ปิดฉากลงแล้วสำหรับฟอรัมแห่งปีที่จัดขึ้นตลอด 3 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 สำหรับงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ที่อัดแน่นด้วยข้อมูลที่ตกผลึกกลายเป็นความรู้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพาประเทศไทยไปสู่พรมแดนแห่งโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต
ในเวทีสุดท้าย Closing Speech โดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด กล่าวว่า
จากการพูดคุยตลอดทั้ง 3 วันของงาน มีข้อสรุปร่วมกันจากนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายว่า เศรษฐกิจประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะการเติบโตที่ต่ำทั้งในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน หรือตลาดทุนที่ติดหล่มปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนต่างประเทศทั่วโลกอีกต่อไป
ก่อนจะฉายภาพว่าเศรษฐกิจไทยดำเนินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
โดยเปรียบเทียบว่าประเทศไทยเปรียบได้กับเรือที่ลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรที่ชื่อว่าโลก และเรือที่ชื่อว่าประเทศไทยเชื่อมต่อกับโลกมาอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การส่งออก การท่องเที่ยว การนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบ การพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) หรือแม้แต่ความเชื่อมโยงต่อตลาดเงินและตลาดทุน
ในขณะเดียวกัน โลกปัจจุบันต้องเจอกับความผันผวนอย่างรุนแรงจากทุกทิศทาง จนทำให้ผลกระทบดังกล่าวลุกลามมายังประเทศไทยให้ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติที่กำลังกลายเป็นเมกะเทรนด์สำคัญ คือ
1. Information Technology
ในอนาคตเทคโนโลยีจะมีบทบาทหลักในการสร้างผลิตภาพในการทำงานของผู้คน ซึ่งสะท้อนได้จากมูลค่าของหุ้นบริษัท NVIDIA ที่ใช้เวลาเพียง 25 ปี สร้างการเติบโตจากมูลค่าบริษัทที่น้อยกว่าประเทศไทย ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเท่ากับประเทศไทย 6 ประเทศรวมกัน
หรือนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่มุ่งเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคด้วยเงินลงทุนมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท
2. Biotechnology
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ฉายภาพถึงผลกระทบของสังคมสูงวัยที่มีการประเมินโดย World Bank และ IMF ไว้ว่า ประเทศไทยท่ามกลางการแก่ตัวลงของประชากรจะส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ไทย 1% ต่อปี
ดังนั้น ท่ามกลางสังคมสูงวัย เอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ เผยว่า โจทย์ใหญ่ที่สุดคือการที่ประชากรวัยทำงานของประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ กลับต้องมี ‘โรคอ้วน’ เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่กัดกร่อน Health Span ของประชากรไทยโดยที่คิดเป็นต้นทุนสูงถึง 1.3% ของ GDP
ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ฉายภาพโอกาสให้เห็นว่าตลาดยาและอาหารเสริมเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดยามีมูลค่าอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดอาหารเสริมมีมูลค่าสูงถึง 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้าน Healthcare ในปัจจุบัน
3. ESG
อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ฉายให้เห็นถึงภาพมาตรฐานโลกใหม่ของอุตสาหกรรมการเกษตรอย่าง EUDR ที่เตรียมแบนสินค้านำเข้าทำลายป่า
ขณะที่ สราวุฒิ อยู่วิทยา เปิดเผยให้เห็นความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า รายงานจาก WMO ระบุว่า ในปี 2023 แหล่งน้ำในโลกเกิดความแห้งแล้งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี ด้าน World Bank ระบุว่า หากธุรกิจยังทำแบบเดิม ภายในปี 2050 จะเกิดความตกต่ำของ GDP คิดเป็นความเสียหายกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้นทุนของการปรับตัวในอนาคตก็อาจสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว
ขณะที่อีกด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทชั้นนำกว่า 433 แห่งประกาศใช้พลังงานหมุนเวียน 100% จากต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 90% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วน ดร.วิรไท สันติประภพ ระบุว่า โลกรวนจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และโจทย์ใหญ่ที่แต่ละประเทศต้องคิดคือเรื่อง Adaptation ที่ไม่มีมาตรฐานสากล และเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องหาแผนรองรับในพื้นที่ของตนเอง
นี่คือ 3 โลกที่เรากำลังมุ่งไป และใน 3 โลกนั้นก็มาพร้อมกับโจทย์ใหญ่ คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศต่างๆ เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกเกิดการแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้วจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ Globalization ต้องเจอกับจุดสิ้นสุด ก่อกำเนิดเป็นกระแส Deglobalization ที่แบ่งห่วงโซ่อุปทานของโลกออกเป็น 2 ใบระหว่าง OECD และ BRICS
