×

อีก 16 ปีจะมีคนไทยกี่คน โจทย์ใหญ่ที่ใครควรคิด?

13.11.2024
  • LOADING...
คนไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันจำนวนประชากรคนไทยในประเทศไทยเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง (จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2562 เป็นปีที่มีจำนวนประชากรไทยสูงที่สุดอยู่ที่ 66.56 ล้านคน และหลังจากปีนั้นจำนวนประชากรก็ลดลงมาเรื่อยๆ โดยในปี 2566 ลดลงเหลือ 66.05 ล้านคน) จำนวนประชากรที่ลดลงเป็นโจทย์เชิงโครงสร้างที่กำลังและจะส่งผลกระทบในอนาคตโดยตรงต่อโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นผลต่อกำลังแรงงาน (Labor Force) ที่ลดลง ซึ่งหากค่าจ้างของคนไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วตามเงินเฟ้อแล้วจะส่งผลให้กำลังซื้อที่แท้จริงโดยรวมของคนไทยลดลง นอกจากนั้นกำลังแรงงานที่ลดลงยังหมายถึงจำนวนคนที่จะเสียภาษีที่ลดลง ซึ่งถ้ารัฐหารายได้จากทางอื่นไม่ทันหรือลดรายจ่ายไม่ทันก็จะมีผลต่อฐานะทางการคลังได้ และยังหมายถึงจำนวนคนที่จะส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะของกองทุนประกันสังคมโดยตรงดังที่ปรากฏเป็นข่าวค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา 

 

โดยสาเหตุที่ประชากรลดลงเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาจำนวนเด็กเกิดใหม่มีน้อยกว่าจำนวนคนเสียชีวิตทุกปี โดยแนวโน้มจำนวนคนเสียชีวิตเริ่มลดลงหลังวิกฤตโควิด แต่แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเร็วกว่า และตั้งแต่ปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียงประมาณ 500,000 คนต่อปี และยังมีจำนวนต่ำกว่าคนตายต่อเนื่อง โดยหากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไปจะทำให้จำนวนประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเด็กที่น้อยลงเป็นโจทย์ให้คิดต่อว่าจำนวนนักเรียนในโรงเรียนและจำนวนกำลังพลสำหรับกองทัพในอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐควรเตรียมงบประมาณอย่างไรเพื่อจัดการประเด็นเหล่านี้ 

 

 

โจทย์เหล่านี้ทำให้การคาดการณ์จำนวนประชากรในอนาคตมีผลอย่างมากต่อการวางแผนด้านเศรษฐกิจ สังคม และนโยบาย 

 

คำถามต่อไปคือ แล้วถ้าจะคาดการณ์จำนวนประชากรต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง

 

ในการประมาณการจำนวนประชากร นักประชากรศาสตร์มักจะต้องมี 3 สมมติฐานสำคัญคือ 

 

  1. อัตราการเจริญพันธุ์รวมยอด (Total Fertility Rate: TFR) ซึ่งหมายถึงโดยเฉลี่ยผู้หญิง 1 คนจะมีลูกกี่คน 

 

  1. อัตราการตาย (Mortality Rate) ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy การคาดประมาณจำนวนปีโดยเฉลี่ยของการมีชีวิตอยู่ของประชากร)

 

  1. อัตราการย้ายถิ่นฐานสุทธิ (คนไทยย้ายออกไปต่างประเทศหักลบกับคนไทยในต่างประเทศย้ายกลับมาไทย) 

 

นอกจาก 3 สมมติฐานนี้อาจต้องพิจารณาถึงสัดส่วนชายหญิงในอนาคต เพื่อประมาณการจำนวนประชากรชายและหญิง โดยในบทความนี้ผมอยากจะชวนคิดว่าเพื่อให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นจำนวนประชากรในอนาคต จะได้เตรียมตัวรับมือได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา เราควรจัดการอย่างไรเกี่ยวกับประมาณการประชากรและตัวเลขสมมติฐานสำคัญ โดยจะขอใช้ตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์รวมเป็นตัวอย่าง

 

