“ตลกร้ายของเรื่องนี้คือภาครัฐอยากโปร่งใสแต่ไม่อยากเปิดเผยอะไรเลย”
บทสรุปจากเวที Young Leaders Dialogue หัวข้อ ‘Transparency in Action: Can Open Data Defeat Corruption? Open Data แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้จริงหรือ’
ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ธนิสรา เรืองเดช ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis, วรภพ วิริยะโรจน์ สส. พรรคประชาชน, ณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วม บริษัท HAND Social Enterprise ดำเนินการเสวนาโดย สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการ Rocket Media Lab
ปัญหาและความท้าทาย: อุปสรรคของการใช้ Open Data ในภาครัฐ
- ข้อมูลจากภาครัฐที่ควรเป็นข้อมูลสาธารณะมีลักษณะที่เข้าถึงยาก กระจัดกระจาย และมีระบบจัดเก็บข้อมูลที่ล้าหลัง เช่น เป็นกระดาษหรือไฟล์ PDF ซึ่งสืบค้นและนำไปวิเคราะห์หรือประมวลผลต่อได้ยาก
- ยังไม่สามารถนำ AI มาใช้วิเคราะห์การคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนในต่างประเทศ ปัญหาหลักมาจากชื่อโครงการที่ใช้ภาษาไทยที่ซับซ้อน และรายละเอียดในโครงการที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้การวิเคราะห์และประมวลผลของ AI ไม่ตอบโจทย์นัก
- ประชาชนขาดความตื่นตัว ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่มีช่องทางหรือระบบที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและร่วมตรวจสอบ
- หน่วยงานรัฐยังมีความสับสนระหว่าง Information กับ Data
ทางออก ข้อเสนอแนะ และกรณีศึกษา
- ต้องพัฒนา Data ที่พร้อมใช้งาน เพื่อนำมาทำเป็น Red Flag Indicators สำหรับวิเคราะห์การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่ผิดปกติได้ โดยเป้าหมายในการใช้ Data ในการวิเคราะห์พฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงคือเน้นการมีส่วนร่วม
- ในเกาหลีใต้มีแพลตฟอร์มที่สามารถให้ภาครัฐเข้ามาเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และผ่านการตรวจสอบมาแล้ว เพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ทำให้เกิดกลไกอย่างเป็นธรรมชาติที่สามารถตรวจสอบโครงการที่ผิดปกติได้ด้วยตัวมันเอง
- การเพิ่ม ‘ระเบียบและขั้นตอน’ ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าล้มเหลว สิ่งที่ควรทำคือเปลี่ยนวิธีคิดในการเปิดเผยข้อมูล จากเดิมที่เป็น ‘ข้อมูลราชการ’ ต้องเปลี่ยนเป็น ‘ข้อมูลสาธารณะ’
- กลไกรับเรื่องร้องเรียนและความตื่นตัวของประชาชนในกรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น แพลตฟอร์ม Traffy Fondue
- ลองใช้โมเดลใหม่ๆ เช่น Public-private Partnerships ที่เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในกิจการของรัฐ
สิ่งที่ภาครัฐต้อง ‘กล้า’ เปลี่ยน
- กล้า ‘เปิดเผยข้อมูล’ ข้อมูลของรัฐต้องเป็นข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้
- กล้า ‘แก้กฎหมาย’ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ล้าหลัง ไม่เท่าทันต่อเทคโนโลยีและบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป
- กล้า ‘เปลี่ยนระบบข้าราชการ’ ทำให้ทุกคนในหน่วยงานรัฐเข้าใจว่าต้องทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในการทำงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระงานที่ไม่จำเป็น