ฝั่งของมหาอำนาจพญาอินทรีอย่างสหรัฐฯ การก้าวเข้าสู่อำนาจของผู้นำคนใหม่หน้าเดิมอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Disruptive Lighthouse หรือการเปลี่ยนสถานะของผู้นำโลกอย่างสหรัฐฯ จนเกิดนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างการขึ้นกำแพงภาษี
ในขณะเดียวกัน ฝั่งของประเทศจีนก็ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นสภาวะ 3 บีบต่อประเทศไทย จากการที่สินค้าไทยไม่สามารถทดแทนสินค้าจีนที่เคยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ หรือถ้าสินค้าไทยส่งออกไปประเทศจีนก็ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาของประเทศจีน หรือแม้แต่สินค้าไทยจะไปบุกตลาดโลกก็ต้องเจอกับตลาดโลกที่หดตัวเล็กลงกว่าเดิม
แต่ท่ามกลางความปั่นป่วน ทุกประเทศก็กำลังไล่กวดแข่งขันเพื่อคว้าโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทั้งการเป็นคู่แข่งทางตรงและทางอ้อมของประเทศไทย อย่างเช่นสิงคโปร์ในปัจจุบันที่ตั้งเป้าจะเป็น Aviation Hub ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ภายในปี 2030 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งเป้าให้ Dubai Mall กลายเป็น Global Destination หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 100 ล้านคน และดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก หรือเวียดนามที่เร่งวิจัย และพัฒนาการเร่งส่งออกข้าวพันธุ์คาร์บอนต่ำ เพื่อรับกระแส Green ที่เกิดขึ้น
“แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเวลาของประเทศไทยมีจำกัด” นครินทร์เน้นย้ำ ก่อนกล่าวต่อว่า
ตลอด 5 ปีของการจัด ECONOMIC FORUM ปีนี้เป็นปีที่ผู้นำทุกท่านชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของ Sense of Urgency มากที่สุดในการคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของโลก
จีนกำลังอยู่ในสถานะที่มีการลงทุนเชิงรุก และกฎระเบียบต่างๆ นั้นง่ายที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนจากการที่ต้องการจะ Re-Allocate Supply Chain ของตัวเอง โดย โจ ฮอร์น พัธโนทัย บอกว่าประเทศไทยเหลือเวลาอีก 1-2 ปี หากนานไปกว่านั้น ห่วงโซ่อุปทานของจีนคงจะไม่สามารถโยกย้ายได้ง่ายอีกต่อไปแล้ว
หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นกระดูกสันหลัง แม้ว่าจะมีหรือไม่มี EV สัญชาติจีน ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ฉายภาพว่าผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์มีเวลาเพียงแค่ 4 ปี หรือ 1 โมเดลที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของค่ายรถยนต์
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเฉพาะตัวที่นับถอยหลังดังระเบิดเวลามากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่หากรวมกับหนี้นอกระบบเข้าไป กลับกลายเป็นว่ามีปริมาณมากถึง 104% ของ GDP ไม่ใช่ 86% ดังที่เคยเข้าใจกัน
หรือหลักนิติธรรมไทยที่จากการจัดอันดับโดยดัชนีหลักนิติธรรม ประเทศไทยอยู่ที่ 78 จาก 142 ประเทศทั่วโลก
และสังคมสูงวัยก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และประชากรวัยทำงานจะเหลือเพียง 2 ใน 3 ภายใน 20 ปี
เราจะอยู่ท่ามกลางพายุนี้ได้อย่างไร?
1. ยอมรับ
กล้ายอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ไทยอยู่ตรงไหน และสิ่งที่เคยทำมาไม่อาจทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ เครื่องจักรเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมกำลังเก่า และการเปลี่ยนผ่านอำนาจเชิงการเมืองไม่ได้เปลี่ยนผ่านในชั่วข้ามคืน
2. เข้าใจ
ทำความเข้าใจบริบทของโลก เข้าใจประเทศไทยอย่างลึกซึ้งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ หรือกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
3. ตั้งเป้าอย่างมีกลยุทธ์ร่วมกัน
เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วต้องมาตั้งเป้าหมายอย่างมีกลยุทธ์ร่วมกัน เนื่องจากทรัพยากรและเวลามีจำกัด ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเลือกและไม่เลือกจากการพูดคุยร่วมกัน เช่น ในเรื่องที่ไทยมีโอกาสอย่างมาก ทั้งด้าน Food, Agriculture, Health and Wellness ขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับ หรือ Go High Value และสร้าง Global Destination โดยคิดในบริบทของ Global Standard และ Best in Class
ในฐานะผู้จัดงานภายใต้แนวคิด BRAVE NEW WORLD นครินทร์ได้ฝากข้อคิดไปถึง 2 ภาคส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนทุกอย่างให้เกิดขึ้น คือ ผู้มีอำนาจและประชาชน ต้องมีความกล้า
สำหรับผู้มีอำนาจ ต้องมีความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา กล้าเปิดเผยข้อมูล กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าฟังในเสียงที่แตกต่างทั้งจากคนที่ได้และเสียประโยชน์ กล้าฟังเสียงใหม่ๆ กล้าลองทำสิ่งใหม่ และกล้าเสียสละ เพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว
สำหรับภาคประชาชน ต้องกล้าทำสิ่งใหม่ กล้าเปลี่ยนตัวเอง กล้าเดินออกจาก Comfort Zone กล้าสั่งสมความรู้เพื่อเริ่มต้นบทสนทนา และถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่วิธีแก้ไขปัญหา พูดคุยเรื่องยากๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่กำลังขับเคลื่อน เพราะถ้ามีความรู้ไม่พอ ไม่เท่าทันผู้กำหนดนโยบาย สุดท้ายเราก็อาจถูกกดขี่จากความไม่รู้
“ความรู้คืออำนาจ และอำนาจสามารถสร้างได้ด้วยตัวของคุณเอง” นครินทร์กล่าวทิ้งท้าย