×

นิกรเสนอทางออก พ.ร.บ.ประชามติ ใช้เกณฑ์ ‘เสียงข้างมากชั้นครี่ง’ หวัง สส. – สว. ไม่ต้องแตกหักกัน

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2024
  • LOADING...
พ.ร.บ.ประชามติ

วันนี้ (6 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เปิดเผยหลังการประชุมนัดที่ 2 ของคณะกรรมาธิการร่วมฯ โดยระบุว่า ในภาพรวมความเห็นยังคงแตกเป็น 2 ฝ่าย

 

นิกรเผยว่า ฝั่ง สว. มองว่า ในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ควรต้องใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น แต่หากเป็นกฎหมายอื่นๆ ก็สามารถใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียวได้ ขณะที่ สส. เองก็ยกเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็มาจากประชามติที่ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว และกังวลว่าหากคนออกมาใช้สิทธิน้อยอาจทำให้ประชามติไม่ผ่าน

 

นิกรกล่าวว่า ส่วนตัวให้ความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ว่า ร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นี้ตนเองเป็นผู้รับผิดชอบยกร่างขึ้นมา ขณะนี้ตนเองยังไม่ตัดสินใจ เพราะไม่ได้พูดในนามของ ครม. แล้ว แต่พูดในนามของพรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งพรรคมองว่าสถานการณ์ตอนนี้หากมีการลงมติจะเกิดการแตกหัก จึงเสนอทางออกตรงกลางให้เป็น ‘หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นครึ่ง’ คือให้ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงต้องมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความเห็น

 

นอกจากนี้ยังเสนอการทำประชามติผ่านไปรษณีย์เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น จึงเห็นว่าคณะกรรมาธิการร่วมฯ ควรรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ว่าสามารถใช้ไปรษณีย์ทำประชามติแบบใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้ตนเองก็ยืนยันว่าควรใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นครึ่ง เพราะเชื่อว่ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งแน่

 

นิกรยังระบุด้วยว่า กกต. จะเดินทางไปดูงานที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกำลังจะมีการทำประชามติ เผื่อจะได้แนวคิดบางอย่างมาปรับใช้ โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ จะเชิญผู้บริหารบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ กกต. มาหารือเรื่องนี้ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งหากได้ข้อมูลครบก็อาจจะตัดสินใจในครั้งนั้นหรือครั้งถัดไปเลยก็ได้ แต่ถึงอย่างไรจะต้องได้ข้อสรุปก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

“ผมไม่อยากให้แตกหักกันเท่าไร เพราะมันจะช้าไปอีก 180 วัน แค่ปี 2570 ยังอาจจะไม่ทัน ถ้าต่อเวลาไปอีกจะนานเกินไป ดังนั้นเราต้องทำให้เร็วที่สุดแม้ว่าจะไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ต้องให้เร็วที่สุด” นิกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising