สภาพัฒน์เผย จากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงที่ครัวเรือนต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว ท่ามกลางภาวะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนยังลดลงต่อเนื่อง เห็นจาก NPL ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
วันนี้ (25 พฤศจิกายน) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมถึงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ไม่เหลือทางเลือกจนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนยังลดลงต่อเนื่อง เห็นจากยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPL) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 มีมูลค่าเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท จากมูลค่ากว่า 1.16 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 2
คนก่อหนี้นอกระบบเพื่ออุปโภคบริโภค สะท้อนขาดสภาพคล่องรุนแรง!
จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า ครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบคิดเป็นมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนนี้เกือบครึ่ง (47.5%) เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือน
โดยการก่อหนี้นอกระบบจะทำให้ลูกหนี้เสี่ยงตกอยู่ใน ‘วังวนหนี้สินไม่รู้จบ’ ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกฎหมายกำหนด ซึ่งบางครั้งสูงถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี นอกจากนี้ยังอาจถูกโกงจากสัญญาที่ไม่ชัดเจน การใช้วิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและรุนแรง เป็นต้น
แนวโน้มการก่อหนี้สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ‘ในระบบ’ ก็ ‘เพิ่มขึ้น’
ไม่ใช่แค่ลูกหนี้นอกระบบที่ก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค แต่ลูกหนี้ในระบบก็มีแนวโน้มก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และสินเชื่อบัตรเครดิต
โดยตามการประมวลผลของสภาพัฒน์ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และมีสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสีย (NPLs) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนประเภทอื่น
โดยสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในไตรมาส 2 ของปี 2567 คิดเป็น 27.9% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 25% จากไตรมาสแรกของปี 2555
สภาพัฒน์ยังเตือนว่าสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Loan) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง ดังนั้นหากครัวเรือนไม่มีความระมัดระวังในการก่อหนี้หรือไม่มีวินัยการเงิน ก็จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้ได้
ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุด (ไตรมาส 2 ปี 2567) หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% ชะลอลงจาก 2.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% โดยหนี้สินครัวเรือนเกือบทุกประเภทมีการปรับตัวชะลอลงหรือหดตัวยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการมีภาระหนี้ที่สูง