Apple ยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินลงทุนอีก100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,600 ล้านบาท) สร้างโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย แลกกับให้ขาย iPhone 16 และหวังรักษาส่วนแบ่งการตลาดสำคัญในการสร้างรายได้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อินโดนีเซียเป็นตลาดสำคัญในการทำรายได้ของ Apple ด้วยจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก หรือประมาณ 280 ล้านคน ปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ทโฟนถึง 354 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมด
แต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทเจออุปสรรคเมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียสั่งห้ามจำหน่าย iPhone 16 ในประเทศ โดยให้เหตุผลว่า PT. Apple Indonesia ยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ให้สมาร์ทโฟนต้องมีส่วนประกอบ หรือการผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% ซึ่ง iPhone รุ่นใหม่ยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ในกรณีนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ผลิตภัณฑ์ของ Apple เท่านั้นที่ถูกแบน แต่ยังมีสมาร์ทโฟน Google Pixel ก็ถูกสั่งห้ามขายด้วยเหตุผลเดียวกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังระบุอีกว่า Apple ไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเดิมที่เคยบอกว่าจะลงทุนในประเทศด้วยมูลค่า 1.71 ล้านล้านรูเปียห์ จนถึงขณะนี้บริษัทลงทุนไปเพียง 1.48 ล้านล้านรูเปียห์เท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตกลงไว้ ที่ผ่านมาอินโดนีเซียจึงพยายามเรียกร้องให้เพิ่มการลงทุนในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย
แม้ว่า Apple จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาแอปพลิเคชันกว่า 4 แห่งในประเทศ เพื่อฝึกอบรมนักศึกษาและวิศวกรให้พัฒนาแอปพลิเคชัน แต่รัฐบาลอินโดนีเซียกลับบอกว่ายังไม่เพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ
กระทั่งล่าสุด Apple ยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนอีก 100 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์เสริมและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก ถือเป็นการลงทุนเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว เพราะก่อนหน้านี้ Apple เคยเสนอเงินลงทุนเพียง 10 ล้านดอลลาร์ (ราว 360 ล้านบาท) เท่านั้น
แน่นอนว่าการลงทุนดังกล่าวมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาและปฏิบัติตามข้อกำหนดของอินโดนีเซีย และจะทำให้ผลิตภัณฑ์ iPhone สามารถกลับมาจำหน่ายในประเทศได้อีกครั้ง เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย กล่าวว่า เรายินดีรับข้อเสนอของ Apple และอยู่ระหว่างการเตรียมจัดการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอการลงทุนดังกล่าว การเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของอินโดนีเซีย ที่มุ่งหน้าส่งเสริมการผลิตในประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทาน ที่ผ่านมามีการใช้กฎระเบียบทางการค้าเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยเฉพาะการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น แต่กฎเกณฑ์เหล่านี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ในบางครั้งว่าเป็นนโยบายกีดกันทางการค้า
โดยหนึ่งในข้อกำหนดที่เป็นประเด็นคือ กฎการใช้ส่วนประกอบในประเทศ (Local Content Requirement) ที่กำหนดให้สินค้าในบางอุตสาหกรรมที่วางจำหน่ายภายในประเทศ ต้องมีส่วนประกอบหรือวัตถุดิบที่ผลิตภายในประเทศเป็นสัดส่วนที่กำหนด และสัดส่วนนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-11-19/apple-said-to-offer-100-million-to-undo-indonesia-iphone-16-ban?sref=CVqPBMVg
- https://www.ft.com/content/5a1140cc-75a3-4202-a413-e443344a1519