×

เปิด 5 อุตสาหกรรมเด่นของไทยที่พร้อมเป็น ​New Growth Engine ของประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2024
  • LOADING...
อุตสาหกรรมไทย

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Boosting Investments, Bolstering Growth: BOI’s Strategic Blueprint ขับเคลื่อนการลงทุนไทย ให้เติบโตบนเวทีโลก ด้วยยุทธศาสตร์ BOI โดยย้ำว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับการลงทุนในระดับโลกได้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็น New Growth Engine ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อในทศวรรษข้างหน้า

 

นฤตม์กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมเดิมมา 30 ปี และตอนนี้เป็นโอกาสทองของไทยที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่เป็น New Growth Engine ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อในทศวรรษข้างหน้า

 

ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางลงทุนจากนี้อีก 5 ปี มี 5 ปัจจัย ดังนี้

 

  1. Geopolitics: หลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาจบลงและได้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ทำให้ภาพ Trade War และ Tech War ชัดเจนมากขึ้น

 

  1. Green Transformation: จากภาวะโลกร้อนทำให้ทุกภาคส่วนมุ่งไปสู่การลดคาร์บอน ตั้งเป้าหมายเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero

 

  1. Global Minimum Tax: OECD ออกกติกาภาษีใหม่ของโลก ที่บังคับให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15% โดยประเทศส่วนใหญ่จะเริ่มใช้ในปีหน้า เช่นเดียวกับไทยซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมเก็บภาษีส่วนเพิ่มตั้งแต่ปีหน้า

 

เรื่องนี้จะกระทบต้นทุน มีผลต่อการวางแผนลงทุน ประเทศต่างๆ ต้องมีมาตรการในการดึงดูดการลงทุนแบบใหม่ รวมถึงเครื่องมือทางภาษีที่ต้องคิดเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อดึงการลงทุนให้ได้

 

  1. Technology Disruption: เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, IoT, EV Automation, Biotechnology เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม

 

  1. Talent: ทุกประเทศกำลังมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ องค์ความรู้และทักษะของบุคลากรใหม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้นเราจะได้เห็น War for Talent เกิดขึ้นต่อเนื่อง

 

เมื่อฉายภาพมาที่ไทยพบว่ามีศักยภาพหลายๆ ด้านที่สามารถตอบโจทย์ 5 ปัจจัยดังกล่าวได้ โดยไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น ท่าเรือน้ำลึก, สนามบินนานาชาติ, นิคมอุตสาหกรรม, โลจิสติกส์, บุคลากรที่มีคุณภาพ, ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีตลาดที่มีศักยภาพสูง

 

นฤตม์กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการลงทุนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าไทยต่อเนื่อง เฉพาะงวด 9 เดือนแรกของปีนี้มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มูลค่ามากกว่า 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 40% สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยประเทศและดินแดนที่เข้ามาลงทุนส่วนมาก ได้แก่ จีน, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และไต้หวัน

 

และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565 – กันยายน 2567) การลงทุนที่มาขอรับการส่งเสริมจาก BOI มูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนโครงการกว่า 6,400 โครงการ โดยเซ็กเตอร์ที่เป็นผู้นำคือเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านบาท ตามมาด้วยยานยนต์และชิ้นส่วน

 

และอีกสาขาที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากคือพลังงานหมุนเวียนและกลุ่ม Smart & Sustainable Industry

 

สำหรับความคืบหน้าในการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ของไทย โดยเฉพาะใน 5 สาขาหลักที่จะเป็น Game Changer ของประเทศ เรียกได้ว่าเป็น New Growth Engine ของไทยในอนาคต ประกอบด้วย

 

  1. Bio-based & Green Industries (BCG)
  2. EV+Battery and Key Parts
  3. International Business Center
  4. Digital
  5. Semiconductor and Advanced Electronics

 

ซึ่ง 5 สาขานี้มีความคืบหน้าด้านการลงทุน โดยขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 3,700 โครงการ เงินลงทุนรวมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

 

“สำหรับอุตสาหกรรม EV ขอยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV แบบครบวงจรในทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี BOI สนับสนุนการลงทุนไปแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท” นฤตม์กล่าว

 

นฤตม์กล่าวอีกว่า ต้นน้ำที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ก็คือแบตเตอรี่ ซึ่ง ณ ขณะนี้ไทยต้องการดึงดูดต้นน้ำของการผลิตแบตเตอรี่ คือ Battery Cell ให้มาตั้งในไทย ซึ่งค่อนข้างเชื่อมั่นว่าในต้นปีหน้าจะมีการประกาศการลงทุนของบริษัทรายใหญ่ชั้นนำในการผลิตแบตเตอรี่เซลล์ในไทยด้วย

 

อีกสาขาที่สำคัญคือ Semiconductor และ Advanced Electronics ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตด้านนี้มาอย่างยาวนาน แต่ตอนนี้รัฐบาลและ BOI ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ต้นน้ำโดยเฉพาะที่เป็น Semiconductor Front End

 

และความคืบหน้าล่าสุดด้าน Semiconductor คือเมื่อปลายเดือนที่แล้วมีการจัดตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ BOI เป็นเลขานุการ ซึ่งบอร์ดชุดนี้จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการสร้างฐานอุตสาหกรรม Semiconductor ในไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising