×

JAS ผู้ฆ่า TrueVisions? เจาะลึกดีลสะเทือนวงการ ทุ่ม 1.9 หมื่นล้านบาทแลกลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก 6 ฤดูกาลกับราคา 400 บาทต่อเดือน จะเกิดขึ้นจริงไหม!

12.11.2024
  • LOADING...
JAS พรีเมียร์ลีก

HIGHLIGHTS

  • ล่าสุด JAS มีการประกาศยืนยันข่าวการคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและฟุตบอลเอฟเอคัพ ซึ่งได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) จาก The Football Association Premier League Limited หรือ FAPL ในเบื้องต้น 3 ฤดูกาล และอาจขยายเป็น 6 ฤดูกาล ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2025/26 เป็นต้นไป
  • องอาจ ประภากมล หัวหน้าสายงานทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า TrueVisions เองก็ได้ร่วมประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในรอบใหม่สำหรับฤดูกาล 2025-2028 แต่ไม่สามารถสู้ราคาได้
  • การจ่ายเงินปีละ 3,000 ล้านบาทแลกกับฟุตบอลลีกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของโลก และเป็นรายการฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ก็อาจเป็นการลงทุนที่ไม่เลวนัก โดยเฉพาะเมื่อคิดตัวเลขมูลค่าการประมูลในหลายรอบก่อนหน้านี้
  • ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้รับการยอมรับในฐานะลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดและได้รับความนิยมสูงที่สุดตลอดกาลของโลก และบ้างก็เรียกว่า ‘The Greatest Show on Earth’ หรือโชว์ที่ดีที่สุดของโลกเลยทีเดียว โดยมีมูลค่าในการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหาศาลทิ้งห่างลีกอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น
  • สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับแฟนฟุตบอลชาวไทยไม่มีเรื่องอื่นนอกจากราคาที่ต้องจ่าย ในเรื่องนี้ ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา แย้มว่า จะพยายามทำราคาไม่ให้สูงเหมือนที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะทำราคาได้ไม่เกินเดือนละ 400 บาท

‘JAS คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก 1.9 หมื่นล้านบาท!’ คือข่าวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ผ่านมา 

 

ไม่เฉพาะในแวดวงกีฬาเท่านั้นที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่แฟนฟุตบอลชาวไทย แต่ยังทำให้สายธุรกิจต้องจับตากับความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS อีกด้วย

 

การขยับครั้งนี้เป็นการก้าวเดินที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับ JAS ในหลายมิติ และอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงสงครามครั้งใหม่ในสมรภูมิที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการท้าชนกับเบอร์หนึ่งของวงการอย่าง ‘True’ อย่างจัง

 

ล่าสุด JAS ออกมายืนยันแล้วว่านี่คือเรื่องจริง! และมีข่าวดีสำหรับแฟนฟุตบอลที่ค่ารับชมจะไม่แพง โดยจะอยู่ในราคาไม่เกิน 400 บาทต่อเดือน

 

เพียงแต่ในรายละเอียดของดีลนี้ยังมีคำถามและเรื่องที่น่าสนใจอีกมากมายตามมา

 

เจาะดีลพรีเมียร์ลีกสุดอลังการ

 

ไม่ถึงหนึ่งวันหลังมีข่าวสะเทือนวงการออกมา ล่าสุด JAS ประกาศยืนยันข่าวการคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและฟุตบอลเอฟเอคัพ ซึ่งได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) จากทางด้าน The Football Association Premier League Limited หรือ FAPL ในเบื้องต้น 3 ฤดูกาล และอาจจะขยายเป็น 6 ฤดูกาล ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2025/26 เป็นต้นไป

 

โดยบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ภายใต้การนำของ ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เปิดเผยว่า ทุ่มเงินเฉียด 20,000 ล้านบาทเพื่อคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่งจะครอบคลุมใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา

 

สำหรับแพ็กเกจที่ได้มาประกอบด้วย

 

  1. การถ่ายทอดสดภาพและเสียง (Live Package) สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
  2. การถ่ายทอดสดภาพและเสียง รวมทั้งคลิปภาพและเสียงดิจิทัลสำหรับรายการฟุตบอลเอฟเอคัพ
  3. คลิปภาพและเสียงดิจิทัล (Clips Package) สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

 

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลที่มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ 3 ฤดูกาล มีมูลค่า 7,975 ล้านบาทก่อน

 

 

 

หากมีการขยายเป็น 6 ฤดูกาล มูลค่ารวมจึงจะเพิ่มเป็นประมาณ 19,167 ล้านบาท อยู่ที่ FAPL แจ้งยืนยันภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 โดยจะต้องรอมติจากที่ประชุมของผู้ถือหุ้นพรีเมียร์ลีก (Premier League Shareholders) ซึ่งก็คือ 20 สโมสรพรีเมียร์ลีกปัจจุบันที่จะรับรอง โดย JAS ชำระเงินมัดจำล่วงหน้าไปแล้ว 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยกัน

 

สำหรับช่องทางในการรับชม ดร.โสรัชย์ เปิดเผยในเบื้องต้นว่าจะเป็นการรับชมผ่านแอปพลิเคชัน MONOMAX ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ AIS ที่สามารถรองรับจำนวนผู้ชมมหาศาลได้ เนื่องจากมีประสบการณ์และระบบที่มั่นคงเป็นหลัก แต่จะมีบางคู่ที่จะถูกนำไปออกอากาศทางช่อง MONO29 ซึ่งเป็นช่องทีวีดิจิทัลในเครือเดียวกันด้วย

 

ขณะที่ความคมชัดของการถ่ายทอดสดจะอยู่ในระดับ Full HD และในระดับ 4K ในบางคู่ที่สำคัญ

 

TrueVisions ยกธงขาว สู้ราคาไม่ไหว

 

การประกาศกร้าวของ JAS ในครั้งนี้นำมาซึ่งคำถามที่สร้างความสับสนให้แก่คนจำนวนมากอยู่ไม่น้อย เนื่องจากตลอดมา TrueVisions ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ปัจจุบัน มีภาพจำว่าเป็นเจ้าตลาดที่อยู่คู่กับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมาอย่างยาวนาน

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของ TrueVisions จะสิ้นสุดลงแค่เมื่อฤดูกาลปัจจุบัน 2024/25 จบลงในเดือนพฤษภาคมปีหน้าเท่านั้น ตามรอบการประมูลที่ได้ลิขสิทธิ์มาครั้งละ 3 ปี โดยรอบการประมูลที่ผ่านมาได้ลิขสิทธิ์ในฤดูกาล 2022/23, 2023/24 และ 2024/25

 

ซึ่งในฤดูกาล 2024/25 มีการปรับราคาขึ้นเป็น 5,900 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน จนแฟนบอลบ่นกันระนาวถึงราคาที่ค่อนข้างแพง (มาก) ทำให้หลายคนสงสัยว่านี่เป็นการขึ้นราคาทิ้งทวนหรือไม่ เพราะในเวลาต่อมา JAS ประกาศว่าได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกรอบล่าสุดไป

 

 

 

ล่าสุด องอาจ ประภากมล หัวหน้าสายงานทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า TrueVisions เองก็ได้ร่วมประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในรอบใหม่สำหรับฤดูกาล 2025-2028 แต่ไม่สามารถสู้ราคาได้

 

ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว TrueVisions มีสิทธิ์ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ปัจจุบัน ในการที่จะยื่นข้อเสนอสุดท้ายที่เท่ากันหรือมากกว่าผู้ที่เสนอราคาให้แก่ FAPL แต่ TrueVisions ตัดสินใจที่จะไม่ยื่นข้อเสนอเพื่อสู้แต่อย่างใด 

 

“แม้จะยื่นข้อเสนอแข่งขันในราคาที่เหมาะสม แต่มีผู้ร่วมประมูลรายอื่นที่เสนอราคาสูงกว่าจึงได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดสดสำหรับฤดูกาลหน้าไป” องอาจกล่าว โดยย้ำว่าจะไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทรู คอร์ปอเรชั่น หรือความพึงพอใจของลูกค้าสมาชิกแต่อย่างใด

 

ตรงนี้สอดคล้องกับมุมมองนักวิเคราะห์ โดยบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ก่อนที่ JAS จะได้รับสิทธิ์นี้ True ได้เป็นผู้ถ่ายทอดหลักของ EPL ในประเทศไทยทุกฤดูกาล (ยกเว้น 3 ฤดูกาลช่วงปี 2013-2016) 

 

ประเมินว่า True จ่ายเงิน 7,000-10,000 ล้านบาทสำหรับสิทธิ์ถ่ายทอดทุก 3 ฤดูกาลตั้งแต่ปี 2017 การที่ True ปล่อยให้ JAS ชนะ อาจสะท้อนถึงวินัยทางการเงินที่เพิ่มขึ้นหลังการควบรวมกิจการระหว่าง True-dtac

