บมจ.การบินไทย เข้าแผนฟื้นฟูกิจการในปี 2564 หลังจากมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนยาวนานติดต่อกัน 8 ปี ในปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิหนักกว่า 1.41 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขขาดทุนที่สูงสุดในประวัติการณ์ แต่หลังจากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยมีพัฒนาการภาพรวมธุรกิจดีขึ้นจนกลับมามีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำลังจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ และนำหุ้นกลับเข้ามาเทรดในไตรมาส 2/68
ล่าสุดกลับเกิดกระแสข่าวรัฐบาลวางแผนจะยึดการบินไทย
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนว่า กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทฯ มีหนังสือมายังบริษัทฯ เพื่อเสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนเพิ่มจำนวน 2 คน ได้แก่
- ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
- พลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
โดยกระทรวงการคลังชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นโดยสรุปว่า เนื่องจากในช่วงเวลาการดำเนินการตามแผนที่เหลืออยู่ บริษัทฯ จะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญและมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต โดยการตัดสินใจดังกล่าว บริษัทฯ จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ภายหลังการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ร่วมตัดสินใจและสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อให้การบริการแผนฟื้นฟูกิจการและการออกจากการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ซึ่งผู้บริหารแผนพิจารณาแล้วเห็นว่า ควรนำข้อเสนอของกระทรวงการคลังเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาลงมติตามความเห็นของเจ้าหนี้ต่อไป
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย
ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้บริหารแผนจึงเห็นควรให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 รายดังกล่าว ได้แก่ ปัญญา ชูพานิช และ พลจักร นิ่มวัฒนา และเพิ่มเติมเอกสารแนบที่เกี่ยวกับชื่อและคุณสมบัติของผู้บริหารแผนและหนังสือยินยอมการเป็นผู้บริหารแผน (คำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 3)
ดังนั้น ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 2 และคำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 3 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์กำหนดวันประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามคำร้องขอแก้ไขแผนทั้ง 3 ฉบับ ทั้งนี้ บริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป
ยอมรับ ในอดีต ‘การบินไทย’ เคยโดนภาครัฐแทรกแซง
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย เคยให้ข้อมูลในงานแถลงข่าว ‘การบินไทยเผยทิศทางใหม่ที่บินไกลกว่าเดิม พร้อมความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ’ ว่าปัจจุบันบริษัทมีเงินสดประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงราว 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้นที่มาจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเงินสดที่มาจากการดำเนินงาน
หลังจากบริษัทดำเนินการตามเป้าหมายของแผนฟื้นฟูกิจการตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 – มิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่เกิดเหตุผิดนัด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย
รวมถึงจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง
ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่กำหนด คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเพื่อเปิดโอกาสให้แก่นักลงทุนรายอื่นๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของบริษัทฯ ในช่วงไตรมาส 1/68
ทั้งนี้ หลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.การบินไทย ลงเหลือถือไม่เกินสัดส่วน 41.4% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นในสัดส่วน 47.9%
พร้อมทั้งคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในไตรมาส 2/68
โครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.การบินไทย ภายหลังการปรับโครงสร้างทุน
ส่วนการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทฯ ที่มีประสิทธิภาพในอนาคตขึ้นกับผู้ถือหุ้นที่จะคัดเลือกแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทชุดใหม่ในช่วงไตรมาส 2/68 ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูฯ เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพคล้ายกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน ไม่กลับไปคล้ายกับเหตุการณ์ที่บริษัทฯ เคยมีปัญหาเกิดขึ้นในอดีต
“สมัยก่อนช่วงที่การบินไทยเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องยอมรับว่ามีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะหน่วยงานภาครัฐในการขออนุมัติตามขั้นตอนต่างๆ ทำให้ตัดสินใจได้ช้า และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีการแทรกแซงในการโยกย้ายหรือแต่งตั้งในระดับต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งธุรกิจของการบินไทยอยู่ในสภาพธุรกิจที่แข่งขันสูงมาก เพราะฉะนั้นเมื่อได้คนไม่ดีเข้ามาบริหารบริษัทก็แข่งขันสู้กับสายการบินคู่แข่งอื่นไม่ได้” ปิยสวัสดิ์กล่าว
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยมี 3 รายชื่อ ดังนี้
- ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีประสบการณ์การทำงานในองค์กรเอกชนชั้นนำของไทยมาแล้วหลายแห่งทั้งภาคธุรกิจและการเงิน
- ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และอดีตซีอีโอ บมจ.ปตท. หรือ PTT
- พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง
ไทม์ไลน์กำหนดการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูฯ
TDRI ชี้ ภาครัฐควรลดบทบาทแทรกแซง ‘การบินไทย’
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก่อนหน้านี้เคยบทวิเคราะห์หัวข้อ ‘ฟื้นฟูการบินไทย: ทำอย่างไรถึงจะยั่งยืน?’ ให้ข้อเสนอแนะว่า การฟื้นฟูการบินไทยต้องอาศัยประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยภาครัฐควรจะลดบทบาทในการเข้าไปแทรกแซงการฟื้นฟูกิจการโดยตรง และให้ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการทำแผนฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจในอนาคตของภาครัฐควรจะต้องลดบทบาทลง ไม่แต่งตั้งบอร์ดผู้บริหารเข้าไปจำนวนมาก โดยภาครัฐควรจะวางแผนลดบทบาทความเป็นเจ้าของบริษัทลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจในรูปแบบของเอกชนมากกว่าในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจที่ภาครัฐมีบทบาทในการกำหนดมากจนเกินไป
หากภาครัฐไม่สามารถดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวได้ จุดเหมาะสมที่ทำให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังอาจเป็นการปล่อยให้ธุรกิจเลิกกิจการ และให้บริษัทเอกชนอื่นเข้ามาดำเนินการให้บริการแทน อย่าลืมว่าธุรกิจสายการบินในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาไทยหรือนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศมีทางเลือกในการเดินทางจำนวนมาก ไม่ใช่เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีการบินไทย
‘ศิริกัญญา’ อ่านเกมรัฐบาลวางแผนยึด ‘การบินไทย’
ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อมูลผ่าเฟซบุ๊กระบุว่า รัฐบาลวางแผนยึด บมจ.การบินไทย หลังกลับมากำไรต่อเนื่อง แม้ไม่ได้เอากลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่จะส่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่ม 2 คน เพื่อกุมเสียงข้างมาก ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสิทธิ์ ทั้งๆ ที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าจากที่มีความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้ หลังจาก บมจ.การบินไทย เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการมา 3-4 ปี
ขณะนี้ บมจ.การบินไทย กำลังจะออกจากแผนแล้ว โดยเสนอแผนแปลงหนี้เป็นทุนและการลดทุน เพื่อพลิกการขาดทุนสะสมให้กำไรกลับมาเป็นบวก โดยแผนแปลงหนี้เป็นทุนถูกยื่นไฟลิ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือลดทุน
โดยวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย ทั้งหลายจะต้องโหวตรับรองแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขเพื่อขอลดทุนมาล้างหนี้สะสมซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ดี ในแผนฟื้นฟูฯ ที่จะมีการแก้ไขดังกล่าวกลับเพิ่มเรื่องขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ อีกเข้าไป 2 คน รวมเป็น 5 คน แบ่งเป็น 1 คนจากกระทรวงการคลัง และอีก 1 คนจากกระทรวงคมนาคม เพื่อกุมเสียงข้างมาก จากปัจจุบันมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังจำนวน 1 คนคือ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. ที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ
โดยหลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ควรมีตัวแทนในการบริหารแผนฟื้นฟูฯ แต่เป็นเรื่องที่ผิดหลักการ เนื่องจากคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูเป็นตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น โดยรัฐบาลให้ บมจ.การบินไทย กู้เงินจำนวน 1.28 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้ 1.29 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น แต่จะขอเป็นเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งดูเป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้รายอื่นมากเกินไป
ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่เคยมีข่าวว่ารัฐบาลจะให้กู้เพิ่มตอนช่วงเริ่มต้นเข้าแผนฟื้นฟูฯ แต่สุดท้ายไม่ได้ให้กู้เงิน โดยมีเรื่องเดียวที่ช่วยได้จนเกิดมรรคเกิดผล คือปลด บมจ.การบินไทย จากสถานะ ‘รัฐวิสาหกิจ’ ทำให้การบริหารคล่องตัวขึ้นมาก
ศิริกัญญาระบุต่อว่า พอมาวันนี้ที่ บมจ.การบินไทย สามารถกลับมายืนได้อีก ต้องปลดคนออกไป 50% จากทั้งหมดที่เคยมี รวมทั้งขายเครื่องบินและทรัพย์สิน ปฏิรูปองค์กรเพื่อให้กลับมาทำกำไรได้ต่อเนื่อง รัฐบาลก็อยากมีส่วนร่วมบริหารขึ้นมาทันที อีกทั้งยังไม่ได้นับรวมว่าหลังแปลงหนี้เป็นทุนแล้วสัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือก็จะอยู่เพียงราว 33% ซึ่งกระทรวงการคลังก็ยังคงสิทธิ์ออกเสียงเลือกบอร์ดของ บมจ.การบินไทย ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่ากระทรวงการคลังยังจะนำเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก เพื่อให้ได้อำนาจควบคุม บมจ.การบินไทย มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็จะซื้อไม่เกิน 50% ไม่ให้ บมจ.การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมองว่าปัจจุบันรัฐบาลมีเงินจำนวนไม่มาก ซึ่งจะหาเงินจากแหล่งใดเพื่อนำไปซื้อหุ้นของ บมจ.การบินไทย มูลค่าหลายหมื่นล้านบาทได้ โดยมองว่าคงหนีไม่พ้นเงินภาษีที่ปัจจุบันยังเก็บไม่เพียงพอ
อีกทั้งที่สำคัญคนใน บมจ.การบินไทย เองน่าจะยังเข็ดขยาดหวาดผวากับการที่รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน A340 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ขาดทุนอย่างหนักมาจนถึงวันนี้
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลมีเงินไม่เพียงพอ ขณะที่ก็มีอำนาจควบคุมใน บมจ.การบินไทย เพียงพอแล้ว ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือส่งผู้บริหารแผนเข้ามาเพิ่มอีก หากคนในรัฐบาลไม่ได้เล็งเป้าผลประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ใน บมจ.การบินไทย ดังนั้นฝากขอเจ้าหนี้การบินไทยช่วยกันโหวตไม่รับผู้บริหารแผนคนใหม่ที่กระทรวงการคลังเสนอเพิ่มมาอีก 2 คน