วันนี้ (12 พฤศจิกายน) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้หารือกันเรื่องกฎหมายรองที่จะหมดวาระลงภายในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ และจะต้องรีบออกกฎหมายรองให้เร็วที่สุด
แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดและส่งผลกระทบกับประชาชนที่มาเรียกร้องอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
ซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ในระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้เพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยและมีพื้นที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งวันที่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้แล้ว แต่มีกรณีที่ประชาชนอยู่อาศัยและทำกินชั่วคราว จะมีการกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างชัดเจนโดยไม่มีการขยายพื้นที่อีก
ประเด็นที่ 2 กำหนดให้โครงการในพื้นที่ตามที่มีการกำหนดแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาให้มีแนวเขตโครงการที่กำหนดไว้ในแผนที่ท้ายจำนวน 6 แห่ง สอดคล้องกับเรื่อง One Map ที่ได้ข้อยุติไปแล้ว ซึ่งมีอุทยานแห่งชาติจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์, อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี, อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี และอุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
ส่วนผู้ที่จะอยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการจะต้องมีผลสำรวจ โดยผู้ที่มีรายชื่อตามผลสำรวจถือครองที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ ในกรณี 2 ครอบครัวขึ้นไปที่ทำกินร่วมกันในสถานที่ทำกินเดียวกันให้อยู่อาศัยหรือทำกินได้ไม่เกิน 40 ไร่ ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกินในรูปแบบผู้ครอบครองที่ดิน แบ่งเป็น 1. ผู้ครอบครองที่ดิน และ 2. สมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือน จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น มีสัญชาติไทย ไม่มีที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย และไม่เคยต้องคำพิพากษาจนถึงที่สุดในเรื่องการทำลายป่าหรือการล่าสัตว์
ทั้งนี้ ผู้ครอบครองที่ดินจะโอนการครอบครองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัยหรือทำกินไม่ได้ ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินมีหน้าที่อนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเรื่องนี้เสนอกฤษฎีกาไปแล้วและคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามนี้แล้ว
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ยังมีปัญหาและข้อขัดแย้งอยู่บ้าง ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ใช้มา 5 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นก็ได้เวลาที่จะทบทวน คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวน ดูแล และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ส่วนกรณีผู้ไร้สัญชาติที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวน 4 แสนรายซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองแล้วเป็นผู้ที่ได้อยู่อาศัยใน 6 พื้นที่ที่กำหนด ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป
ด้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ก่อนจะนำร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่มาเรียกร้องสิทธิ และวันนี้คณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ โดยย้ำว่า รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน และพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน
ขณะที่ คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
ทั้งนี้ เป็นกฎหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ทำกินได้อยู่อาศัยทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ ที่มีการประกาศก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งใช้บังคับอยู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำกินในพื้นที่เพื่อดำรงชีพต่อไปโดยรัฐไม่ได้ให้สิทธิ
ขณะที่ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงเหตุผลในการตราพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับนี้ หลักการสำคัญคือเพื่อให้คนที่อยู่ในป่าขณะนี้สามารถทำมาหากิน และอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ในระหว่างที่ตรวจสอบหรือพิสูจน์สิทธิในที่ดินว่า ตกลงพวกเขาอยู่มาก่อนหรืออยู่หลังประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่า
ตามกฎหมายเดิมระบุว่า ใครก็ตามอยู่ในพื้นที่ป่าจะต้องมีความผิดทางอาญาสถานเดียว จึงทำให้เกิดปัญหาระหว่างพี่น้องประชาชนกับหน่วยงานราชการเสมอมา จึงมีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับนี้ช่วง พ.ศ. 2562 โดยมีการกำหนดกฎบทเฉพาะกาลว่า ประชาชนที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิสามารถอยู่อาศัยทำมาหากินระหว่างมีการพิสูจน์สิทธิได้โดยไม่เป็นความผิดอาญา นี่คือหัวใจสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
ปกรณ์กล่าวอีกว่า พระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับนี้ไม่ได้ตัดสิทธิพี่น้องประชาชนเพื่อพิสูจน์สิทธิ และไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการบรรเทาความผิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมายเก่า ดังนั้นพี่น้องประชาชนสามารถอยู่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และสามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป แต่ระหว่างนั้นจะมีการพิสูจน์สิทธิโดยคณะรัฐมนตรีและจะมีแนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
“หลักการจริงๆ คือการที่คนอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุขถูกต้องตามกฎหมาย เราไม่คิดเหมือนระบบดั้งเดิมว่าใครก็ตามที่อยู่ในป่าแล้วจะมีความผิดตลอดเวลา เป็นการอยู่เพื่อพิสูจน์สิทธิหากเขาอยู่ในที่ดินนั้นมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่า หากพิสูจน์ได้ราชการก็ต้องเพิกถอนพื้นที่ที่เขาอยู่ออกจากการเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่า” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าว