 

ข้อเสนอของ JAS สูงไปหรือไม่

 

จากคำพูดขององอาจ ในมุมของ TrueVisions ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น สะท้อนว่า มูลค่าข้อเสนอที่ JAS ยื่นให้แก่พรีเมียร์ลีกน่าจะสูงเกินกว่าที่ TrueVisions ประเมินจุดคุ้มค่าของการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬารายการหนึ่ง

 

โดยตามจดหมายที่ JAS ส่งชี้แจงต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าของลิขสิทธิ์รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 559,980,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19,167,723,414 บาท (สำหรับ 6 ฤดูกาล)

 

หากนำมาหารเฉลี่ยต่อฤดูกาลแล้ว ราคาต่อฤดูกาลอยู่ที่ประมาณ 3,160 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาชนะการแข่งขันเอฟเอคัพ 2022/23 รอบรองชนะเลิศ ที่กรุงลอนดอน 

ภาพ: The FA / The FA via Getty Images

 

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างที่น่าสนใจในการเจรจาครั้งนี้ของ JAS คือ การที่ลิขสิทธิ์ที่ได้มาไม่ได้มีแค่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเท่านั้น แต่รวมถึงฟุตบอลเอฟเอคัพที่แม้จะเหมือนถูกบังคับ ‘ขายพ่วง’ มาด้วย เนื่องจากเอฟเอคัพประสบปัญหาในการหาผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในหลายปีหลัง แต่ก็เป็นรายการที่มีแฟนฟุตบอลให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

 

การจ่ายเงินปีละ 3,000 ล้านบาทแลกกับฟุตบอลลีกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของโลกและรายการฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ก็อาจเป็นการลงทุนที่ไม่เลวนัก โดยเฉพาะเมื่อคิดตัวเลขมูลค่าการประมูลในหลายรอบก่อนหน้านี้

 

ย้อนกลับในปี 2012 CTH เคยเอาชนะ TrueVisions ในการประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสำหรับฤดูกาล 2013-2016 ด้วยตัวเลขระดับ 9,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าตัวเลข 2,000 ล้านบาทที่ TrueVisions เคยซื้อลิขสิทธิ์ได้ในรอบก่อนหน้า (2010-2013) มากกว่า 4 เท่าตัว ส่วนในรอบถัดมา 2016-2019 beIN SPORTS ผู้ให้บริการจากต่างประเทศ คว้าลิขสิทธิ์ไป แต่ตัดสินใจจับมือกับ TrueVisions เพื่อเจาะตลาดประเทศไทย

 

ขณะที่การประมูลรอบล่าสุดของ TrueVisions มีรายงานว่าอยู่ในระดับ ‘หมื่นล้าน’ เช่นเดียวกัน โดยได้เฉพาะพรีเมียร์ลีกด้วย ซึ่งเมื่อหารเฉลี่ยต่อฤดูกาลแล้วตัวเลขไม่ได้ห่างจากตัวเลขที่ JAS พร้อมทุ่มในครั้งนี้แต่อย่างใด

 

เพียงแต่ทางด้าน TrueVisions มองว่าการเพิ่มข้อเสนอไปสู้กับ JAS ไม่คุ้มค่าสำหรับการลงทุน จึงตัดสินใจที่จะยอมแพ้ สวนทางกับ JAS ที่มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะคว้าสุดยอดคอนเทนต์กีฬาที่ดีที่สุดของโลกมาครอง

 

พรีเมียร์ลีก ของดีที่ใครก็อยากได้

 

พรีเมียร์ลีกมีจุดเริ่มต้นจากการ ‘แข็งข้อ’ ของ 5 สโมสรใหญ่ในอังกฤษที่ต้องการแยกตัวออกมาตั้งลีกใหม่ เพื่อส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่มากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของฟุตบอลอังกฤษ มีการตกลงกันตั้งลีกการแข่งขันใหม่ในปี 1992

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้รับการยอมรับในฐานะลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดและได้รับความนิยมสูงที่สุดตลอดกาลของโลก และบ้างก็เรียกว่า ‘The Greatest Show on Earth’ หรือโชว์ที่ดีที่สุดของโลกเลยทีเดียว โดยมีมูลค่าในการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหาศาลทิ้งห่างลีกอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น

 

พรีเมียร์ลีกจะทำให้ภาพลักษณ์ของ JAS รวมถึง MONOMAX พลิกโฉมจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เป็นการเสริมทัพและความแข็งแกร่งของแบรนด์ด้วยคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกที่สามารถต่อยอดได้อีกมากมาย

 

ทั้งนี้ การประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกแยกออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน

 

  1. ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในสหราชอาณาจักร (UK) 
  2. ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในต่างประเทศ (Overseas)

 

สำหรับประเทศไทยอยู่ในประเภทที่ 2 ซึ่งพรีเมียร์ลีกโดยบริษัท FAPL จะเปิดให้มีการประมูลในทุก 3 ปี ซึ่งมูลค่าในการประมูลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมูลค่าในรอบที่ผ่านมาของลิขสิทธิ์ประเภท Overseas เมื่อปี 2021 อยู่ที่ 5,050 ล้านปอนด์ และคาดว่าในรอบใหม่สำหรับ 2025-2028 ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

 

 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการเจรจาของ JAS นั้นต้องการที่จะได้ลิขสิทธิ์เป็นระยะเวลา 6 ฤดูกาลด้วยกัน ซึ่งแม้จะดูแปลกจากปกติที่คุ้นเคยกันว่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกจะอยู่ที่รอบละ 3 ฤดูกาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว FAPL มี 2 ออปชันสำหรับผู้ร่วมประมูล ได้แก่ 3 ฤดูกาล หรือ 6 ฤดูกาล

 

โดยในสหรัฐอเมริกา สถานีโทรทัศน์ NBC ก็ประมูลลิขสิทธิ์เป็นระยะเวลา 6 ปีเช่นกัน ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2028 เพียงแต่สำหรับประเทศไทยแล้วต้องรอการยืนยันจาก JAS อีกครั้งว่าจะได้ลิขสิทธิ์ที่กี่ฤดูกาล ซึ่งในเบื้องต้นมีการยืนยันว่าได้ 3 ฤดูกาลก่อน

 

ปัจจุบันพรีเมียร์ลีกโดย FAPL ยกเลิกระบบการใช้บริษัทตัวแทนในการหาผู้ซื้อลิขสิทธิ์ เปลี่ยนมาเป็นการเจรจาโดยตรงกับผู้ให้บริการที่สนใจ ซึ่งในกรณีของ JAS มีแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อทาบทามจากพรีเมียร์ลีกให้เข้าร่วมการประมูลเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมประมูล

 

ไม่เกิน 400 บาทดูได้! คำมั่นและความท้าทายของ JAS

 

ถึงแม้ว่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจะเป็นสุดยอดคอนเทนต์ของโลกในระดับ ‘The King of Football’ แต่สิ่งที่จะตามมาอีกมากมาย ซึ่งเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ของผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบและคุณภาพของการถ่ายทอดสดว่าดีพอหรือไม่ ซึ่งเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งของระบบหลังบ้าน JAS ที่จะต้องรับมือกับปริมาณลูกค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากปัจจุบันที่มีสมาชิกในระบบ 8.6 แสนคน

 

ตามการประเมินของ ดร.โสรัชย์ หวังว่าจะมีลูกค้าที่สมัครใช้บริการชมพรีเมียร์ลีกผ่าน MONOMAX มากถึง 3 ล้านคนต่อปี ซึ่งหมายความว่าการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกภายใต้ JAS จะเป็นระบบอินเทอร์เน็ตทีวี หรือ Over-the-Top (OTT) เป็นหลัก

 

การรับมือกับจำนวนผู้ชมมหาศาลในระดับแสนหรือล้านคนพร้อมกันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ในอดีต CTH และ beIN SPORTS ที่เคยเป็นผู้ชนะการประมูล ต่างก็เคยเผชิญหน้ากับสถานการณ์ยากลำบากในเรื่อง ‘ระบบล่ม’ มาหลายครั้งจนโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หรือแม้แต่ TrueVisions ถึงจะมีประสบการณ์และความพร้อมสูงที่สุดก็เคยมีปัญหาเช่นกัน

 

การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีเรื่องแวดล้อมอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น รายการวิเคราะห์การแข่งขัน การพากย์บรรยายเกมการแข่งขัน และรายการประกอบอื่นๆ เพื่อเป็นการใช้ศักยภาพของคอนเทนต์ที่ได้มาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ไม่นับเรื่องของการหาสปอนเซอร์มาช่วยสนับสนุนการถ่ายทอดสด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะมูลค่าลิขสิทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ตัวเลขของการสนับสนุนสูงเกินกว่าที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในประเทศไทยจะรับไหว แม้กระทั่งขาใหญ่อย่าง TrueVisions เองยังลำบาก การหาสปอนเซอร์ให้ MONOMAX เป็นงานมหาหินอย่างแน่นอน

