การประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดและบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ที่เลื่อนมาต่อเนื่องหลายครั้ง ในที่สุดที่ประชุมวานนี้ (11 พฤศจิกายน) ซึ่งขยับเวลามาเร็วขึ้นเป็น 10.00 น. โดยใช้เวลาถกร่วม 5 ชั่วโมง เคาะชื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เบื้องลึกการประชุมครั้งนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดและบอร์ด ธปท. วานนี้ ที่มี ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นั่งเป็นประธานบอร์ดคัดเลือกประธานบอร์ดและบอร์ด ธปท. มีคำสั่งแจ้งให้คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดฯ และตนเองรวม 7 คน ประกอบด้วย
- ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
- บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
- วิฑูรย สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
- วรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
- อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
- ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
- สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
โดยขอให้ขยับเวลาการประชุมเร็วขึ้น จากกำหนดการเดิมที่เวลา 14.00 น. มาเป็นเวลา 10.00 น. ซึ่งการประชุมใช้เวลาลากยาวไปถึงเวลา 15.00 น. หรือราว 5 ชั่วโมง
ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติเลือก กิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นโควตาที่ส่งมาโดยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นว่าที่ประธานบอร์ด ธปท. คนใหม่ตามที่คาดการณ์ไว้ เอาชนะคู่แข่งอีก 2 คนคือ ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และ กุลิศ สมบัติศิริ ซึ่งเป็นโควตาที่ถูกเสนอชื่อจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป
กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากภาคการเงินระบุว่า สำหรับในที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดและบอร์ด ธปท. ที่ใช้ระยะเวลาในการประชุมนานถึง 5 ชั่วโมง กรรมการทั้ง 7 คนมีการถกข้อมูลกันอย่างเข้มข้นใน 2 เรื่องหลักสำคัญ คือ
- มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่ รวมถึงประเด็นข้อกฎหมายด้วย
- มีความรู้และความสามารถเหมาะสม มีความเข้าใจในระบบการเงินและการลงทุน รวมทั้งเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นอย่างดี
โดยคาดว่าผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดและบอร์ด ธปท. ที่มีมติเลือก กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ด ธปท. คนใหม่ จะมีมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งมีกรรมการบางคนไม่เห็นด้วย สะท้อนได้จากในที่ประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดและบอร์ด ธปท. ที่ใช้ระยะเวลาถกความเห็นในการประชุมที่ยาวนาน
เปิดเสียงฝั่งสนับสนุน-คัดค้านกิตติรัตน์นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ท่ามกลางฝั่งผู้คัดค้านและสนับสนุนกิตติรัตน์ ก่อนหน้านี้ฝั่งนักวิชาการและกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งมี 4 อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ร่วมลงชื่อด้วย ร่วมแถลงคัดค้านการครอบงำ ธปท. โดยกลุ่มการเมือง เพราะกังวลว่าจะสร้างผลกระทบตามมาอย่างมหาศาล จึงมีความเป็นห่วงหากฝ่ายการเมืองส่งบุคคลที่ใกล้ชิดเข้ามาเป็นประธานบอร์ดของ ธปท. ก็กังวลว่าอาจเป็นสัญญาณร้ายที่เป็นแบบอย่างให้นำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น การเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะครบวาระในเดือนกันยายนปีหน้า
และจะส่งผลให้ระหว่างฝ่ายการเมืองและธนาคารแห่งประเทศไทยมีระยะห่างที่ไม่เหมาะสมในอนาคต
ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการกู้ยืมที่เป็นธรรมนำรายชื่อ 15,000 รายชื่อเข้ายื่นหนังสือต่อรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อแสดงเจตจำนงในการสนับสนุนให้กิตติรัตน์ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพื่อนำความรู้และความสามารถที่มีอยู่ช่วยเหลือประชาชน ทั้งเรื่องการกู้เงินและการธนาคารที่เป็นธรรมกับประชาชน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ชี้ กิตติรัตน์ไม่เหมาะนั่งประธานบอร์ด ธปท.
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH หลังทราบผลว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับผลประชุม เนื่องจากมองว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. เพราะปัจจุบันมีสังกัดพรรคการเมืองคือพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้การทำงานอาจมีความไม่เป็นกลางในสถาบันของ ธปท. ที่การทำงานจำเป็นต้องมีความเป็นกลางในการบริหารจัดการและการดำเนินนโยบายต่างๆ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“ตามหลักการ ประธานแบงก์ชาติต้องมีความเป็นกลางในการดำเนินนโยบาย ต้องไม่เข้าข้างการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรทำงานตามเนื้อผ้าอย่างเหมาะสมของนโยบายนั้น โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ได้พูดถึงความเก่งหรือไม่เก่ง เพราะความไม่เป็นกลางอาจนำความเสียหายอีกมากมายตามมาในอนาคต” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้นั้น มองว่าสามารถทำได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ว่าการ ธปท. ปัจจุบันมีอำนาจหน้าที่ดูแลในเรื่องดังกล่าวได้
ถอดแนวคิดกิตติรัตน์ อยากใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ
มาทำความรู้จัก กิตติรัตน์ ณ ระนอง กันให้มากขึ้น กิตติรัตน์เคยเป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ออกมาแสดงจุดยืนหลายต่อหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมาว่าต้องการให้นโยบายการเงินมีบทบาท ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2567 กิตติรัตน์ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Secret Sauce ในฐานะประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากเป็นห่วงว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจได้
พร้อมทั้งกล่าวเตือนแบงก์ชาติอีกว่า การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจตอนกลางปี 2540 มาแล้ว เพราะฉะนั้นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจนั้นถ้าถูกต้อง ความเสียหายก็จะไม่เกิดมากนัก แต่เมื่อไรที่เราดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด ความเสียหายมันก็เกิด ดังนั้นการตัดสินใจทางนโยบายเศรษฐกิจไม่ว่าจะนโยบายการคลังหรือนโยบายการเงินจึงมีความสำคัญ
“การจะบริหารให้พอดีเป็นเรื่องสำคัญ การบอกว่าเราจะรักษาวินัยทางการเงินและเงินเฟ้อต้องต่ำก็แปลว่าเรากลัวเศรษฐกิจจะโต เพราะเดี๋ยวถ้าเศรษฐกิจโตมันจะดูร้อนแรง เงินเฟ้อจะขึ้น” กิตติรัตน์กล่าว