สถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในปี 2023 เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวทยอยกลับมา ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตฟื้นตัวได้ดี ส่งผลให้อัตราการเติบโตของ GDP ของภูเก็ตมากกว่าของประเทศไทย สาเหตุมาจากอะไร ติดตามการวิเคราะห์โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก นักวิเคราะห์อาวุโส SCB EIC ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- เปิดปัจจัยหนุนภาคท่องเที่ยวภูเก็ตโตแรง
- ภูเก็ตหลังโควิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
- เจาะ 4 กลุ่มธุรกิจดาวเด่นในภูเก็ตและความท้าทาย
ปุญญภพ ตันติปิฎก นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในปี 2023 เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวทยอยกลับมา ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตฟื้นตัวได้ดี
ส่งผลให้รายได้ของภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีเช่นกัน โดยฟื้นตัวจากช่วงโควิด ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในปี 2024 จะสูงกว่าปี 2023 หรืออยู่ที่ราว 5 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่า GDP ของจังหวัดภูเก็ตในปี 2024 จะเติบโตในระดับเกือบ 20% โดยถือว่า GDP ของจังหวัดภูเก็ตขยายตัวได้ดีกว่าภาพรวมของทั้งประเทศค่อนข้างมาก
เปิดปัจจัยหนุนภาคท่องเที่ยวภูเก็ตโตแรง
สำหรับสาเหตุที่รายได้ของจังหวัดภูเก็ตเติบโตได้ค่อนข้างดีมาจากการใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 47,000 บาทต่อคนต่อทริป โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 26% จากปี 2019 แม้ว่าในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังต่ำกว่าปี 2019 เล็กน้อย
อย่างไรก็ดี ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวและยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปจังหวัดภูเก็ตยังคงมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะตัวเลขยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปี 2019
ทั้งนี้ จากภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตที่เติบโตได้ค่อนข้างดี ส่งผลให้รายได้ของภาคธุรกิจในปี 2023 ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับมาดีกว่าปี 2019 แล้ว
นอกจากนี้ ประเมินว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เติบโตดีขึ้นในปี 2025 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งจากรัสเซีย อินเดีย จีน และตะวันออกกลาง
ภูเก็ตหลังโควิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ปุญญภพกล่าวต่อว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตหลังโควิดแพร่ระบาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญใน 3 ด้านหลัก ดังนี้
- ปัจจุบันสัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดภูเก็ตมีความหลากหลายของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งความหลากหลายของเชื้อชาติ รวมถึงช่วงเวลาที่เข้ามาท่องเที่ยว ขณะที่ในช่วงปี 2019 ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซีย และเยอรมนี เป็นหลัก ส่วนในปี 2024 มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากประเทศใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย คาซัคสถาน รวมถึงจากตะวันออกกลาง คือ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวของไทยต้อนรับลูกค้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ได้แบ่งฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นโลว์ซีซันหรือไฮซีซันที่ชัดเจนเหมือนในอดีต ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรม ทำให้รักษาราคาห้องพักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องยังได้รับประโยชน์เพราะจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการตลอดทั้งปี
- นักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการท่องเที่ยวไปจากอดีต ซึ่งเดิมจะเข้ามาพักในโรงแรมและนิยมใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณพื้นที่ริมชายหาดตลอดทั้งทริป แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมเข้าไปท่องเที่ยวในโซนเมืองเก่า (Old Town) ของจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ประกอบร้านอาหารและคาเฟ่ในพื้นที่เขต Old Town ของจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น โดยมีการตกแต่งร้านให้เข้ากับบรรยากาศของเมืองเก่า สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้นอีกด้วย
- กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเริ่มเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มที่มีกำลังใช้จ่ายหรือมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากทั้งราคาที่พักและตั๋วเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเปลี่ยนมาเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่ใช้การเดินทางในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เจาะ 4 กลุ่มธุรกิจดาวเด่นในภูเก็ต
สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตที่เติบโตค่อนข้างดี ส่งผลบวกต่อธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้องใน 4 กลุ่มหลักดังนี้
- ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ส่งผลให้รายได้ในปี 2023 ฟื้นตัว และเติบโตต่อเนื่องในปี 2024 โดยเฉพาะราคาห้องพักที่อยู่ในระดับสูง ยกเว้นกลุ่มที่พึ่งพิงรายได้จากกลุ่มทัวร์จีนที่ค่อนข้างช้ากว่าภาพรวมของทั้งประเทศ
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในช่วงขยายตัวได้ค่อนข้างดี จากปัจจัยที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนย้ายเข้ามาอาศัยในจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้น ทำให้การโอนอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2024 เติบโตขึ้นถึง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสวนทางกับภาพรวมของทั้งประเทศที่หดตัว โดยมีความต้องการซื้อสูงในกลุ่มคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว โดยโครงการที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนนานาชาติจะเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ
- กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ โดยกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในปี 2023 มีรายได้เติบโตมากกว่าปี 2019 จากการที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและพักอาศัยในระยะยาวมากขึ้น รวมถึงชาวไทยที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
อีกทั้งจังหวัดภูเก็ตยังตั้งเป้าหมายเป็น Medical Hub หรือ Wellness Hub ของโลก ส่งผลให้ภาคธุรกิจเฮลท์แคร์มีโอกาสและมีศักยภาพเติบโตในอนาคต
- ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติได้รับประโยชน์จากการที่กลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตมากขึ้น ทั้งชาวรัสเซีย จีน ยุโรป รวมถึงคนไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้ความต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามภาพการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะจากการเติบโตที่ดีขึ้นอาจส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จากทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ทำให้ในภาคโรงแรมหรืออสังหาริมทรัพย์มีจำนวนโครงการเปิดใหม่เพิ่มขึ้น
เปิด 3 ความท้าทายสำคัญที่ภูเก็ตต้องรับมือ
สำหรับความท้าทายของจังหวัดภูเก็ต แบ่งได้เป็น 3 เรื่องหลัก
- ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure & Utility) ยังต้องพัฒนาอีกค่อนข้างมาก อาจต้องพัฒนาสนามบินแห่งใหม่เพิ่มเติม เพราะปัจจุบันสนามบินภูเก็ตใช้งานเต็มกำลังความสามารถแล้ว จะไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคตได้
สำหรับประเด็นเรื่อง Utility ต้องพัฒนาและปรับปรุงทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำ การบริหารจัดการขยะ รวมถึงการป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติ และงบประมาณของจังหวัดภูเก็ตที่มีค่อนข้างจำกัด
- ประเด็น ESG ถือเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวและทั่วโลกให้ความสนใจ ส่งผลให้จังหวัดภูเก็ตมีความจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ Green Destination
อีกทั้งยังมีประเด็นข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังจะออกมาในปี 2026 ซึ่งกำหนดให้บริษัทใน EU ต้องทำงานกับผู้ค้าที่เกี่ยวข้องที่มีมาตรการด้านความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมของประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนามาตรฐานให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ของ EU
- การสร้างความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่เกาะที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้จำเป็นต้องพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากขึ้น
อีกทั้งเน้นพัฒนาร่วมกับชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นจนเกินไป และเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา Overtourism หรือปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
โดยอาจพัฒนาพื้นที่รอบๆ มากขึ้น เช่น จังหวัดพังงาและกระบี่ ขยายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความแออัดและกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ ได้มากขึ้น ช่วยให้จังหวัดภูเก็ตเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว