ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยพบมาก่อนตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์กรอุตุนิยมวิทยาระหว่างประเทศ (IMO) อย่างเป็นทางการ ย้อนกลับไปถึงปี 1951 นับเป็นเวลาถึง 73 ปี ที่ในปีนี้เกิดการก่อตัวของไต้ฝุ่นในเดือนพฤศจิกายนในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 4 ลูก
ได้แก่
- ไต้ฝุ่นหยินซิ่ง (銀杏 / Yinxing) หรือ Marce ตามวิธีการเรียกแบบฟิลิปปินส์ ก่อตัววันที่ 4 พฤศจิกายน
- ไต้ฝุ่นโทราจี (도라지 / Toraji) หรือ Nika ตามวิธีการเรียกแบบฟิลิปปินส์ ก่อตัววันที่ 9 พฤศจิกายน
- ไต้ฝุ่นหม่านหยี่ (萬宜 / Man-yi) หรือ Pepito ตามวิธีการเรียกแบบฟิลิปปินส์ ก่อตัววันที่ 9 พฤศจิกายน
- ไต้ฝุ่นอุซางิ (うさぎ / Usagi) หรือ Ofel ตามวิธีการเรียกแบบฟิลิปปินส์ ก่อตัววันที่ 11 พฤศจิกายน
หากไต้ฝุ่นทั้ง 4 ลูกก่อตัวลักษณะนี้ในเดือนมิถุนายน-ตุลาคมไม่ถือเป็นเรื่องแปลก ในฤดูกาลพายุของปีอื่นๆ ก็เคยเกิดมาแล้ว แต่การก่อตัวในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 4 ลูกในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งยังทวีกำลังจากดีเปรสชันผ่านความเป็นพายุโซนร้อนจนกลายเป็นไต้ฝุ่นหมดทุกลูกแบบนี้ ไม่เคยพบเห็นมาก่อน อย่างน้อยก็เท่าที่ทาง IMO บันทึกมา 73 ปี
ความแปลกของปี 2024 ยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อมีรายงานถึงยอดภูเขาไฟฟูจิที่ไร้หิมะปกคลุมแม้จะล่วงเข้าเดือนตุลาคมซึ่งเป็นฤดูใบไม้ร่วงนานเกิน 1 เดือนแล้ว ก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอดช่วงเวลาที่มีการก่อตั้งกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นที่มีอายุถึง 130 ปี
ภาพถ่ายด้านบนคือยอดภูเขาไฟฟูจิในวันที่ 12 พฤศจิกายน ก็ยังคงไร้หิมะปกคลุม จนกระทั่งล่าสุดพบเมฆเลนติคูลาร์ลอยเหนือยอดเขา และหิมะกลับมาตกปกคลุมจนใกล้จะกลายเป็นภาพคุ้นตาก็ล่วงเข้าช่วงเช้าวันที่ 15 พฤศจิกายนแล้ว (มีรายงานพบหิมะตกอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน แต่ก็ละลายไป)
คำถามคือปีนี้เกิดอะไรขึ้นกับโลกจนสภาวะภูมิอากาศล่าช้าผิดปกติไปประมาณ 1 เดือน
คำตอบที่แน่ชัดรวมทั้งงานวิจัยต่างๆ ยังคงไม่มีการตีพิมพ์ออกมาในเวลาที่เขียนบทความนี้ แต่หากมองถึงปัจจัยที่ใช้ในการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนก็หนีไม่พ้นอุณหภูมิผิวน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่สูงกว่าปกติในช่วงที่ปรากฏการณ์ลานีญากำลังดำเนินอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ซึ่งนอกจากส่งผลถึงการก่อตัวอย่างชุกชุมของพายุหมุนเขตร้อนนอกฤดูแล้ว ยังอาจส่งผลถึงกระแสน้ำคุโรชิโอะที่จะส่งผ่านน้ำอุ่นจากเส้นศูนย์สูตรไปทางตะวันออกของเกาะฮอนชูด้วย
ตามรายงานพบว่าในปี 2024 ญี่ปุ่นมีฤดูร้อนที่ร้อนผิดปกติและฤดูใบไม้ร่วงที่อบอุ่นกว่าที่เคยเป็น อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนตุลาคมที่ยอดเขาฟูจินั้นเคยมีค่าปกติอยู่ที่ลบ 2 องศาเซลเซียส แต่ปีนี้กลับขึ้นมาอยู่ที่ 1.6 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1932
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรากำลังรอคำตอบจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ ก็ขอให้อย่าลืมที่จะช่วยกันเป็นหนึ่งในคนที่จะไม่เพิ่มภาระความผิดปกติให้สภาวะภูมิอากาศโลก ก่อนที่ดาวเคราะห์ดวงนี้จะเปลี่ยนไปจนหมดความสวยงามน่าอยู่อย่างที่เคยเป็น
อ้างอิง: