วันนี้ (6 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มี พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ในช่วงต้นของการประชุม นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ในความเห็นต่างของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ มีเพียงมาตราเดียวที่เป็นนัยสำคัญ คิดว่าจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และคิดว่าทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ธันวาคม จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมทันทีเพราะเป็นเรื่องด่วน
นิกรยังกล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมนี้ หากมีการลงมติเราจะแจ้งไปในหนังสือเชิญ พร้อมแจ้งเพิ่มเติมในแอปพลิเคชัน LINE ด้วย ก่อนย้ำว่า “ไม่ใช่ว่าพวกผมไม่อยู่แล้วแอบโหวต”
จากนั้น ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมควรควบคุมเงื่อนไขระยะเวลาให้ไม่ยาวนานไปกว่านี้ และเห็นด้วยในหลักการว่าเมื่อถึงเวลาลงมติก็จำเป็นที่จะต้องขอให้แจ้งล่วงหน้า หากทราบล่วงหน้าแล้วและมีภารกิจอื่นที่ไม่ได้เข้ามาก็ต้องเคารพเสียงของผู้ที่เข้าประชุมเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วและเริ่มจากวันนี้ คาดว่าจะเหลือวันที่สามารถประชุมได้ประมาณ 3-4 ครั้งเป็นอย่างมาก และกฎหมายจะถูกส่งกลับไปแต่ละสภาได้ตั้งแต่เริ่มเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป และไม่อยากให้ระยะเวลายืดออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกรอบที่ชัดเจนว่าธงในการจัดทำรายงานของเราล่าช้าเกินไปกว่าวันเปิดสมัยประชุม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฝั่ง สว. ที่มี พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ เป็นประธาน ในการประชุมนัดสุดท้ายได้ทบทวนมติในมาตรา 7 ซึ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เสียงข้างมากเพื่อหาข้อยุติในการทำประชามติ ซึ่งในวันนั้นคณะกรรมาธิการที่เห็นชอบกับการแก้ไขของ สส. ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ทำให้ผลการลงมติเห็นชอบกับหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น 14 ต่อ 1 เสียง นำมาสู่ความเห็นต่างระหว่าง 2 สภาดังกล่าว
เสนอทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่กระทบกรอบเวลารัฐธรรมนูญใหม่
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนก่อนเข้าประชุมโดยย้ำความเห็นของตัวเองว่า หากรัฐบาลยังยึดแผนเดิมที่จะให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และผูกเงื่อนไขไว้ว่าจะไม่ทำประชามติครั้งแรกจนกว่าจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เสร็จนั้น เกรงว่าจะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้บังคับใช้ได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป
“เนื่องจากความประสงค์ของรัฐบาลคืออยากให้เกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงต้นปี 2568 แต่ในเมื่อวันนี้ที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงทำให้กรอบเวลาดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็นจริงได้ ซึ่งหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้นั้นก็คือลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง ตามที่พรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่า 2 ครั้งเพียงพอแล้ว” พริษฐ์กล่าว
ส่วนหากคณะกรรมาธิการร่วมได้ข้อสรุปว่ามีความเห็นต่างเรื่องหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามข้อบังคับ สส. ยังสามารถยืนยันการแก้ไขตามร่างเดิมได้ เพียงแต่กฎหมายจะถูกยับยั้งไปอีก 6 เดือน แต่หากเรากลับไปใช้กระบวนการทำประชามติจาก 3 ครั้งให้เหลือ 2 ครั้ง ก็จะไม่กระทบกับกรอบเวลาการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สำหรับกรณีเสียงโหวตของคณะกรรมาธิการร่วมฝ่าย สส. ที่ขาดไปในการประชุมนัดแรก พริษฐ์ชี้แจงว่า การลงมติโหวตประธานคณะกรรมาธิการร่วมในการประชุมครั้งที่แล้วเป็นแบบลับ แต่หากดูผลการลงมติก็พอจะคำนวณได้ว่าคะแนนที่โหวตให้ฝ่าย สว. ได้เป็นประธานมีจำนวนมากกว่า สว. ที่เข้าประชุมในวันนั้น หมายความว่าคงมีคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของ สส. ไปลงมติให้ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามีใครบ้าง
นอกจากนี้ สำหรับคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของ สส. พรรคภูมิใจไทย ที่มีจุดยืนสอดคล้องกับฝั่ง สว. ที่สนับสนุนหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น พริษฐ์ระบุว่า ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด แต่หากวิเคราะห์จากการลงมติในที่ประชุมสภาจะเห็นว่าทุกพรรคยืนยันตามร่างของ สส. มีเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวที่งดออกเสียงในวันนั้น
“จึงอาจอนุมานได้ว่าหากจะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับการลงมติเสียงส่วนใหญ่ของ สว. ก็อาจเป็นพรรคภูมิใจไทย แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ก็ต้องรอการพูดคุยในชั้นคณะกรรมาธิการร่วม” พริษฐ์กล่าว