เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดแถลงข่าว เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางธรณีวิทยาให้กับทีมค้นหา กลุ่มเด็กนักฟุตบอล อายุตั้งแต่ 13-20 ปี รวมจำนวน 13 คน ที่สูญหายไปภายในเขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.เเม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า
กรมทรัพยากรธรณีได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย เพื่อติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้จัดทำข้อมูลทางธรณีวิทยาสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะพบทางเข้าถ้ำนอกเหนือจากปากถ้ำ โดยใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาเพื่อหาแนวรอยแตกของถ้ำที่พบโพรงหรือช่องทางที่เข้าได้อีกทางหนึ่ง ปรากฏว่า พบช่องหรือปล่องเข้าถ้ำ 2 จุด เตรียมสำรวจหาความเป็นไปได้ หวังใช้เข้า-ออกแทนปากถ้ำหลัก ทางหนึ่งตัน แต่อีกทางหนึ่งต้องโรยตัวลงไป
นายทศพร อธิบายว่า เจ้าหน้าที่ภาคสนามได้แจ้งว่า พบปากถ้ำบริเวณตำแหน่ง A ความกว้างขนาดพอคนลอดไปได้ มีเจ้าหน้าที่บางส่วนเข้าไปในช่องนี้รายงานว่า ได้เดินเข้าไปในถ้ำลึก 20 เมตร ก็พบโถงใหญ่ จึงได้รายงานกลับไปยังหน่วยงานกู้ภัย เตรียมอาหาร เสบียง เพื่อเข้าพื้นที่ค้นหาในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้จากบริเวณจุด C มาจุด A ระยะห่างจากแนวราบประมาณ 4 กิโลเมตร
ส่วนตำแหน่ง B มีลักษณะชั้นหินบาง สามารถเจาะเป็นโพรงลงไปได้ และคาดว่ากลุ่มผู้ประสบภัยจะอยู่บริเวณเหนือจากจุด B ขึ้นไป จึงต้องระมัดระวังหากจะทำการเจาะ
ขณะที่ นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประสานงานระหว่างประเทศ เปิดเผยด้วยว่า ลักษณะของถ้ำหลวงนางนอนเป็นถ้ำธารลอด ซึ่งในฤดูฝนจะมีน้ำไหลเข้ามาท่วมพื้นที่ถ้ำ เเต่เนื่องจากความสูงต่ำของพื้นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น บางช่วงมีเพดานถ้ำที่ต่ำมากๆ ไม่สามารถที่จะเดินผ่านไปได้ในช่วงที่มีน้ำท่วม ยกเว้นแต่จะให้รอน้ำลด หรือจะดำน้ำผ่านไป แต่เนื่องจากพื้นถ้ำในแต่ละช่วงจะมีบางจุดที่เกิดหินถล่มและมีตะกอนสะสมบางส่วน ก็จะสามารถหลบน้ำได้ ถ้ำมีอายุประมาณ 1-5 ล้านปี