×

10 พรรคการเมือง มอง 86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน

24.06.2018
  • LOADING...

ที่ Voice Space ถนนวิภาวดี บรรยากาศในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันอภิวัฒน์สยาม เต็มไปด้วยตัวแทนจากพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ทั้งพรรคเก่าและใหม่ รวม 10 พรรค

 

โดยทั้งหมดเดินทางมาเพื่อร่วมบันทึกเทปสด รายการพิเศษ ‘Wake Up Thailand Special’ ในหัวข้อ ‘86 ปี ประชาธิปไตยไทย ก้าวต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปีของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ Voice TV และ 86 ปีของการอภิวัฒน์สยามโดยคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ผู้ดำเนินรายการได้ชวนให้ตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองร่วมลงคะแนนให้กับประชาธิปไตยไทย

 

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: พรรคประชาธิปัตย์

 

“ผมไม่อยากมองอะไรด้านเดียว ในการให้คะแนน ผมจะพิจารณา 2 ด้าน คือสังคมและนักการเมือง ในส่วนสังคม 86 ปี สังคมก้าวหน้ามากขึ้น ประชาชนโหยหาเสรีภาพ และถ้ามีส่วนร่วม ก็จะสามารถผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าได้ ผู้นำหลายรัฐบาลเข้าใจดี แม้การรัฐประหารในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ต้องถามว่า จะกลับมาสู่ประชาธิปไตยเมื่อไร ต้องตอบคำถามทั้งโลกและไทย ในการทำรัฐธรรมนูญก็ต้องถามหาความชอบธรรมจากประชาชน แม้ประชามติที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยสะสมความรู้ แต่ประชาชนกลับหวาดระแวง

 

“ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรความก้าวหน้า แต่ถามว่าปัญหาจนถึงตอนนี้ เรามีรัฐบาลรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่มีข้อจำกัดที่นำประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทย เราจะทำได้ไหม ที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และปัจจัยอื่นอย่าง สื่อมวลชน องค์กรตรวจสอบ ถ้าเราทำไม่ได้ เราจะถอยหลังและสอบตก ผมให้ประมาณ 5 ทั้งที่เราเคยได้ตั้ง 7 หรือ 8”

 

จาตุรนต์ ฉายแสง: พรรคเพื่อไทย

 

“ผมให้ 3-4 คะแนน เพราะว่าบ้านเมืองปกครองโดยชนชั้นนำ มีกองทัพเป็นกำลังหลัก ใครมีอำนาจก็ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบันยอมรับการทำรัฐประหารในอดีต สามารถครอบงำบ้านเมือง

 

“ความคิดของชนชั้นนำปลูกฝังให้ประชาชนเชื่อว่าประชาชนไม่สามารถกำหนดบทบาทบ้านเมืองและปลูกฝังประชาธิปไตยแบบไทยว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็น การให้ผู้อำนาจเบ็ดเสร็จปกครองเป็นสิ่งขาดไม่ได้ ขาดการสร้างและพัฒนาอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ปลูกฝังค่านิยมความเท่าเทียม นิติรัฐ เสรีภาพ การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม แม้แต่การเคลื่อนไหวร้องเรียนประชาธิปไตยก็ไม่ได้เกิดจากประเด็นเสรีภาพเป็นสำคัญ พรรคการเมืองล้มลุกคลุกคลานห้ามทำกิจกรรม ถูกยุบพรรคจนไม่สามารถทำได้ และอีกข้อคือ ระบอบกฎหมายและระบบยุติธรรมรับรองการรัฐประหารว่า หากใครสามาถใช้กองทัพยึดอำนาจย่อมมีอำนาจเหนืออำนาจทั้ง

สาม”

 

 

วราวุธ ศิลปอาชา: พรรคชาติไทยพัฒนา

 

“86 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานพอสมควร บทเรียนตลอดหลายปีมานี้ ประชาชนอาจชอบพรรค บางครั้งมีวาทกรรม มีพรรคเทพ พรรคมาร พอถึงจุดอิ่มตัว ผมเห็นการรัฐประหาร พอมีทีหนึ่งก็จะได้เสียงตอบรับจากประชาชน เอาดอกไม้ให้ทหาร พอผ่านอีกระยะ ผู้เล่นเปลี่ยน เหมือนละคร พระเอกกลายเป็นผู้ร้ายจนไม่รู้ว่าเป็นใคร ถึงตอนนี้ผมมั่นใจว่าการเมืองไทยมาจนถึงตอนนี้ ผมให้ 6 เต็ม 10

“ผมว่าการที่จะเดินไปข้างหน้า การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ต้องผ่านเลือกตั้ง นักการเมืองเหล่านี้ประชาชนจะตัดสิน ผมมั่นใจว่าท้ายที่สุดประชาชนมั่นใจที่จะหยิบประชาธิปไตย”

 

อนุทิน ชาญวีรกูล: พรรคภูมิใจไทย

 

“ผมสรุปว่าไม่ผ่าน ในยุคที่ผมจำความได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ประชาธิปไตยมีบทบาทนำประเทศไทย จนถึงปี 2549 ผมไม่เห็นด้วยเลยที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่สามารถรัฐประหารตรงนี้ผมให้ศูนย์ แต่ว่าคณะรัฐประหารทุกคณะก็ยังต้องคืนประชาธิปไตย ที่ให้ไม่ผ่านเพราะรัฐประหารยึดอำนาจ คนในประชาธิปไตย ก็ใช้ประชาธิปไตยแบบขาดๆ เกินๆ ในความเห็นผมประชาธิปไตยคือสวัสดิภาพ สวัสดิการของประชาชน อำนาจต้องเป็นของประชาชน”

 

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส: พรรคเสรีรวมไทย

 

“เมื่อปี 2535 การยึดอำนาจโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ มีรัฐบาลเลือกตั้ง ผมคิดว่าประชาธิปไตยจะเบ่งบาน จนมาปี 2549 ยึดอำนาจอีก ผมคิดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ปี 2557 ก็มาอีก ผลออกมาคือ เขียนรัฐธรรมนูญก็โกง ประชามติก็โกง ออกกฎหมายลูกก็โกง เรียกว่าโคตรโกง เรารู้เลยว่าสืบทอดอำนาจแน่ ต่อมาคำสั่งต่างๆ ที่ห้ามพรรคการเมือง ทำให้พรรคใหม่ต้องมาจดแจ้ง ส่วนจะจัดเลือกตั้งก็ไม่ยอม มีการเลื่อนหลายครั้ง แล้วก็บอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน คนแบบนี้จะเชื่อถือได้อย่างไร ผมให้ศูนย์ เพราะประเทศไม่มีประชาธิปไตย”

 

 

ไพบูลย์ นิติตะวัน: พรรคประชาชนปฏิรูป

 

“นิยามประชาธิปไตยของผมประกอบด้วย ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรับฟังความเห็นต่าง แม้จะไม่เห็นด้วย ถ้าพูดถึงสถานการณ์ในประเทศตั้งแต่ 2475 ไม่ได้เริ่มจากประชาธิปไตยแต่เป็นคณาธิปไตย

 

“ถ้าประชาธิปไตยในนิยามที่มีการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วม แต่ตลอดหลายปีก็มีคณะต่างๆ เข้ามา ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากพูด ผมต้องพูดในช่วงเลือกตั้ง ถ้าจะให้คะแนน ก็ต้องให้คะแนนในช่วงเลือกตั้ง ถ้าถามผมหากนับถึงปี 2557 คือสอบตก ประชาธิปไตยที่สำคัญคือการแสดงออก ความสวยงามอยู่ตรงนี้ ประชาธิปไตยไม่ผ่านถึง 2557

 

“เทียบกันไม่ได้ระหว่างนักรัฐประหารกับนักเลือกตั้ง ซึ่งต้องเทียบนักการเมืองแต่ละพรรค สำหรับผมการเมืองในมิติที่ผ่านมา พรรคการเมืองยังติดกับประชาธิปไตยและใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ แต่ถ้าให้ประชาชนใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือ ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยประเทศไทยมั่นคงและสอบผ่าน”

 

สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์: พรรคพลังพลเมืองไทย

“เรากำลังพูดถึงจาก 2475 ถึงปัจจุบัน ผมไม่ให้ถึงครึ่ง แต่ถ้าเป็นคะแนนให้ 2 และในปีหน้าจะสูงขึ้น แต่การเลือกตั้งจะมาถึงหรือไม่ ประชาธิปไตยต้องมีอธิปไตยของปวงชน มีสิทธิ์เลือกเป็นของตนเอง แต่ที่ผ่านมายังไม่มี มีความเหลื่อมล้ำ ในสังคมความเหลื่อมล้ำเยอะ

 

“ผมถึงพูดว่าพรรคเราจะเป็นพรรคแรกที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำ เห็นว่าขณะนี้ทุนใหญ่รังแกทุนเล็ก เช่น ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทำลายวิถีชุมชน ถามว่าเขาทำทำไม แบบนี้เรียกว่ารังแกชุมชนหรือไม่ ชาวบ้านขายข้าวแกงเดี๋ยวนี้ไม่ได้ขาย วิธีเช่นนี้เรียกว่าผูกขาดตัดตอน ไม่มีหน่วยรัฐเข้าไปดูแล

 

“ถ้าเราดูแลกฎหมายไม่ให้เหลื่อมล้ำ เราสามารถแก้ไข แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ นี่คือปัญหาประชาธิปไตย”

 

 

ชวน ชูจันทร์: พรรคพลังประชารัฐ

 

“ผมเองในฐานะภาคประชาชนที่ยืนดูและศึกษาประเทศไทย เราเคยมีความหวังที่เจิดจ้าที่สุดคือ 14 ตุลาคม 2516 มันสดใสมาก แต่แล้วก็เกิดอุปสรรค ทำให้เกิดคำถามตามมาคือ ประชาธิปไตยจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่ในที่สุดเราต้องอยู่กับประชาธิปไตย

 

“โจทย์ใหญ่คือ เราจะขับเคลื่อนให้ยั่งยืนอย่างไร ถ้าจะโทษคือทุกส่วนเป็นจำเลย เราทุกคนมีส่วนสร้างขึ้นมา วันนี้ระบอบปกครองต่างๆ ผ่อนคลายมาก เช่น คอมมิวนิสต์ที่ผ่อนปรน หรือประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไป ประชาธิปไตยไม่มีอะไรสมบูรณ์ในแต่ละประเทศ แต่เรามีความหวังว่าจะไปให้ถึงให้ดี ส่วนอุปสรรคแตกต่างกันไป แต่ในความเปลี่ยนแปลงคือ ฝ่ายประชาชนที่ไม่ได้บริหาร ได้รับผลกระทบหลายด้าน จึงเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 

“ถ้าพูดถึง คสช. เป็นอุปสรรคหรือไม่ ต้องถามว่า ประชาชนมีส่วนร่วมไหม แม้รัฐธรรมนูญระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่เรารู้หลักการปกครองตนเองหรือไม่ ถ้าจะรู้อย่างดีก็ต้องทำความเข้าใจพอสมควร แต่เป็นเรื่องปกติ อะไรที่ใหม่ ย่อมไม่มีความเข้าใจ ถ้าพูดถึงคะแนน ดูจากความเข้าใจของภาคประชาชน ผมให้เกิน 5 คะแนน”

 

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: พรรคอนาคตใหม่

 

“สำหรับผมให้ 1.97 คะแนน ในฐานะวิศวกรที่วัดตามหลักฐาน ต้องหาคำตอบในเชิงปริมาณ ตลอด 86 ปีที่ผ่านมา มีประชาธิปไตยเพียง 29 ปี ถ้าคำนวณรวมแล้วได้ 1.97

 

“ผมจะตอบในฐานะนักฝัน รัฐประหารจะต้องจบในรุ่นผม ไม่ส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลาน การอภิวัฒน์สยามที่ผ่านมา เป็นการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของรัฐจากไพร่เป็นพลเมือง ดังนั้นอุปสรรคคือคนที่ขัดขวาง เอาสิทธิพลเมืองออกจากประชาชนโดยอภิสิทธิ์ชนกลุ่มน้อย ที่ครอบทรัพย์สินอำนาจไม่ให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก ไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เพราะ อำนาจที่อยู่ในมือคนกลุ่มน้อยที่ใช้กองทัพ ไม่ว่าวาทกรรมคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ปัญหาพัฒนาประชาธิปไตยและนักการเมือง แต่เป็นที่ไม่มีใครพูดถึงคือ สิ่งที่เป็นอุปสรรค คือประชาธิปไตยไม่ได้รับโอกาสเติบโต ประชาชนไม่ได้ลิ้มลองตรงนี้ต่างหากเป็นอุปสรรค

 

“เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีใครลุกขึ้นสานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ เปลี่ยนความสัมพันธ์รัฐจากไพร่สู่พลเมือง ยุติรัฐประหารครั้งสุดท้าย พรรคอนาคตใหม่ขอรับภารกิจนี้ และสิ่งที่ใครพูดอะไรกับทหาร รัฐประหาร ฟังไว้แล้วดูสิ่งที่ทำหลังการเลือกตั้ง”

 

สมบัติ บุญงามอนงค์: พรรคเกียน

 

“ผมมองว่าประชาธิปไตยเป็นด้านหนึ่งของเหรียญและอีกด้านคือเผด็จการ ดังนั้นเวลาให้คะแนน ก็ต้องให้คะแนนเผด็จการด้วยว่าได้เท่าไร ผมให้คะแนนประชาธิปไตยที่ 7 คะแนน ส่วนคะแนนที่สูงที่สุด ปัจจัยหนึ่งคือให้กับประชาชนที่เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ต่อให้ผู้นำไม่ได้มาจากประชาธิปไตย

 

“ลองคิดดู ประเทศที่ปกครองด้วยทหาร ใช้อำนาจ ม.44 ที่สถานะสูงกว่ากฎหมายปกติ แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังจัดกิจกรรมที่ระลึกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย สิ่งเหล่านั้นยืนยันว่าในอนาคตจะสถาปนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

 

“อีกตัวแปรคือผู้นำที่คัดค้านการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งพรรคการเมือง สิ่งนี้เห็นว่าขนาดคนที่ไม่เอาการเลือกตั้งก็ยังต้องร่วมเลือกตั้ง ดัชนีนี้ชี้ว่า ท้ายที่สุด ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบหลักแต่มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง”

 

Photo: ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X