×

รัฐบาลย้ำ เกาะกูดเป็นของไทย แจงยิบ MOU 44 ชี้ขอยกเลิกเท่ากับไม่รักษาเขตแดน อนุทินลงพื้นที่ต้นสัปดาห์หน้า

โดย THE STANDARD TEAM
05.11.2024
  • LOADING...
MOU 44

วานนี้ (4 พฤศจิกายน) เวลา 09.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา เพื่อหารือกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ MOU 44 ของทั้ง 2 ประเทศว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้เมื่อไร โดยระบุว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพิจารณา 

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการเดิมมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน, ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคณะกรรมการชุดใหม่ก็ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณา แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียด

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า หากยกเลิก MOU 44 ไทยอาจเสียประโยชน์มากกว่า ภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่อง MOU 44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ตอนนั้นฝรั่งเศสขอพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และยกฝั่งจังหวัดตราดและเกาะต่างๆ ให้ไทย ดังนั้นเกาะกูดหากยึดตามสนธิสัญญาดังกล่าว การแบ่งเส้นเขตแดนจึงเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง

 

ขณะเดียวกันกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ รวมถึงยอมรับในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้นการนำมาเป็นประเด็นว่าจะยกเกาะกูดให้จึงไม่เป็นจริง และไม่เกี่ยวกับ MOU ดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่าเราจะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไปและจะรักษาไว้เท่าชีวิต ซึ่งขณะนี้เรามีหน่วยงานราชการต่างๆ อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ยุติเรื่องนี้เพราะเป็นคำพูดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

 

ภูมิธรรมชี้แจงเพิ่มเติมว่า MOU 44 เกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ซึ่งปี 2515 กัมพูชาประกาศมาใกล้เขตแดนไทย และปี 2516 เราก็ประกาศไปใกล้เขตแดนเขา ดังนั้นจึงมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ และพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวก็เป็นเรื่องของ MOU ที่บอกว่าในโลกทั้งหมดไม่ว่าใครที่มีพื้นที่ทับซ้อนจะต้องเจรจา ดังนั้น MOU 44 จึงเป็นข้อตกลงที่ให้ไปเจรจากันว่าการแบ่งดินแดนในทะเลจะเป็นของใคร หากเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่สับสนแล้วมาตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้นไทยกับกัมพูชาจึงต้องเจรจากัน เพราะหากไทยยกเลิกตรงนี้ก็เท่ากับว่าไทยไม่รักษาสิทธิในเขตแดน

 

ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ยกเลิก MOU 44 เพราะมีแรงกดดันทั้งประเด็นปราสาทพระวิหารและเรื่องชายแดนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้แค่รับหลักการไปดูรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศก็ขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่า MOU 44 เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเจรจา 

 

ทั้งนี้ ที่บอกว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ยกเลิกนั้นไม่จริง และในปี 2557 สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ดำเนินการต่อโดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรีกำกับด้านความมั่นคง ไปเจรจาเรื่อง MOU 44 ดังนั้นมองว่าไม่ว่าส่วนใดหรือพรรคการเมืองใดพูดเรื่องนี้ ควรกลับไปดูประวัติศาสตร์และข้อตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศส อย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และหากถามนอกเหนือจากกรอบดังกล่าวก็คงต้องหาคำตอบกันเอง และสำหรับประเด็นนี้ตนจะไม่ตอบอีกแล้ว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองกรณีกลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐออกมาโจมตีเรื่องนี้ ทั้งที่ปี 2557 พล.อ. ประวิตร เป็นประธานเจรจาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ภูมิธรรมกล่าวว่า กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปดูว่าหัวหน้าพรรคไปเจรจา MOU 44 ทั้งหมดเหมือนกัน ถ้าถามแบบนี้พรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเองว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะสายสัมพันธ์ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับผู้นำกัมพูชาหรือไม่ ที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีในรัฐบาลนี้ ภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีประเด็นไหนก็ต้องไปถามเหตุผลเขา แต่ตนคิดว่าควรยืนยันข้อเท็จจริง และหากถามมาก็ทำให้ภายในแตกแยก วันนี้ต้องไปดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลักการเจรจาแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเลรัฐบาลนี้จะแบ่งเท่ากันหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปคุยตรงนั้นเลย เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น ถึงเวลาเราใช้กฎหมายทางทะเลและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นตัวดำเนินการ

 

อนุทินลงพื้นที่เกาะกูดสัปดาห์หน้า

 

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เตรียมจะลงพื้นที่อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า หลังจากที่เกิดประเด็นขึ้น โดยจะไปให้กำลังใจชาวบ้าน และถือโอกาสไปตรวจราชการในพื้นที่ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน 

 

อย่าเอาการเมืองมาเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ 

 

ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดขึ้นวานนี้ว่า หลักๆ พูดคุยเรื่อง MOU 44 ขอให้ประชาชนสบายใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับเกาะกูดตั้งแต่แรก ประเทศไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูดเลย 

 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนของใครก็แล้วแต่ ไม่มีเรื่องเกาะกูดเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถตัดทิ้งไปได้ เพราะไม่ได้อยู่ในข้อกังวลของ MOU 44 ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้มาตรการการลากเส้นเขตแดนคนละแนวคิด จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา และพื้นที่ทับซ้อนก็มีทรัพยากรใต้ดินเกี่ยวกับปิโตรเลียมจึงมีการพูดคุย และขอยืนยันว่าไม่ใช่ข้อขัดแย้ง เพียงแต่เห็นไม่ตรงกันจึงต้องมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค 

 

วราวุธกล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามี JTC และร่วมหารือกับกัมพูชามาโดยตลอด แต่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจาก เศรษฐา ทวีสิน มาเป็น แพทองธาร ชินวัตร ต้องตั้ง JTC ฝั่งไทยขึ้นมาใหม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และขอฝากประชาชนอย่าเอาประเด็นการเมืองมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ มันหนักหนาสากรรจ์และเป็นคนละประเด็น การทำงานระหว่างไทยและกัมพูชายังมีการพูดคุยเพื่อให้เกิดข้อตกลงโดยเร็วที่สุด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรืออธิปไตยของเกาะกูดแต่อย่างใด เพราะเกาะกูดยังเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดตราด และไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ จากฝ่ายกัมพูชา

 

วราวุธกล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา ยังต้องเจรจากันต่อ ไม่ใช่ว่าเราเสียเปรียบ ยืนยันว่าไม่มีประเทศใดได้เปรียบทั้งนั้น

 

ห่วงไทยเสียผลประโยชน์

 

ขณะที่ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวอีกว่า จุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อเรื่องการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น ภาพใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เรารักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุดอยู่แล้ว ต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยไปเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ 

 

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ซึ่งได้รับคำยืนยันในที่ประชุมพรรคร่วม ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาแบบไหนจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนสิ่งที่คนกังวลคือเรื่องเกาะกูดก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะยกเลิก MOU 44 เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย เป็นจุดยืนของพรรคร่วมทั้งหมด 

 

ส่วน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะต้องเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยหรือไม่นั้น เอกนัฏกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่จะนั่งเป็นคณะกรรมการ ทราบเพียงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการเดินหน้าต่อจากมติคณะรัฐมนตรีปี 2557 และรัฐบาลทุกยุคก็ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อไปเจรจากับกัมพูชา ส่วนผลการเจรจาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

 

เอกนัฏกล่าวอีกว่า หลังประชุมพรรคร่วมตนเองโทรศัพท์หาพีระพันธุ์ สิ่งที่พีระพันธุ์ให้ความสำคัญคือเรื่องเขตแดน เนื่องจากเป็นนักกฎหมายจึงจะไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม ทั้งในตัว MOU 44 และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะ MOU 44 เดิมทีเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคง 

 

ในส่วนของกระทรวงพลังงานเป็นเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วม ซึ่งพีระพันธุ์ระบุว่า ในส่วนนี้ต้องดูให้ดี คำว่าผลประโยชน์ร่วมทุกฝ่ายก็อยากได้ ทำอย่างไรจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด 

 

นอกจากนี้ พีระพันธุ์ยังมีความกังวล เพราะเดิมทีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีการให้สัมปทานไปก่อนหน้านี้ จึงกำลังศึกษาอยู่ว่าหากเป็นไปแบบนั้นจริงประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องเขตแดนของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่บนเกาะกูดเท่านั้น 

 

แต่ในทางกฎหมายยังรวมถึงพื้นที่ในทะเลหรือพื้นที่สิทธิประโยชน์ทางทะเล ถ้าเรายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่องก็ต้องเป็นของไทยด้วย ซึ่งเป็นที่มาที่ไทยประกาศพื้นที่ไหล่ทวีปเมื่อปี 2516 ไทยก็ต้องรักษาเขตแดนของเรา ส่วนการเจรจาผลประโยชน์ร่วมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเช่นกัน 

 

“ยังไม่ถึงกับว่าท่านพีระพันธุ์ไม่สบายใจเรื่องนี้ เพียงแต่สไตล์การทำงานของท่านต้องศึกษาให้เกิดความละเอียดในทุกเรื่องจนกว่าท่านจะมั่นใจ เพราะมันเป็นเรื่องข้อกฎหมาย มีกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และทำกันมา 20-30 ปีแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว ต้องทำให้รอบคอบ อย่าให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ ต้องไปดูว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่” เอกนัฏกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X