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับแฟนฟุตบอลชาวไทยไม่มีเรื่องอื่นนอกจากราคาที่ต้องจ่าย

 

ในเรื่องนี้ ดร.โสรัชย์ แย้มว่า จะพยายามทำราคาไม่ให้สูงเท่าที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะทำราคาได้ไม่เกินเดือนละ 400 บาท

 

ถ้ายึด 400 บาทก่อน คูณกับจำนวนเดือนที่พรีเมียร์ลีกแข่งขันคือ 10 เดือน เท่ากับแฟนฟุตบอลหนึ่งรายอาจต้องจ่ายเงินราว 4,000 บาทสำหรับการรับชม เพียงแต่เชื่อว่าจะรวมคอนเทนต์และช่องอื่นๆ ที่อยู่ใน MONOMAX ไปด้วย ซึ่งอาจมองว่าคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าก็ได้ทั้งสิ้น

 

 

หุ้น JAS วิ่งรับข่าว ก่อนร่วงลงมาปิดเท่ากับวันก่อนหน้า 

 

ราคาหุ้น JAS เปิดการซื้อขายวันนี้ที่ 2.54 บาท เพิ่มขึ้นทันที 6.7% จากวันก่อนหน้า แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นค่อยๆ ปรับตัวลดลงจนกลับมาปิดที่ 2.38 บาทเท่ากับราคาปิดก่อนหน้านี้ 

 

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความท้าทายที่สำคัญของ JAS คือ ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างสูง และการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ดีลนี้กลายเป็นขาดทุนเหมือนกรณีของ CTH ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต 

 

ส่วนผลกระทบต่อ True นั้น ศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การพลาดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถือว่าผลกระทบค่อนข้างน้อยมาก แม้ว่าบริษัทอาจเสียลูกค้าที่ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) ไปบางส่วน แต่เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ลดลงแล้วน่าจะเป็นบวกมากกว่า

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หลังจาก JAS ประกาศคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพ 6 ฤดูกาล JAS คาดว่าจะใช้เงินสดและการก่อหนี้รองรับการลงทุน แม้เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ ได้ประเมินฐานะการเงินของ JAS ปัจจุบันรองรับได้สิ้นสุด 2Q67 หากอิงจาก

 

  1. เงินสดในมือ 4,700 ล้านบาท
  2. เงินที่จะได้รับจากการขายหุ้นทุนซื้อคืนหุ้นละ 3.5 บาท จำนวน 300.7 ล้านหุ้น (ระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2567 – 24 มีนาคม 2568) ราว 1,000 ล้านบาท
  3. สถานะเป็น Net Cash เพราะแม้ JAS มีหนี้สินรวม 4,400 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย 736 ล้านบาท ขณะที่ฐานทุนสูง 10,700 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งเงื่อนไขการชำระค่าลิขสิทธิ์และต้นทุนอื่นๆ ในเชิงกลยุทธ์ โดยสรุปแล้วมองข้อตกลงดังกล่าวบวกต่อ JAS, MONO และ ADVANC ส่วน TRUE ที่เสียลิขสิทธิ์มองเป็นกลาง

 

คำถามสุดท้าย JAS จะไม่ทิ้งกันกลางทางอีกใช่ไหม?

 

มาถึงตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกจะมีการเปลี่ยนมือเกิดขึ้น

 

แต่คำถามสำคัญที่สะกิดใจขึ้นมาก็คือ JAS จะไม่ทำเหมือนเมื่อครั้งการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ย่าน 900MHz ที่ JAS เคาะประมูลในล็อตที่ 1 ในราคาสูงถึง 75,654 ล้านบาท แต่หลังจากที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาทได้ ก็ปล่อยให้ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาทเมื่อปี 2558

 

นอกเหนือจากการตกลงกับพรีเมียร์ลีกแล้ว ภายใน JAS ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ซึ่งมีการกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 7 มกราคม 2568 

 

ก่อนหน้า ‘เดดไลน์’ ที่ FAPL กำหนดว่าจะต้องบรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญาฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 15 มกราคม 2568 เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้น

 

ในโลกธุรกิจทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งก็อยู่ที่ JAS แล้วว่าจะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง และลบภาพจำอันเลวร้ายในวันวาน เพื่อจะกลายเป็น JAS ผู้ฆ่ายักษ์ของจริงได้หรือไม่

 

อ้างอิง:

 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X