กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย 10 เดือนของปี 2567 ต่างชาติเข้าลงทุนไทย 1.6 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นยังคงรั้งอันดับ 1 ลงทุน 91,700 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ ขณะที่ EEC และนิคมอุตสาหกรรมคึกคัก เติบโต 146%
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เปิดเผยว่า ช่วง 10 เดือนของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 786 ราย เงินลงทุนรวม 161,169 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
- ญี่ปุ่น 211 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 91,700 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า, ธุรกิจโฆษณา, ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
- สิงคโปร์ 110 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,779 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคในด้านต่างๆ เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม และการวางระบบโครงสร้างการผลิต, ธุรกิจโฆษณา, ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ การให้บริการ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาพร้อมอวาตาร์ (Conversation AI Avatar), ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology) บรรจุภัณฑ์พลาสติก และไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดชื่อ 20 บริษัทในวงการ ‘ขายตรง-ขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต’ ที่มีรายได้สูงสุดในประเทศไทย
- เปิด 3 อันดับธุรกิจที่ปิดกิจการมากสุด! วิเคราะห์ทำไม 7 เดือนทุนจดทะเบียนเลิกกิจการสูงถึง 8.5 หมื่นล้าน
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แม้แต่ ‘ข้าวไทย’ ยังเสี่ยง
- ข่าวโรงงานทยอยปิดตัวไปทีละราย ปีนี้คนไทยตกงานแล้วกว่า 40,000 คน สัญญาณอันตรายกำลังบอกอะไร
- จีน 103 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,806 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้ในโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันค้นหาและใช้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า
- สหรัฐอเมริกา 103 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,552 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การติดตั้ง บำรุงรักษา แก้ไข และปรับแต่งเว็บไซต์, ธุรกิจค้าปลีกสินค้า เช่น เครื่องเสียงและระบบเครื่องเสียง, ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และเครื่องมือแพทย์
- ฮ่องกง 57 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,461 ล้านบาท ในธุรกิจ เช่น ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, ธุรกิจบริการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ ให้บริการแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการขนาดใหญ่ (Recreational Attraction Area) และธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน
“เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 66,203 ล้านบาท โต 70% 10 เดือนปีนี้ 161,169 ล้านบาท จากปี 2566 อยู่ที่ 94,966 ล้านบาท และแน่นอนว่านักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน” อรมนกล่าว
นักลงทุนญี่ปุ่นรั้งอันดับ 1 EEC ยังเนื้อหอม
อรมนกล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 10 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 141 ราย (เพิ่มขึ้น 128%)
โดยมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 27,148 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 146%)
โดยแบ่งเป็นนักลงทุนจาก 1. ญี่ปุ่น 16,184 ล้านบาท 2. จีน 8,030 ล้านบาท 3. ฮ่องกง 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
- ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัย
- ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงเครื่องจักร เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
- ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (Software Platform) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับจัดการการจำหน่ายหรือเผยแพร่ผลงานเพลง
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
ยอดขายนิคมคึกคัก-อุตสาหกรรมโรดโชว์ญี่ปุ่น ดึงลงทุนไทย
ด้าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 20-24 พฤศจิกายนนี้ ปลัดกระทรวงและ สุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เข้าหารือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) พร้อมเข้าพบบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า, มาสด้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ, ฮอนด้า, อีซูซุ และมูราตะ
โดยสุเมธระบุว่า ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 มานาน ดังนั้น การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้จะใช้โอกาสหารือลงทุนร่วมกันเพิ่มต่อไป
ด้าน เด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39%YoY สะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาใช้พื้นที่ลงทุนต่อเนื่อง
โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการโอนที่ดิน และรายได้ค่าสาธารณูปโภคและการเช่าอาคารและโรงงานสำเร็จรูป ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 จะเป็นไปตามเป้าหมาย 2,500 ไร่
ขณะที่ พีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 บริษัทเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 958 ล้านบาท เติบโต 23% เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบ YoY จากการขายและโอนที่ดินให้กับลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 22%
“โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม” พีระกล่าว