×

กต. แจงปม MOU 2544 ชี้แค่ข้อตกลงกำหนดกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ยืนยันไทยไม่เสียเกาะกูด

04.11.2024
  • LOADING...
MOU 2544

วันนี้ (4 พฤศจิกายน) กระทรวงการต่างประเทศเชิญสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศรับฟังการบรรยายสรุปข้อมูลและสถานะล่าสุด เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา โดย นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ร่วมให้ข้อมูล

 

อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายอธิบายถึงเขตทางทะเลประเภทต่างๆ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 รวมทั้งชี้แจงที่มาของ OCA ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งไทยและกัมพูชา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หรือที่เรียกกันว่า MOU 2544

 

ขณะที่อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายชี้แจงว่า MOU 2544 เป็นความตกลงกำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างกัน โดยมิได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิทางทะเลของอีกฝ่ายแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันต่อไป

 

MOU 2544 ระบุให้ดำเนินการทั้งในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมไปพร้อมกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือกันบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งกลไกหลักของการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ภายใต้ MOU 2544 คือคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน 

 

สำหรับแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหา OCA ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นสอดคล้องกัน ทั้งในระดับนโยบายและระดับเทคนิค ได้แก่

 

  1. ประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องยอมรับข้อตกลงได้
  2. จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้งสองประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบ 
  3. ข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

โดยปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งองค์ประกอบ JTC (ฝ่ายไทย) โดยเมื่อทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งองค์ประกอบ JTC เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของไทยจะเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ หลังจากนั้นจะทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา รวมถึงแต่งตั้งกลไกย่อยต่างๆ ต่อไป

 

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายยังตอบคำถามสื่อมวลชน โดยยืนยันว่า MOU 2544 จะไม่ทำให้ไทยเสียเกาะกูด เพราะในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญและยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ 

 

“มีความชัดเจนอยู่แล้วในอดีตถึงปัจจุบัน เราใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ 100%” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกล่าว

 

ส่วนคำถามว่า MOU 2544 ขัดพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปหรือไม่ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายยืนยันว่า การดำเนินการตาม MOU 2544 สอดคล้องกับข้อความที่อยู่ในพระบรมราชโองการตามหลักเขตและแผนที่ ซึ่งการประกาศนี้ก็ระบุไว้ตามจุดพิกัดต่างๆ อันเป็นการแสดงแนวทางโดยทั่วไปของเส้นที่กำหนดไหล่ทวีป โดยใช้พื้นฐานของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958 เป็นพื้นฐานการประกาศพระบรมราชโองการ 

 

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายยังยืนยันว่า MOU 2544 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชา โดยตามหลักสากลต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเคลม แต่ผูกพันเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อกฎหมายระหว่างประเทศ 

 

ส่วนประเด็นการเสนอให้ยกเลิก MOU 2544 เช่นเดียวกับที่เคยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2552 กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรีขณะนั้นรับในหลักการ แต่ขอให้พิจารณาให้รอบคอบและมีการหารือกับทีมที่ปรึกษาต่างชาติ ก่อนที่ปี 2557 จะได้ข้อสรุปว่า MOU 2544 ยังมีข้อดีมากกว่าข้อเสียที่จะสามารถนำไปสู่การเจรจา จึงเสนอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี

 

“หลังจากนั้นทุกครั้งที่มีรัฐบาลเข้ามาใหม่ กระทรวงการต่างประเทศก็จะเสนอให้ใช้กรอบการเจรจา MOU 2544 เป็นหลักพื้นฐาน ถือเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุดและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และทุกรัฐบาลก็ยอมรับว่านี่เป็นแนวทางที่น่าจะเหมาะสมว่า MOU 2544 จะเป็นแนวทางสร้างความโปร่งใส ซึ่งทุกครั้งที่มีการดำเนินงานก็จะรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกครั้ง”

 

ทั้งนี้ กรณีการสร้างเขื่อนกันคลื่นของกัมพูชากินพื้นที่เส้นที่ไทยเคลมไว้ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระบุว่า เขื่อนดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ทางทะเลที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่ OCA และมีเอกชนไปสร้างท่าเทียบเรือโดยถมดินในทะเลประมาณ 100 เมตรออกมาจากฝั่ง ซึ่งรัฐบาลไทยประท้วงไป 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2541, 2544 และ 2564 และผลของการประท้วงทำให้หยุดการก่อสร้าง โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของกองทัพเรือและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติอย่างใกล้ชิด

 

อ้างอิง: 

  • กระทรวงการต่างประเทศ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising