ลุ่มน้ำชี-มูล เป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาตั้งแต่บรรพกาล แต่ก็ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเรื้อรังเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลราชธานี
โจทย์เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมหากาพย์ยาวนาน ความพยายามที่จะแก้ปัญหาจากต้นตอก่อนจะบานปลายด้วยการวางกลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้อย่างความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ฝนตกหนักผิดฤดู และพายุทวีความรุนแรงเกินกว่าศักยภาพของเครื่องมือบริหารจัดการน้ำจะรับมือ
ความรุนแรงของอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปี 2565 โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานีและวารินชำราบ นับได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 43 ปี พื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วมเป็นวงกว้างครอบคลุม 19 อำเภอ และบ้านเรือนประชาชนจมน้ำอีก 9 อำเภอ หลังเผชิญกับฝนจากร่องมรสุมพายุโนรู
“ปี 2562 จังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดปลายน้ำ ที่แม่น้ำสายหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี โดยแม่น้ำ 2 สายจะไหลมาบรรจบกันที่จังหวัดอุบลราชธานี และท้ายสุดจะไหลออกที่แม่น้ำโขงในอำเภอโขงเจียม
“แม่น้ำชีเป็นแม่น้ำที่ยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร แม่น้ำมูลยาวประมาณ 900 กิโลเมตร ครอบคลุมหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ทำให้น้ำไหลช้าและระบายออกได้ยาก เวลาฝนตกน้ำก็หลากจากต้นน้ำมาออกที่จังหวัดอุบลราชธานี ถ้าจังหวะนั้นพายุมาพอดีน้ำจะวิ่งสวนจากอ่าวไทยเข้าเวียดนามแล้วมารวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยกายภาพลุ่มน้ำที่สุ่มเสี่ยงเมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นความยากในการบริหารจัดการน้ำ
“ปัญหาคือลุ่มน้ำชี-มูลมีพื้นที่รับน้ำใหญ่มาก ข้อจำกัดคือระบบกักเก็บน้ำน้อยกว่าพื้นที่รับน้ำ เมื่อไรที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำ จำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำปาว มีความเป็นไปได้ที่พื้นที่รับน้ำจะได้รับผลกระทบ ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเสี่ยงน้ำท่วมทุกปี”
จะโทษว่าเป็นความผิดของฝนฟ้าอย่างเดียวคงไม่ได้ ดร.ธเนศร์ บอกว่า การรุกล้ำพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติและทางระบายน้ำ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการขยายตัวของชุมชนเมืองก็มีส่วนเช่นกัน
“กรมชลประทานเพิ่งลงพื้นที่ไปพัฒนาอ่างเก็บน้ำต้นแม่น้ำชี ที่จังหวัดชัยภูมิ สามารถจุน้ำได้ประมาณ 4-5 ร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่จังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ไม่ค่อยห่วงเพราะมีระบบป้องกัน แต่ส่วนมากฝนตกในพื้นที่ก็จะไปค้างในพื้นที่ ในทุ่งนาจำนวนมาก และน้ำทุกอย่างก็หลากลงมาที่สถานีวัดน้ำ M.7 จังหวัดอุบลราชธานี”
เป็นที่แน่ชัดว่าผลกระทบต่อประชาชนหากเกิดอุทกภัย นอกจากบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรจะเสียหาย การคมนาคมถูกตัดขาด ประชาชนไม่สามารถเดินทางหรือขนส่งสินค้าได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง ส่งผลต่อรายได้และการจ้างงาน และยังกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ด้วย
แนวทางการรับมือของกรมชลประทาน “ในอดีตกรมชลประทานใช้เขื่อนที่มีในการกักเก็บน้ำ อย่างในลุ่มน้ำชีก็จะมีเขื่อนทดน้ำเป็นช่วงๆ ที่คอยกักเก็บหน่วงระบาย ตั้งแต่ต้นน้ำชีอย่างเขื่อนชนบท, เขื่อนวังยาง, เขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร ในขณะที่แม่น้ำมูลจะมีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาเป็นที่กักเก็บหน่วงระบายเช่นกัน”
เท่ากับว่าศักยภาพการกักเก็บน้ำตั้งแต่ต้นทางต้องเก็บให้ได้มากที่สุด เมื่อมาถึงกลางทางต้องใช้เขื่อนทดน้ำเพื่อให้น้ำที่มาตอนล่างค่อยๆ ระบายลงมาเพื่อลดผลกระทบต่อตอนล่าง
“อีกแนวทางคือการจัดจราจรลุ่มน้ำชี-มูล ถ้าลุ่มน้ำชีมีปริมาณน้ำมากก็ชะลอหรือปิดการไหลจากแม่น้ำมูลไว้ก่อน หรือถ้าลุ่มน้ำมูลมีน้ำมากก็ทำเช่นเดียวกับลุ่มน้ำชี เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้สมดุลระหว่างการป้องกันน้ำท่วมและการกักเก็บน้ำไว้ใช้”
แต่ในบางพื้นที่ก็ต้องปรับแนวทางให้สอดคล้องไปกับกายภาพของพื้นที่ ยกตัวอย่าง จังหวัดอุบลราชธานีที่เข้าไปทำคันกั้นน้ำเพิ่มในบางจุด
“โดยปกติทางน้ำที่เข้าอำเภอวารินชำราบจะมีปริมาณน้ำผ่านได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที เกินกว่านี้ก็ท่วมอำเภอวารินชำราบแล้ว การจัดจราจรน้ำในจุดนี้แก้ปัญหาได้ไม่ดีเพราะปลายทางมันเล็ก โอกาสที่น้ำขังด้านบนยังสูง กรมชลประทานจึงทำคันกั้นน้ำเพิ่มในบางจุด ทำให้ปริมาณน้ำจากเดิมผ่านได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ตอนนี้ช่วงปลายโล่งกว่าในอดีต สามารถเร่งระบายน้ำตอนบนออกก่อนได้ พอท้ายฤดูก็กักเก็บน้ำได้”
ดูเหมือนจะเป็นแนวทางการบริหารน้ำที่ใช้งบประมาณไม่มากและลงมือทำได้ทันที แต่การสร้างแนวฟลัดเวย์เป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุด
“ก่อนหน้านี้กรมชลประทานศึกษาพื้นที่มาแล้วว่าหากจะสร้างแนวฟลัดเวย์อ้อมจังหวัดอุบลราชธานีตัดจากแม่น้ำชี-มูลออกไป จะช่วยระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยระยะเวลาในการทำที่นาน งบประมาณสูง และต้องได้รับความเห็นชอบและร่วมมือจากทุกฝ่าย และควรมีกฎหมายชัดเจนว่าตรงไหนจะเป็นพื้นที่รับน้ำ และจะมีการชดเชยให้คนในพื้นที่อย่างไร ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันใกล้
“สิ่งที่กรมชลประทานยังต้องทำต่อเนื่องคือ พัฒนาระบบระบายน้ำในเขตเมืองให้มีประสิทธิภาพ แต่ก็สามารถรับมือได้ระดับหนึ่งเพราะมันคืออุทกภัย แต่อย่างไรก็ดีการพัฒนาจากจุดหนึ่งที่เคยท่วม 5 ปีครั้งมาเป็น 10 ปีครั้งได้ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ท้ายที่สุดแล้วต้องบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายจังหวัด ที่สำคัญคือสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ”
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กรมชลประทานกำลังพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าที่แม่นยำและทันต่อสถานการณ์ ปรับปรุงระบบระบายน้ำและเพิ่มพื้นที่รับน้ำในเขตเมืองอุบลราชธานี และสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเพิ่มเติม นอกจากนี้จะเริ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติเพื่อรองรับน้ำหลาก ไปจนถึงส่งเสริมการปรับตัวและการอยู่ร่วมกับน้ำของชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
จริงๆ แล้วประชาชนก็มีส่วนร่วมได้ ตอนนี้ตามโครงการของศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เขาจะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แผนงานต่างๆ ในลุ่มน้ำต้องผ่านคณะกรรมการก่อน ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนก็อยู่ในคณะกรรมการ สามารถเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ ได้ เพราะโครงการอะไรก็ตามจะเกิดขึ้นได้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องมองไปในทิศทางเดียวกัน
“การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่”