุงเครื่องจักรหรือการผลิต ในระยะยาวจะรับมือไม่ไหว รัฐบาลจึงเร่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และลดต้นทุนพลังงาน หรือผลักดัน Entertainment Complex เพื่อดึงดูดนักลงทุน

 

ขณะที่ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยบนเวที ‘Unlocking Economic Capabilities for Future Growthพลิกขีดความสามารถเศรษฐกิจสู่การเติบโตใหม่’ ว่า 10 ปีที่ผ่านมาไทยเติบโตต่ำสุดในภูมิภาค และเมื่อมองไปข้างหน้า การคาดการณ์ยังคงต่ำจากหลายปัจจัย ดังนั้นนโยบายการคลังและนโยบายการเงินไม่พอ แต่ต้องมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพิ่ม โดยเสนอแนวทาง 5 ข้อ ได้แก่

 

  1. แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
  2. ผันเศรษฐกิจนอกระบบสู่ในระบบ
  3. เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
  4. เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ
  5. เติมเครื่องมือช่วย SMEs ให้ปรับตัว

 

📍เข้าใจและรับมือกับโลกใหม่ทั้งหมดนี้ให้อยู่หมัดด้วยบัตรชมย้อนหลังงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 🔥ใบเดียวเก็บครบทุกเวทีในงาน ให้ ‘โลกใหม่’ อยู่ในมือคุณ

 

ซื้อบัตรได้แล้วในราคาเพียง 990.- คลิก https://bit.ly/tsef2024RTAAF10

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X