แม้นักช้อปชาวจีนจะบินไปซื้อแบรนด์หรูในญี่ปุ่น แต่ซีอีโอ BULGARI แบรนด์หรูจากอิตาลีในเครือ LVMH มุ่งมั่นที่จะทำตลาดในจีนต่อไป พร้อมขยายช่องทางออนไลน์และขยายร้านเพิ่ม รอวันเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว
ถึงวันนี้ BULGAR ได้ฉลองครบรอบ 140 ปี ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และแบรนด์เข้าไปทำตลาดจีนครั้งแรกเมื่อปี 2004 ด้วยการเปิดร้านขนาดเล็กแค่ 12 ตารางเมตร จากนั้นขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีสาขาในจีนกว่า 100 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รวม 40,000 ตารางเมตร และมีพนักงานกว่า 1,500 คน
“เรียกได้ว่าจีนเป็นตลาดที่สำคัญอันดับต้นๆ ของแบรนด์ ที่ผ่านมาวางรากฐานเอาไว้อย่างมั่นคงและมุ่งหน้าขยายการเติบโต ยิ่งถ้าหากทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะเป็นโอกาสสร้างรายได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่โตได้ดีมาก แม้หลายปีก่อนลูกค้ายังลังเลที่จะซื้อสินค้าแบรนด์หรูทางออนไลน์ แต่เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าการจัดส่งมีความปลอดภัย ก็ทำให้ลูกค้าไว้ใจมากขึ้น” Jean-Christophe Babin ซีอีโอ BULGARI กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปัจจุบันสินค้าในเครือ LVMH มีร้านค้าออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์มของจีน รวมถึง Tmall ของ Alibaba ด้วยเช่นกัน ช่องทางดังกล่าวจะทำให้เข้าถึงฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ส่วนช่องทางหน้าร้านก็ต้องขยายควบคู่กันไป เพราะหลังยุคโควิดในปี 2023 ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายอย่างหนักหรือที่เรียกว่า Revenge Buying ทำให้ยอดขายสินค้าหรูพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
แต่ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปในปี 2024 ผู้บริโภคชาวจีนระดับกลาง จากเดิมกลุ่มนี้มีกำลังซื้อมหาศาลและตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์หรู ตอนนี้พฤติกรรมเปลี่ยน เน้นใช้จ่ายสินค้าที่คุ้มค่าและประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น และบางกลุ่มหันไปซื้อทองคำแทนทั้งหมด เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน รวมถึงวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการสูญเสียมูลค่าทรัพย์สินในตลาดหุ้น
จากนั้นแบรนด์สินค้าหรูเริ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ LVMH ที่รายงานในช่วง 3 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน ยอดขายในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ลดลง 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นอกจากความท้าทายด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีอัตราการแต่งงานในจีนที่ลดลงเข้ามาซ้ำเติม ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องประดับโดยตรง
“ถึงอย่างนั้นบริษัทก็ไม่กังวล เนื่องจากคุณค่าของเครื่องประดับหรูนั้นเป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลา และจะยังเป็นสินค้าที่คงอยู่ตลอดไป เพราะต้นกำเนิดของเครื่องประดับมีมาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมัน มนุษย์ซื้อเครื่องประดับเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมสัมพันธ์ และเข้าพิธีแต่งงาน แม้ว่าปัจจุบันคนแต่งงานกันน้อยลง แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องประดับเพื่อมอบเป็นของขวัญให้คู่รักของพวกเขาอยู่ดี” ซีอีโอ BULGARI ย้ำ
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ McKinsey ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า นักช้อปชาวจีนยังต้องการสินค้าแบรนด์หรู แต่กลับเลือกเดินทางไปซื้อสินค้านอกประเทศจีนกันมากขึ้น โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เพราะพวกเขาได้รับอานิสงส์จากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินเยนที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง และถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น จีนก็ยังคงเป็นตลาดที่ BULGARI ให้ความสำคัญอยู่ดี เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวได้
อ้างอิง: