วันนี้ (13 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ภายใต้หัวข้อ Navigating Economic Challenges: The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง โดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาขาดการลงทุน โดยหากดูข้อมูลในอดีตก่อนช่วงดังกล่าวที่ GDP ไทยเติบโตได้มากกว่า 6% ต่อปี ในช่วงนั้นสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 40% ของ GDP ไทย จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และซัพพลายเชนของไทย แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการลงทุนของไทยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20-22% หรือลดลงไปประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต โดยเฉพาะปี 2566 มีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 20% ซึ่งสะท้อนข้อมูลว่าไทยขาดการลงทุนใหม่
“หุ้นไทยที่วิ่งระหว่างช่วง 1,600-1,700 จุด ตอนนี้ใครบอกมาว่าตลาดหุ้นไทยจะบวกขึ้นไปถึง 2,000 จุด ผมไม่เคยเชื่อ เพราะเป็นไปไม่ได้ หากไทยยังขาดการลงทุนใหม่ๆ ที่เป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่ของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา” พิชัยกล่าว
พิชัยกล่าวต่อว่า ปัญหาขาดการลงทุนของไทยยังมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการเติบโตของ GDP ไทย สะท้อนจากตัวเลข GDP ไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวในระดับต่ำประมาณ 1.9% ต่อปี ขณะที่ในปีที่โรคโควิดแพร่ระบาด GDP ไทยขยายตัวได้เพียง 0.4% ในปี 2566 GDP ไทยเติบโต 1.9% ส่วนปีนี้คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้ 2.7% ขณะที่ในอนาคตคาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้ 3-3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อควรอยู่ที่ระดับ 2% จากปัจจุบันคาดอยู่ที่ 1.2-1.8%
ดังนั้นในอนาคตไทยจำเป็นจะต้องลงทุนมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนต่ำ เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไม่เกิดการลงทุนหรือลงทุนแล้วไม่สามารถแข่งขันได้
“สถานะของประเทศวันนี้เราขาดการลงทุนอย่างต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว ในอดีต GDP ไทยเติบโตได้มากกว่า 6% ช่วงนั้นการลงทุนมีสัดส่วนราว 40% แต่ลดลงเหลือ 20-22% กระทบต่อ GDP ไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตต่ำเฉลี่ยเพียง 1.9% ต่อปี”
นอกจากนี้ ต้องการให้ GDP ไทยเติบโตได้ในระดับ 3.5% ในอนาคต ส่วนกรอบเงินเฟ้อ 2% หรือมากกว่า 2% ขณะที่หนี้สาธารณะต่อ GDP จะรักษาระดับวินัยทางการคลังไว้ไม่ให้เกินระดับ 70% โดยภายใน 4 ปีข้างหน้าต้องไม่เกินระดับ 15 ล้านล้านบาทจาก 12 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่า 1% ซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบจากการลงทุนต่ำ มีการจ้างงานต่ำ อีกทั้งยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านและรถยนต์ ขณะที่กลุ่มธุรกิจ SMEs ก็ประสบปัญหาหนี้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งภาคครัวเรือนและ SMEs มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ เนื่องจากหนี้อยู่ในระดับสูง
“การลงทุนไทยต่ำไม่ใช่เพราะไม่มีเงิน แต่เพราะ GDP ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโตต่ำ เมื่อเป็นแบบนี้รัฐบาลไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร จึงต้องควักงบประมาณมาอุดหนุน สิ่งที่สะท้อนคือหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้น 9-10 ปีที่ผ่านมาหนี้รัฐบาลอยู่ที่ 48% ต่อ GDP หรือใกล้ๆ 5 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัจจุบัน GDP เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 18 ล้านล้านกว่าบาท หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 65-66% มาใกล้ที่ 12 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Policy Space) เริ่มเหลือน้อยหากจะให้กู้ไปเรื่อยๆ เพราะต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อ GDP ซึ่งเหลืออีก 3-4% เท่านั้น” พิชัยกล่าว
สำหรับแนวการดึงดูดการลงทุนเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทย พิชัยระบุว่าจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้
- บุคลากรที่จะเข้าไปจะต้อง Upskill และ Reskill การศึกษาต้องปรับให้เหมาะสมกับคนที่จะเข้า
- ด้านพลังงานนอกจากจะถูกจะต้องเป็นสีเขียว
- ความง่ายในการทำธุรกิจเป็นกลไกที่ต้องปรับปรุง ปัญหาที่ภาครัฐต้องปรับคือระบบการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมถึงระบบเงินออมในประเทศที่ประชาชนอีกเยอะไม่มีเงินออม จะสร้างอย่างไร
ขณะที่นโยบายการคลังที่รัฐจะนำมาใช้ต้องสัมพันธ์กับนโยบายการเงิน ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน โดยจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำในอนาคตเพิ่มเติมจะต้องมีทั้งการลงทุนการขนส่ง, แลนด์บริดจ์, Entertainment Complex, การทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปรับลดค่าโดยสารให้อยู่ในระดับต่ำ 20-25 บาท เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน, ทรัพย์อิงสิทธิ เพื่อนำที่ดินของรัฐมาสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ในราคาต่ำ
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงการคลังเตรียมหารือกับร่วมกับคณะกรรมการฯ ในการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ รวมถึงมาตรการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น
ส่วนความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตระยะที่ 2 ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ คาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ขณะที่ความคืบหน้าของการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะนี้ยังไม่ทราบชื่อบุคคลที่ได้รับคัดเลือก โดย ธปท. ยังไม่เสนอชื่อมาให้กระทรวงการคลังพิจารณา