วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ศุภโชติ ไชยสัจ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงานใหม่ หรือบอร์ด กกพ. จำนวน 4 คน แทนกรรมการเดิม ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ล่าสุดมีประกาศเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาอีก 1 ฉบับ เปิดเผยรายละเอียดการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของคณะกรรมการสรรหาที่อาจกล่าวได้แบบง่าย ๆ ว่า “คณะกรรมการสรรหาและครอบครัวนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทในกลุ่มพลังงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง”
ศุภโชติกล่าวว่า รายละเอียดที่เปิดเผยออกมาตามประกาศดังกล่าว อาจส่อถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาบอร์ด กกพ. ชุดใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศไทย เนื่องจากตามข้อมูลในประกาศระบุว่า คณะกรรมการสรรหาเกือบทุกท่านมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัททางด้านพลังงาน ตั้งแต่ตำแหน่งประธานกรรมการ คณะกรรมการ หรือแม้กระทั่งถือหุ้นของบริษัทพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่ ครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มนายทุนพลังงานเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดช่องว่างที่จะก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสในการคัดสรรบอร์ด กกพ. อย่างแน่นอน
ศุภโชติระบุว่า ประเด็นที่ทำให้รู้สึกเป็นห่วงและกังวลแทนพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลยังดึงดันตามแผนเดิมต่อ มีทั้งหมด 3 ประเด็น
- คณะกรรมการสรรหาจะสามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง โดยปราศจากแรงจูงใจทางผลประโยชน์จากกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่?
- ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการสรรหาจะดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล และไม่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนพลังงานที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย?
และ 3. ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการชุดนี้ที่สรรหามาจะปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในเมื่อมีความเชื่อมโยงทางผลประโยชน์กับกลุ่มทุนพลังงานอย่างชัดเจนเช่นนี้?
หากการคัดเลือกบอร์ด กกพ. ที่จะเป็นผู้กำกับดูแลภาคพลังงานของไทยเกิดขึ้นอย่างไม่ตรงไปตรงมา ย่อมทำให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 3,600 เมกะวัตต์ ที่พบข้อพิรุธในประกาศรับซื้ออยู่หลายประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การไม่เปิดประมูลแข่งขัน และ กกพ. ก็ไม่ประกาศหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก ทำให้ กกพ. สามารถใช้ดุลพินิจส่วนตัวในการเลือกให้กลุ่มทุนรายใดก็ตามขายไฟฟ้าให้รัฐจำนวนมากได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 5,200 เมกะวัตต์
ดังนั้น หากคณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ. กลายเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นอดีตผู้บริหารของกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเสียเอง ก็คงจะมองได้ไม่ยากว่านี่คือกระบวนการผลประโยชน์ทับซ้อนที่รัฐบาลกำลังทำให้กระบวนการสรรหาบอร์ด กกพ. กลายเป็นกลไกของกลุ่มทุนพลังงานที่ส่งคนเข้ามาแทรกแซงองค์กรของรัฐ และหาช่องทางตอบแทนเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน
“ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนร่วมกันจี้ถามไปยังรัฐบาลว่า การปล่อยให้การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นอดีตผู้บริหารของกลุ่มทุนโรงไฟฟ้า ถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่” ศุภโชติกล่าว