ในช่วงหลังโควิดข้อมูลสมมติฐานสำคัญ (Key Assumptions) ในการคาดการณ์จำนวนประชากรเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก การคาดการณ์ประชากรก็เหมือนกับการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ มีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้ ขึ้นอยู่กับว่าสมมติฐานสำคัญที่ใส่ไว้ในแบบจำลองประมาณการ (Projection Model) เป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่ เพื่อให้การประมาณการมีความแม่นยำ เมื่อพบว่าตัวเลขสมมติฐานสำคัญมีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากที่เคยคาดไว้ก็ควรอัปเดตตัวเลขใหม่เข้าไป เพื่อจะได้ผลการประมาณการที่มีความแม่นยำมากขึ้น ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น หรือในกรณีที่มีความไม่แน่นอนสูง หลายปัจจัยยังไม่นิ่ง ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ อาจเลือกใช้การวิเคราะห์เชิงฉากทัศน์ (Scenario Analysis) เข้ามาช่วยฉายภาพให้เห็นว่ามีโอกาสเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในกรณีที่สมมติฐานแตกต่างกันออกไปอย่างไรบ้าง  

 

โดยผมจะขอใช้ตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ยอดรวมมาเป็นตัวอย่าง (Total Fertility Rate: TFR หมายถึงผู้หญิงหนึ่งคนในช่วงอายุของเขาจะสามารถมีลูกได้กี่คน โดยในทางทฤษฎีหากสมมติฐานอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อผู้หญิงในประเทศเราโดยเฉลี่ยมีลูกสองคน ซึ่งหมายถึงอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมเท่ากับ 2 จำนวนประชากรก็จะค่อนข้างคงที่ เพราะเมื่อคนที่มีลูกจึงหมายถึงพ่อแม่เสียชีวิตไปก็จะมีลูกสองคนเข้ามาแทน) 

 

แต่ในภาวะปัจจุบันนอกจากคนจะแต่งงานน้อยลง หรือแม้แต่แต่งงานแล้วไม่ได้มีลูก หรือมีลูกไม่ถึงสองคน จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาในตัวเลข​ TFR ของไทยที่ต่ำกว่า 2 มาระยะหนึ่ง (จากข้อมูลธนาคารโลก TFR ของไทยเริ่มต่ำกว่า 2 ตั้งแต่ปี 2536 แต่ที่ประชากรไทยยังเพิ่ม เพราะเรามีอัตราการตายที่ลดลง คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นจาก 71.1 ในปี 2536 มาเป็น 79.7 ในปี 2565) กลับมาที่ตัวเลข TFR ในช่วงปี 2558-2561 ลดลงมาอยู่ที่ 1.3-1.4 

 

แต่ที่น่าตกใจคือตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา TFR ของบ้านเราลดลงไปอีก และตัวเลขล่าสุดที่ออกมาในปี 2565 อยู่แค่เพียง 1.08 ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกันแล้วซึ่งก็เป็นทวีปที่ถือว่ามีลูกกันค่อนข้างน้อย ไทยเราต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากแค่สิงคโปร์ (1.04) และเกาหลีใต้ (0.87)

 

 

ประมาณการจำนวนประชากรล่าสุดของไทย จัดทำในปี 2562 ใช้ TFR ในช่วง 1.2-1.5 เทียบกับตัวเลขล่าสุดที่ 1.08

 

คำถามต่อไปคือ แล้วตัวเลขคาดการณ์จำนวนประชากรของไทยล่าสุดกำลังใช้สมมติฐาน TFR อยู่ที่เท่าไร แตกต่างมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับตัวเลขล่าสุด ทีมงาน Athentic Consulting พบว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คือหน่วยงานล่าสุดที่ออกประมาณการจำนวนประชากรในปี 2562 (โดยปกติสภาพัฒน์จะออกคาดการณ์ประชากรทุก 5-6 ปี) โดยสมมติฐาน TFR ที่ใช้ในประมาณการฉากทัศน์ (Scenario) ต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.5 ซึ่งสูงกว่าตัวเลข TFR ล่าสุดที่ 1.08 (แม้จะต่างแค่หลักทศนิยม แต่เดี๋ยวเรามาดูกันว่าจะส่งผลมากน้อยแค่ไหนกับจำนวนประชากรในอนาคต)

 

 

ถ้า TFR ยังอยู่ที่ 1.08 ไปเรื่อยๆ จำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2565 และอาจหายไป 2.5 ล้านคนในอีก 16 ปีข้างหน้า (เกือบเท่าประชากรของนครราชสีมาทั้งจังหวัด) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิม การเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานสำคัญ (Key Assumptions) แม้เพียงเล็กน้อยแต่ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรในอนาคตสูงมาก จากการศึกษาของ Athentic Consulting ในการประมาณการจำนวนประชากรในช่วง 2567-2583 เมื่อใช้สมมติฐาน TFR คงที่ที่ 1.08 (เส้นสีส้มในรูปที่ 4) เมื่อเทียบกับกรณีที่ใช้ TFR ที่อยู่ในช่วง 1.3-1.5 (เส้นสีฟ้าในรูปที่ 4) พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ประเด็น 

 

  1. จำนวนประชากรไทยในกรณี TFR 1.3-1.5 จะเริ่มลดลงหลังช่วงปี 2572 ในขณะที่ในกรณี TFR คงที่ 1.08 ประชากรไทยจะลดลงตั้งแต่ปี 2565  

 

  1. ในปี 2583 หรืออีกประมาณ 16 ปีข้างหน้า ในกรณี TFR 1.3-1.5 จะมีประชากรไทยประมาณ 65.4 ล้านคน เทียบกับ 62.9 ล้านคนในกรณีที่ TFR 1.08 นั่นหมายความว่ามีส่วนต่างของจำนวนประชากรถึงประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งตัวเลข 2.5 ล้านคนนี้เกือบเท่ากับจำนวนประชากรของจังหวัดนครราชสีมา (2.6 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองแค่กรุงเทพมหานคร) 

 

  1. ในช่วง 16 ปีข้างหน้า กลุ่มช่วงอายุที่จะลดลงมากที่สุดคือกลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่า 15 ปี โดยจากในปี 2565 ที่มีจำนวนประมาณ 11 ล้านคน หาก TFR คงที่ที่ 1.08 จะเหลือแค่ 6.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 8.4 ล้านคน ในกรณี TFR 1.3-1.5 กับตัวเลขที่ห่างกันถึง 1.9 ล้านคน เป็นโจทย์ใหญ่ต่อเรื่องของจำนวนนักเรียน นักศึกษา สถานศึกษา รวมถึงกำลังแรงงานและกำลังพลในอนาคต

 

ในกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario เส้นสีเทาในรูปที่ 4) หาก TFR ของไทยลดลงไปเหลือเท่ากับของ TFR ล่าสุดของเกาหลีใต้คือ 0.87 ซึ่งเป็นกรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่เพื่อให้เห็นภาพหลากหลายฉากทัศน์มากขึ้น เราเลยขออนุญาตใส่กรณีนี้เข้ามาด้วย ซึ่งเราจะเห็นจำนวนประชากรในปี 2583 ลดลงเหลือ 61.9 ล้านคน และจำนวนประชากรที่อายุไม่เกิน 15 ปีลดลงเหลือ 5.7 ล้านคน

 

 

เรื่องใหญ่ในอนาคต มีหลายปัจจัยไม่แน่นอน แต่ถ้าช่วยกันส่องไฟจะเห็นได้ไกลและหลากหลายมุมมากขึ้น มีเวลาเตรียมตัวปรับตัวมากขึ้น อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนในตอนแรกว่า การประมาณการตัวเลขประชากรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และยิ่งเป็นการมองไกลออกไปอีก 15-20 ปี เมื่อเวลาผ่านไปข้อมูลสมมติฐานสำคัญเปลี่ยนแปลงไปก็จะมีโอกาสทำให้ประมาณการชุดเดิมเกิดความคลาดเคลื่อนสูง แต่หากเรายังใช้ตัวเลขประมาณการเดิมในการวางแผนต่างๆ จะทำให้แผนที่วางไว้มีโอกาสที่จะผิดพลาดสูงตามไปด้วย 

 

การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสมมติฐานสำคัญและอัปเดตประมาณการให้สะท้อนความเป็นจริงอย่างทันสถานการณ์และต่อเนื่อง จะช่วยให้เรามีเวลาเตรียมตัว ปรับตัว และรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เมื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยให้นักวิจัยจากหลากหลายสถาบันเข้ามาช่วยพัฒนาแบบจำลองประมาณการจำนวนประชากรได้สะดวกขึ้น เพื่อที่จะช่วยกันคัดเลือกสมมติฐานและพัฒนาให้มีแบบจำลองที่มีความแม่นยำสูงขึ้นได้อีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising