จากที่เคยปลุกเร้าเพื่อนร่วมชาติญี่ปุ่นให้ฮึดสู้บรรดาคู่แข่งระดับไอดอลเบสบอลอย่างสหรัฐอเมริกา จนคว้าแชมป์โลกเบสบอลเมื่อต้นปีก่อนมาครอง กระแสความนิยมที่คนในชาติมีต่อ โชเฮ โอห์ตานิ ยังพุ่งทะยานจนกลายเป็นวาระแห่งชาติก็ว่าได้
หนึ่งในเป้าหมายชีวิตที่โอห์ตานิเคยเขียนเอาไว้ขณะยังเรียนมัธยมก็คือ เมื่ออายุ 26 ปีได้แชมป์เวิลด์ซีรีส์และแต่งงาน
แม้จะมาช้า แต่ด้วยความมานะ
โอห์ตานิวัย 30 ปีเคยจมอยู่กับแอลเอ แองเจิ้ลส์ นาน 6 ปี กระทั่งหมดสัญญาก็ตัดสินใจย้ายทีมรับค่าจ้างประวัติศาสตร์โลก 10 ปี 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,800 ล้านบาท) ซึ่งก็เห็นผลทันควัน ทั้งเข้าเพลย์ออฟหนแรกในอาชีพ และกลายเป็นแชมป์เวิลด์ซีรีส์กับแอลเอ ด็อดเจอร์ส ด้วยการสยบมหาอำนาจทีมจากฝั่งตะวันออก นิว ยอร์ค แยงกี้ส์ 4-1 เกม เพียง 9 เดือนหลังจากเพิ่งประกาศการครองคู่กับ มามิโกะ ทานากะ อดีตนักบาสเกตบอลทีมชาติ
“ผมมีความสุขอย่างมาก นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกทั้งหมด” โอห์ตานิกล่าวหลังคว้าแชมป์ที่แยงกีส์ สเตเดียม
“การย้ายสู่ทีมใหม่และตอนนี้ก็ลงเอยด้วยบทสรุปยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันคือปีที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว”
เบสบอลอาจเป็นกีฬาแห่งชาติของแดนอาทิตย์อุทัยก็จริง แต่เด็กรุ่นใหม่เริ่มหันไปสนใจซอกเกอร์กันมากขึ้น
กระแสของโอห์ตานิกลับจุดประกายและสร้างความหวังให้ผู้คนทุกเพศทุกวัย
ชิเงรุ ฮิโรซากิ ที่ปรึกษาธุรกิจวัย 53 ปี นั่งลุ้นเกม 5 อยู่ที่ชิบูย่า กล่าวว่า “ผมต้องแสดงความยินดีกับเขาด้วย ขอบคุณมากที่สานฝันของคุณให้กับญี่ปุ่น ช่วงหลังเรากำลังเป็นชาติที่ถดถอย แต่การได้เห็นเด็กหนุ่มญี่ปุ่นเช่นเขาประสบความสำเร็จระดับโลก มันก็คือความฝันสำหรับคนแก่ๆ อย่างพวกเรา”
ชาวญี่ปุ่นโหยหาฮีโร่ระดับชาติมายาวนาน เมื่อปี 2003 สื่อใหญ่ๆ ต่างเขียนถึงวงการซูโม่ที่สูญเสียแชมป์ระดับโยโกสุนะ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นแท้ๆ โดยชาวต่างชาติเข้ามายึดครองวงการ
ตำนานมองโกเลียอย่าง อาซาโชริว และ ฮาคูโฮะ ครอบงำซูโม่อยู่เป็นทศวรรษ กว่าที่ชาวญี่ปุ่นแท้ๆ จะกลับมาลืมตาอ้าปากได้บ้าง
ตอนนั้นไม่มีใครนึกว่าเบสบอลที่พวกเขาชื่นชอบจะมีผู้เล่นญี่ปุ่นที่ผงาดขึ้นมาได้ เหมือนที่โอห์ตานิทำโดยตลอด 1 ปีครึ่ง
รอเบิร์ต วิตทิ่ง คนเขียนเรื่องเบสบอลของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุค 70 และหนังสือประวัติ อิชิโร่ ซูซูกิ หนึ่งในตำนาน Major League Baseball (MLB) ชาวญี่ปุ่น ชื่นชมโอห์ตานินอกจากเรื่องบุคลิกเรียบง่ายและนิสัยใจบุญ
“เคยมีเสียงวิจารณ์ผู้เล่นเบสบอลชาวญี่ปุ่นว่า ฝีมืออาจจะดี มีพื้นฐานแน่น แต่ไม่มีรูปร่างและความแข็งแกร่งเทียบเท่าผู้เล่นอเมริกัน แต่โอห์ตานิกลับตัวใหญ่กว่าผู้เล่นอเมริกันส่วนใหญ่เสียอีก เขาตีโฮมรันไกลกว่าและขว้างบอลได้แรงกว่าพวกนั้น เขาทำให้ชาวญี่ปุ่นรู้สึกภาคภูมิใจ”
ถึงแม้โอห์ตานิจะโชคร้าย ไหล่หลุดระหว่างแข่งเกม 2 แต่ก็ยังประคองตัวลงสู้จนจบซีรีส์ และเตรียมคว้ารางวัล MVP ระดับประวัติศาสตร์หนที่ 3 ในอาชีพ เขายังพักฟื้น ไม่สามารถขว้างลูกได้ตลอดซีซัน แต่ก็ทดแทนด้วยผลงานดีที่สุดในอาชีพ ทั้งการตีโฮมรัน 54 ครั้ง และขโมยเบสอีก 59 ครั้ง ถือเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ MLB ที่มาถึงสถิติ 50/50
ลูกโฮมรันที่ 50 ในซีซันนี้ของโอห์ตานิได้รับการประมูลไปด้วยราคา 4.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 149 ล้านบาท) ไม่เคยมีบอลในกีฬาประเภทไหนแพงขนาดนี้มาก่อน ที่น่าแปลกใจก็คือผู้ชนะกลับเป็นบริษัทลงทุนจากไต้หวันที่ตัดหน้าคู่แข่งอย่างญี่ปุ่นได้สำเร็จ
แต่แฟนชาวญี่ปุ่นก็ซื้อตั๋วดูเวิลด์ซีรีส์ 2 เกมแรกที่ลอสแอนเจลิสมากกว่าชาติอื่นๆ ในโลก นอกเหนือจากสหรัฐฯ
กระแสโอห์ตานิเข้าสู่เวิลด์ซีรีส์ ทำเอาการ์ตูนดังระดับโลกอย่าง One Piece ต้องเลื่อนการฉายออกไปเป็นสัปดาห์เพื่อไม่ให้ชนกัน ร้านขายเสื้อกีฬาในโตเกียวมีแต่สินค้าของโอห์ตานิอัดแน่น ทั้งหมวก เสื้อยืด และของเล่น คาเครุ วาตานะเบะ ผู้จัดการร้านกล่าวว่า “เกินครึ่งของสินค้าที่นี่เป็นของโอห์ตานิ และยอดขายที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วยิ่งสูงกว่าอีก”
ทัตซึโอะ ชินเกะ ซีอีโอของ Mint ร้านขายเทรดดิ้งการ์ดชั้นนำในโตเกียวกล่าวว่า ความนิยมของโอห์ตานิทำให้เรตติ้ง MLB ในประเทศพุ่งทะยาน ข่าวเบสบอลดังไปทั่วทุกมุมถนน
เขายกตัวอย่างข้อมูลที่เห็นชัดสุดก็คือเอมิโกะ แม่ของเขาในวัย 73 ปี
“เธอไม่เคยดูเบสบอลมาก่อน แต่เพราะด็อดเจอร์สของโอห์ตานิลงแข่งแล้วมีถ่ายทอดสดช่วงเช้าของญี่ปุ่น กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของเธอไปโดยปริยาย ตื่นนอน กินมื้อเช้า แล้วก็นั่งดูโอห์ตานิ
“คนแก่ๆ ในญี่ปุ่นรักโอห์ตานิ” ชินเกะเล่า “อย่างแม่ผมไปถึงเพื่อนๆ แม่ พวกเธอรีไทร์แล้วจึงมีเวลานั่งดูทุกเกมตอนเช้า”
เด็กหนุ่มวัย 23 ปีอย่าง โฮตารุ ชิโรมิโซะ ก็เช่นกัน โดยกล่าวว่า “เขาคือผู้เล่นระดับตำนาน ไม่ใช่แค่เป็นผู้เล่นที่เก่ง แรงบันดาลใจและความสำเร็จของเขามีผลในแง่บวกกับชาวญี่ปุ่นทุกคน เด็กๆ ทั้งหมดอยากเป็นเหมือนโอห์ตานิ”
วิตทิ่งเสริมว่า “ไม่น่าจะมีคนในญี่ปุ่นที่ไม่รู้จักโอห์ตานิ”
ตอนที่ด็อดเจอร์สปราบซาน ดีเอโก้ พาเดรส์ ในเกม 5 ของรอบรองชนะเลิศ ซึ่งยังเป็นการดวลกันของ ยู ดาร์วิช อดีตตัวขว้างชื่อดังชาวญี่ปุ่น และ โยชิโนบุ ยามาโมโตะ เพื่อนร่วมทีมของโอห์ตานิ คนดูเกมดังกล่าวที่ญี่ปุ่น 12.9 ล้านราย ทั้งๆ ที่ถ่ายทอดสดในวันเสาร์ เวลา 09.00 น. มากกว่าคนดูทั้งสหรัฐฯ เสียอีก
2 เกมแรกของเวิลด์ซีรีส์ยอดคนดูยิ่งน่าทึ่ง เพิ่มเป็นเฉลี่ย 15.15 ล้านราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของญี่ปุ่น และเรตติ้งสูงกว่าในสหรัฐฯ
“คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจแปนซีรีส์ (ชิงแชมป์ลีกญี่ปุ่น) กำลังแข่งตอนนี้” เจสัน คอสเครย์ นักข่าวกีฬาของ The Japan Times ตั้งแต่ปี 2017 กล่าว
ตอนที่ ราห์ม เอมานูเอล ทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นแถลงข่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อต้นซีซัน เขายังบอกนักข่าวว่า ไม่ขอพูดในแบบนักการทูต แต่ในฐานะ ‘เด็กจากชิคาโก’ ที่เคยดู ไมเคิ่ล จอร์แดน ครองความยิ่งใหญ่เมื่อยุค 1990 และเปลี่ยนแปลงวงการเบสบอล
“นี่คือการเริ่มต้นอาชีพของโอห์ตานิเท่านั้น แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั่นคือสิ่งที่เขากำลังทำ”
เสียงเชียร์ โชเฮ! โชเฮ! โชเฮ! ดังลั่นอยู่ที่สปอร์ตบาร์ในชิบูย่า เมื่อเห็นขวัญใจคนทั้งชาติลงมาประจำเพลต
“ฟอร์มของโอห์ตานิสุดยอดมาก” เรียวสึเกะ มัตซึโมโตะ วัย 22 ปี หนึ่งในกองเชียร์ที่สปอร์ตบาร์กล่าว “ผมมีความสุขมากๆ ที่เห็นผู้เล่นญี่ปุ่นทำผลงานดีใน MLB ทำให้ผมกลายเป็นแฟน ผมภูมิใจกับเขา”
นับตั้งแต่ ฮอเรซ วิลสัน ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เป็นที่ปรึกษาด้านต่างประเทศเมื่อปี 1872 หรือเพียง 4 ปีหลังเหตุการณ์ปฏิวัติรูปเมจิ (Meiji Restoration) ซึ่งเป็นการโค่นล้มระบอบโชกุนและชนชั้นนักรบที่ปกครองญี่ปุ่นมานานหลายร้อยปี เพื่อคืนพระราชอำนาจกลับไปยังจักรพรรดิ
บทบาทของเขาคือครูสอนภาษาอังกฤษให้กับสถาบันเคเซ ซึ่งกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยโตเกียวในภายหลัง วิลสันมองว่านักเรียนของเขาควรมีกิจกรรมออกกำลังกายมากขึ้น จึงแนะนำให้รู้จักกับกีฬาเบสบอล
ปี 1896 โรงเรียนมัธยมอิชิโกะ ซึ่งหลายคนมาจากครอบครัวซามูไร เอาชนะทีมกีฬาสหรัฐฯ จากสโมสรโยโกฮาม่า คันทรี่ แอนด์ แอธเลติก 29-4 กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับฮีโร่ของประเทศ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนญี่ปุ่น ซึ่งโดดเดี่ยวตัวเองมาเป็นศตวรรษ ว่าสามารถต่อสู้กับชาติตะวันตกที่ล้ำสมัยกว่า เพิ่มกระแสนิยมของเบสบอลให้สูงขึ้น
ปี 1908 ทีมอาชีพจากสหรัฐฯ เดินทางไปทัวร์ญี่ปุ่น ลงแข่งกับทีมสมัครเล่น
ปี 1920 ญี่ปุ่นเริ่มมีทีมอาชีพเบสบอล 2 ทีม
ปี 1950 Nippon Professional Baseball (NPB) ก่อร่างสร้างลีก จนกลายเป็นลีกแข็งแกร่งที่สุดอันดับ 2 ของโลก ต่อจาก MLB ของสหรัฐฯ
นั่นคือแหล่งผลิตตำนานเบสบอลญี่ปุ่นมากมายให้มาโด่งดังในสหรัฐฯ
ฮิเดโอะ โนโมะ ยอดพิตเชอร์ คือคนแรกที่ได้รับเครดิตว่าเป็นผู้เริ่มกรุยทางให้น้องๆ เมื่อยุค 90 เพราะความเก่งกาจจนเป็นกระแส (มาซาโนริ มุราคามิ เป็นคนแรกที่แข่ง MLB ในยุค 60)
วันที่โนโมะเปิดตัวกับด็อดเจอร์สในปี 1995 สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นกำลังมีปัญหาเรื่องการค้า
The Asahi Shimbun หนึ่งในสื่อใหญ่ของชาติลงข่าวใหญ่ว่า “สำหรับโนโมะแล้ว คนญี่ปุ่นได้สร้างผลผลิตที่ไม่มีใครสามารถตำหนิได้”
ล่วงเลยมาถึง อิชิโร่ ซูซูกิ, ฮิเดกิ มัตซูอิ หรือกระทั่งดาร์วิช ต่างเก่งกาจมีชื่อเสียงโด่งดัง
แต่โอห์ตานิยกระดับมาอีกขั้นจนอาจเหนือกว่าผู้บุกเบิกเช่นโนโมะด้วยซ้ำ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำของญี่ปุ่น
“ในตลาดโลกปัจจุบันมูลค่าของญี่ปุ่นและความมีอำนาจค่อยๆ อ่อนแอลงมาทุกปี” โทโมกิ เนกิชิ ผู้อำนวยการด้านการตลาด Baseball Pacific League ของญี่ปุ่น แสดงความเห็น “ดังนั้นฟอร์มอันสุดยอดของโอห์ตานิจึงมีค่ามาก เขาคือซูเปอร์ฮีโร่อย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน”
มาซาโนริ นิโนมิยะ วัย 59 ปี เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งในโตเกียว เคยไปเรียนที่ UCLA ในยุค 90 สมัยที่โนโมะโด่งดัง เขาเป็นอีกคนที่มีกิจวัตรตื่นนอน กินมื้อเช้า แล้วก็นั่งดูโอห์ตานิ
ช่อง NHK ในญี่ปุ่นถ่ายทอดสดการแข่งขันของด็อดเจอร์สฟรีทั่วประเทศ ซึ่งตลาดคนดูช่องนี้โน้มเอียงไปทางผู้สูงวัย โดยเฉพาะตอนเช้า
แต่ไม่ได้หมายความว่าคนวัยทำงานจะไม่สนใจเบสบอล อย่างน้อยพวกเขาก็อยู่หน้าคอมพิวเตอร์และคลิกดู Box Scores เพื่อลุ้นผลแข่งไปด้วย
นิโนมิยะตามดูโอห์ตานิตั้งแต่เป็นดาวดัง ฮอกไกโด นิปป้อน-แฮม ไฟเตอร์ส และพอย้ายไปอยู่ทีมแองเจิ้ลส์ในปี 2018 กิจวัตรดูเบสบอลตอนเช้าก็เริ่มต้นขึ้น เขาบอกว่า คนญี่ปุ่นยังชื่นชมนิสัยของโอห์ตานิ “ยกตัวอย่าง เวลาเห็นขยะตกบนพื้น เขาก็ยังพยายามจะเก็บขึ้นมาอีก แม้เขาจะเป็นซูเปอร์สตาร์และมีเงินมากมาย”
โอห์ตานิเปรียบเหมือนตัวแทนภาพลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น ทั้งอ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพผู้อาวุโสกว่า
นิโนมิยะยังเสริมว่า “เด็กๆ หลายคนอาจไม่รู้ชื่อนายกรัฐมนตรีของเรา (ชิเงรุ อิชิบะ) ด้วยซ้ำ (ชิเงรุ อิชิบะ) แต่เด็กประถมและมัธยมทุกคนรู้จักโอห์ตานิ”
เจฟฟรี่ย์ เจฟ.ฮอลล์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคันดะ ยกย่องโอห์ตานิว่ามีระดับความดังในญี่ปุ่นมากกว่า เทย์เลอร์ สวิฟท์ ดังที่สหรัฐฯ ด้วยซ้ำ
“โอห์ตานิคือฮีโร่ระดับชาติในญี่ปุ่น โด่งดังกว่านักการเมือง นักธุรกิจ หรือดาราคนไหนๆ ไม่เคยมีนักกีฬาญี่ปุ่นคนใดอยู่ในระดับนี้มาก่อน เขาคือตัวแทนความสำเร็จของญี่ปุ่นบนเวทีนานาชาติ”
ฮอลล์อธิบายว่า ชาวญี่ปุ่นมองว่าด็อดเจอร์สเหมือนทีมญี่ปุ่นไปโดยปริยาย “ชัยชนะของด็อดเจอร์สได้รับการมองว่าเหมือนเป็นชัยชนะของเบสบอลญี่ปุ่นและชาติญี่ปุ่น”
รวมทั้งจังหวัดอิวาเตะ บ้านเกิดของโอห์ตานิ ซึ่งชาวเมืองต่างรวมตัวกันเชียร์เบสบอลตั้งแต่ตอนเช้าตลอดสัปดาห์ และทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษออกมาราว 38,000 ฉบับ
จุน คุรานาริ นายกเทศมนตรีเมืองโอชู ซึ่งโอห์ตานิเกิดและเติบโต ชื่นชมความอ่อนน้อมถ่อมตนแม้จะมีความเก่งกาจ “เขาคือต้นแบบให้ทุกคนและทำให้ชาวบ้านที่นี่ภูมิใจมาก”
แม้แต่วิตทิ่งยังแอบนินทา มิชิโกะ คอนโดะ ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสหประชาชาติ หลายทศวรรษแล้วที่เธอไม่เคยสนใจใดๆ เกี่ยวกับเบสบอล ทั้งๆ ที่วิตทิ่งทำงานด้านนี้โดยตรง กระทั่งการมาถึงของโอห์ตานิ
“ผมเขียนหนังสือเบสบอลออกมาหลายเล่ม ขายดีด้วยซ้ำ แต่ไม่มีความหมายอะไรสำหรับเธอ แต่พอตอนนี้กับโอห์ตานิ เธอเริ่มต้นถามแล้วว่า วันนี้โอห์ตานิตีโฮมรันได้บ้างไหม”
เจฟฟรี่ย์ คิงสตั้น อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทมเพิลในญี่ปุ่น ก็แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า ความเป็นโอห์ตานิทำให้คนไม่เคยแคร์เบสบอลยังต้องสนใจ
มาจิโกะ โอซาวะ ภรรยาของเขา เป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสตรี และไม่ได้เป็นแฟนเบสบอล ยอมรับว่า “สมัยยังเด็กๆ มันมีช่องว่างระหว่างผู้เล่นอเมริกันกับผู้เล่นญี่ปุ่น ซึ่งตัวเตี้ยกว่า สู้ด้วยไม่ไหว แต่ตอนนี้โอห์ตานิได้เปลี่ยนภาพพจน์ผู้เล่นเบสบอลชาวญี่ปุ่น เขาตัวสูงใหญ่ มีความฟิต และเป็นซูเปอร์สตาร์”
MLB ซีซันหน้าที่กรุงโตเกียวจะเปิดฤดูกาลด้วยการส่งด็อดเจอร์ส ทีมแชมป์ล่าสุดไปดวลกับชิคาโก้ คับส์ ซึ่งก็มีทั้ง โชตะ อิมานะกะ ตัวขว้างมือซ้าย และตัวตีอย่าง เซยะ ซูซูกิ